- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน
ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
ขอย้อนหลังไปหน่อย ก็เป็นอันว่า เอาแค่พระโพธิสัตว์ก็เก่งแล้ว เราไม่ว่าถึงขั้นพระพุทธเจ้า เพราะเราก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำดีอย่างเป็นธรรมดาของเราเอง ถ้าจะทำได้บ้าง พอจะเรียกว่าเป็นการทำดีโดยธรรมชาติได้ในแง่หนึ่ง ก็คือทำด้วยการฝึกตัวเองมาจนชิน เป็นเรื่องติดตัว ไม่ใช่เป็นไปโดยธรรมดาแท้ๆ
ถ้าเราทำอะไรให้จริงจัง ฝึกทำอยู่เสมอ ก็จะสะสมติดตัวจนเรียกได้ว่าเป็นธรรมดาของเรา ในความหมายแบบของมนุษย์ปุถุชน
ฉะนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์ก็คือ ทำให้จริง ถ้าจะทำความดีอะไรแล้ว ทำให้จริง ทำให้เป็นลักษณะประจำตัว ทำให้เป็นนิสัย ทำให้เป็นวาสนา
เอาอีกแล้ว คำว่า “วาสนา” นี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันอีก แต่วันนี้จะไม่พูดยาว เดี๋ยวจะไปกันใหญ่
วาสนา นี่ มิใช่มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย วาสนานั้น ที่จริงคือ ลักษณะประจำตัวที่แต่ละคนได้สั่งสมอบรมมาจนเคยชิน เช่นเป็นคนที่มีท่าทางเดินอย่างนี้ มีท่วงทำนองพูดอย่างนี้ ชอบพูดคำอย่างนี้ มีความสนใจแบบนี้ อันนี้เรียกว่า “วาสนา”
วาสนา คือความเคยชินที่สั่งสมอบรมมาจนเป็นลักษณะประจำตัวนี้ เป็นตัวกำกับและกำหนดวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก ท่านจึงถือว่าวาสนาเป็นเรื่องสำคัญ
คนเรานี้ เมื่อมีลักษณะประจำตัวที่จะแสดงออกอย่างไรแล้ว ก็จะปรากฏแก่ผู้อื่น แล้วมีผลย้อนกลับต่อชีวิตของตัวเอง เช่น เรามีลักษณะการพูดจาอย่างนี้ ใช้ถ้อยคำอย่างนี้ คนอื่นได้เห็นท่าที ได้ยินคำพูดของเราอย่างนั้นแล้ว เขาก็จะมีท่าทีเป็นปฏิกิริยาตอบสนองย้อนกลับมา บางคนพูดแล้ว คนอื่นชอบฟัง บางคนพูดแล้ว คนอื่นอยากหนี บางคนพูดแล้วคนอื่นอยากตี
เดินก็เหมือนกัน บางคนเดิน คนอื่นชอบดู บางคนเดิน คนอื่นชื่นชมนับถือ บางคนเดิน คนอื่นระคายใจ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะทำอะไรก็ตาม ต่างคนก็ต่างกันไปหมด นี้เป็นวาสนา
วาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลอยมาจากฟากฟ้าที่ไหน วาสนาอยู่ที่ตัวเรานี้ แล้วมันก็กำหนดวิถีชีวิตของเรา
แต่ละคนมีวาสนาไม่เหมือนกัน เพราะสั่งสมอบรมมาไม่เหมือนกัน ทีนี้ ในการที่จะทำความดีให้ติดตัว จนกระทั่งเรารู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติของเรานั้น ก็คือทำจนเป็นวาสนา ต้องทำด้วยความจงใจคัดเลือกความดีที่จะทำ และทำให้จริงจัง ถ้าเราปล่อยเรื่อยเปื่อย เราก็จะได้วาสนาที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องตั้งใจว่า อะไรที่ดี ก็ตั้งใจฝึกทำให้สม่ำเสมอ ทำให้ชินไปเลย
โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกหลาน จะต้องระลึกไว้ว่า คนเรานี้จะอยู่ด้วยความเคยชินเป็นส่วนมาก กิริยามารยาท การวางตัว การพูดจาอะไรต่างๆ ที่เป็นลักษณะประจำตัวของแต่ละคนนั้น เริ่มต้นก็เกิดจากการทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วก็ทำอย่างนั้นๆ จนชิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้การกระทำอย่างใดเกิดขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ก็มักมีความโน้มเอียงที่จะทำอย่างนั้น เมื่อทำซ้ำอีก ต่อไปก็จะเคยชินอย่างนั้น และเมื่อชินแล้ว ก็จะแก้ยากที่สุด ฉะนั้นพ่อแม่จะต้องชิงให้ลูกได้ความเคยชินที่ดี แล้วเขาก็จะมีวาสนาที่ดี
พ่อแม่จึงควรต้องเอาใจใส่คอยใช้โอกาส ตั้งแต่เริ่มแรก ให้ลูกได้ความเคยชินต่างๆ ที่ดี ที่งาม เป็นวาสนาติดประจำตัวไป แล้วความเคยชินที่เป็นวาสนานั้น ก็จะเป็นโชคเป็นลาภของเขาในอนาคต เพราะฉะนั้น ความสำเร็จจึงอยู่ที่เราจะทำให้ความประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม กลายเป็นความเคยชินของเขา
เมื่อเราฝึกตัวเองให้ดี พยายามทำให้เคยชินในเรื่องนั้นๆ ต่อไปการกระทำหรือความประพฤติอย่างนั้นก็จะเป็นไปเองโดยเราไม่รู้สึกตัวเลย การทำจนชินเป็นวาสนาอย่างนี้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติหรือเป็นธรรมดาของเรา ก็พอได้ แต่ธรรมดาระดับนี้ ไม่ใช่ธรรมดาแบบพระพุทธเจ้า เป็นเพียงธรรมดาแบบเคยชิน
No Comments
Comments are closed.