- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
หลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจแยกในเรื่องนี้ได้ดี ก็คือ เรื่อง ปาฏิหาริย์ ๓ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปาฏิหาริย์ คือ การกระทำให้เกิดผลอย่างอัศจรรย์นั้น มี ๓ อย่าง คือ1
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์ หรือแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น เดินน้ำ ดำดิน ล่องหน หายตัว เหาะเหิน บันดาลอะไรต่างๆ
๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการทายใจ หรือรู้ใจคนอื่นได้เป็นอัศจรรย์ รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไรต้องการจะทำอะไร เป็นต้น
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือคำสั่งสอน หรือสอนให้รู้เข้าใจและทำได้จริงเป็นอัศจรรย์ ชี้แจงอธิบาย ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญารู้ถึงความจริงได้ด้วยตนเอง
ปาฏิหาริย์ ๒ อย่างแรก คือ ฤทธิ์และการดักใจทายใจได้นั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ทรงสนับสนุน ทรงสรรเสริญแต่ปาฏิหาริย์ข้อที่ ๓ คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ฤทธิ์มีข้อเสียอย่างไร นอกจากที่เคยพูดมาแล้ว ขอสรุปให้ว่า
ฤทธิ์กำจัดกิเลสไม่ได้ ฤทธิ์ไม่ทำให้ความโลภ โกรธ หลง ลดน้อยลง ถ้าไม่ระวัง จะทำให้กิเลสฟูมากขึ้นด้วยซ้ำ
ฤทธิ์ไม่ทำให้รู้เข้าใจสัจธรรม คือไม่ทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงไม่สามารถทำใครให้เป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นพระอริยะชั้นใดๆ ได้
ในทางตรงข้าม อนุสาสนี คือคำสอนที่แสดงธรรม แสดงความจริง ทำให้คนเกิดปัญญา รู้ความจริง เข้าถึงสัจธรรมได้ ทำให้คนละกิเลสได้ ทำให้ผู้ฟังและนำไปปฏิบัติ บรรลุธรรม เป็นพระอริยะ เป็นพระอรหันต์ได้
คนมาดูเห็นฤทธิ์ เห็นความขลัง ก็ได้แต่ตื่นเต้นทันตา แต่ตัวเองไม่ได้อะไร ไม่มีอะไรพัฒนาขึ้นในตัว อาจจะงงงันที่ได้เห็นความอัศจรรย์ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยกลายเป็นมีโมหะมากขึ้น และตัวเองก็ทำสิ่งนั้นไม่ได้ เลยต้องเอาตัวไปฝากไปขึ้นกับผู้ที่ขลังมีฤทธิ์ เลยดีแก่ผู้แสดงฤทธิ์ ชาวบ้านที่ดู ยิ่งเชื่อ ก็ยิ่งหมดอิสรภาพในการกระทำของตัว
ตรงข้ามกับอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา รู้ความจริง ผู้สอนรู้อย่างไร ผู้ฟังเข้าใจ ก็รู้ได้อย่างนั้น และเอาความรู้นั้นไปทำอะไรให้เกิดผลด้วยตนเองได้
ผู้ฟังเป็นผู้ได้ คือได้ปัญญา และปัญญานั้นก็เป็นของของเขาเอง เขาจะไปไหน ปัญญาก็ไปด้วย ผู้ฟังก็เป็นอิสระ ไม่ต้องมาขึ้นต่อผู้สอน ไม่ต้องคอยรอพึ่งผู้สอนเรื่อยไป ไม่เหมือนอย่างพวกที่เชื่อฤทธิ์ เชื่อความขลัง ที่ตัวเองมืดมัว ต้องรอให้เขาบันดาลผลให้
อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์ กับคนพึ่งฤทธิ์ มักจะมาพบกันในระบบผลประโยชน์ โดยต่างก็ต้องการผลได้บางอย่างแก่ตน คนที่มาหาผู้มีฤทธิ์ ก็ต้องการโชคลาภจากความขลัง หรือการดลบันดาลของผู้มีฤทธิ์ ผู้แสดงฤทธิ์ ก็หวังลาภสักการะจากคนที่มาขอผล กลายเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกิเลส โดยเฉพาะการกระทำเพื่อสนองโลภะ
เมื่อเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาแทรกในการทำบุญทำทานในพระศาสนา ความวิปริตผิดเพี้ยนก็เกิดขึ้น ผู้ทำบุญหรือผู้บริจาค แทนที่จะบริจาคทรัพย์ให้ด้วยมองเห็นคุณประโยชน์ของสิ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์ ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจการพระศาสนา หรือช่วยให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมอย่างนั้นๆ ก็มองเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ที่ตนจะได้สิ่งตอบแทน คือมุ่งจะได้ของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น จึงเอาเงินมาบริจาคให้ ใจก็คิดแต่จะให้ได้ของนั้นตอบแทน โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้มีฤทธิ์หรือผู้จัดทำสิ่งขลังศักดิ์สิทธิ์ จะเอาเงินนั้นไปทำอะไรอย่างไร
ตามที่ว่านั้น จึงเป็นการผันแปรจากการทำบุญบริจาคด้วยปัญญาที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะส่งเสริม พร้อมกับการเสียสละละกิเลส และพัฒนาคุณธรรมขึ้นในใจของตน กลายเป็นการจ่ายเงินออกไปด้วยโลภะ ที่มุ่งจะเอาของตอบแทน ภายใต้ความปกคลุมของโมหะ ที่ไม่รู้ไม่คำนึงว่าอะไรเพื่ออะไร และจะเป็นไปอย่างไร
ผลร้ายที่สำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งของความไม่รู้หลักพระศาสนา ไม่รู้จักแยกระหว่างพระอริยะ กับผู้วิเศษ ไม่รู้ฐานะของความขลังศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าเป็นอย่างไร ในพระศาสนา นอกจากทำให้เขวออกไปจากตัวแท้ตัวจริงของพระศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเลือนรางลงไปแล้ว เพราะความไม่เข้าใจแยกว่าผู้วิเศษเป็นคนละอย่างกับพระอริยะ ไปฝากความเป็นพระอรหันต์ไว้กับความขลังศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พอผู้วิเศษซึ่งยังมีกิเลสปรากฏพฤติกรรมเสื่อมทราม ก็คร่ำครวญบ่นว่าพระที่สูงเลิศก็ยังเป็นถึงอย่างนี้ คงจะหาพระดีที่จะไหว้อีกไม่ได้
ตามที่ว่านั้น แท้จริงแล้ว จะต้องทบทวนพิจารณาตนเองใหม่ว่า พระดีไม่มีให้ไหว้ หรือคนไหว้นับถือผิด จึงมองไม่เห็นพระดีที่จะไหว้ และทำให้พระดีที่น่าไหว้ค่อยๆ ลดน้อยลงไปจากพระศาสนา
No Comments
Comments are closed.