สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ

23 มกราคม 2537
เป็นตอนที่ 6 จาก 24 ตอนของ

สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล
บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ

พระพุทธเจ้าต้องการให้เราเป็นอิสระ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพเสรีภาพ พุทธศาสนิกชนมีเสรีภาพในการใช้ปัญญา จนกระทั่งเป็นอิสระไม่ต้องขึ้นแม้ต่อองค์พระพุทธเจ้า

แต่ในด้านความสัมพันธ์ เรามีความเคารพอย่างสูงสุดทีเดียว เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีคุณความดี เป็นแบบอย่างแก่เรา เราเคารพในคุณความดี เพียงแค่พระองค์สอนมีเหตุผลน่าเชื่อ ทำให้เรามีศรัทธา เรายังเคารพมาก นี่พระองค์ทำให้เรามองเห็นความจริงด้วยตัวเอง จนไม่ต้องเชื่อ เราก็ยิ่งซาบซึ้งในพระคุณและเคารพเต็มที่

แม้แต่พระภิกษุ ที่เข้ามาบวชนี่ บางทีหลายท่านก็มีคุณความดีน้อยกว่าโยม โยมบางคนบรรลุธรรม เป็นพระอริยบุคคล เช่นเป็นพระโสดาบันเป็นต้น แต่พระที่เข้ามาใหม่เพิ่งบวชวันนั้น เป็นปุถุชน ยังไม่ค่อยมีความรู้อะไร คุณธรรมก็ยังน้อย แต่เราก็เคารพกราบไหว้ ทำไมเราจึงให้เกียรติเคารพนับถือ ก็เพราะการเป็นพระภิกษุนั้น เป็นการเข้าสู่วิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา เป็นชีวิตแห่งการศึกษาที่จะต้องฝึกอบรมพัฒนาตนอย่างจริงจังเต็มที่ เราถือว่าผู้บวชเป็นผู้ที่ยอมรับการฝึกและเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง ตั้งใจจะฝึกฝนศึกษาในคุณธรรม จะเดินเข้าสู่มรรค เป็นผู้ฝึกตน

ในพระพุทธศาสนานี้ เราให้ความยกย่องยอมรับนับถือแก่บุคคลที่ฝึกฝนพัฒนาตน เมื่อท่านยอมรับที่จะฝึกฝนพัฒนาตน เราก็ให้เกียรติ จึงกราบไหว้ได้ อย่างน้อยก็ยอมรับและสนับสนุน และลึกลงไปก็คือ เราเคารพธรรมที่ท่านปฏิบัติ

อีกอย่างหนึ่ง พระภิกษุนั้นได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของสงฆ์ เป็นตัวแทนของสถาบันที่ธำรงรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม เราเคารพธรรม เราจึงเคารพสงฆ์ที่รักษาธรรมนั้น และเคารพพระภิกษุที่เป็นองค์ประกอบและเป็นตัวแทนของสงฆ์ เราเคารพพระด้วยเหตุผลนี้ และกราบไหว้เพื่อเตือนใจท่านให้ระลึกตระหนักในหน้าที่ของท่านในการที่จะประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมและทำศาสนกิจสืบต่ออายุพระศาสนา รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคมต่อไป

เราไม่ได้นับถือพระสงฆ์ เพราะเห็นว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์เดช หรือเป็นผู้วิเศษ ที่จะมาดลบันดาลอะไรให้เรา อันนั้นเป็นความนับถือแบบลัทธิฤาษีโยคีนอกพระพุทธศาสนา มีมาแต่ก่อนพุทธกาล เป็นเรื่องของการนับถือผู้วิเศษ เหมือนคนเกรงกลัวผู้มีอำนาจ หรือผู้ยิ่งใหญ่มีอิทธิพล ไม่ใช่การนับถือแบบอริยะที่ถือธรรมเป็นหลัก

ในเมื่อพระอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวมอย่างนี้แล้ว ก็โยงเรามาสู่หลักการสำคัญอีกหลักหนึ่ง

เมื่อกี้นี้ได้หลักหนึ่งแล้ว คือที่ว่าให้ยึดหลักการ ถือหลักความจริง และการที่เข้าถึงความจริงแล้วเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อบุคคล

ทีนี้ก็มาถึงอีกหลักหนึ่งที่ว่า พระสงฆ์เป็นตัวแทนของสงฆ์ส่วนรวม เพราะฉะนั้น พระทุกองค์หรือภิกษุทุกรูปจะต้องโยงตัวเองเข้าไปหาสงฆ์ เคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นใหญ่ มุ่งประโยชน์แก่สงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ไม่ให้ความสำคัญมาอยู่ที่บุคคล พระพุทธเจ้าฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่สงฆ์ส่วนรวม มิได้ฝากไว้แก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง

เมื่อจะปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เราชาวพุทธต้องนึกคิดให้ดี เมื่ออยู่บนเตียงปรินิพพาน เรียกอย่างชาวบ้านว่า ตอนสั่งเสีย พระพุทธเจ้าตรัสอะไรบ้าง ชาวพุทธควรจะถือเป็นสำคัญ

ตอนที่จะปรินิพพานนั้น สิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัส ก็คือ เรื่องการฝากพระศาสนาไว้ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน คนทั้งหลายก็ต้องหวังแล้วว่า พระองค์จะตั้งใครเป็นศาสดาแทน ใครจะเป็นทายาทสืบต่อตำแหน่งพระศาสดาแทนพระองค์ แต่ถ้าคิดอย่างนั้น ก็ผิดหวัง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนั้นเลย ไม่ได้ทรงตั้งใครให้เป็นศาสดาแทนพระองค์

พระองค์ตรัสว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญญฺตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา” แปลว่า ดูกรอานนท์ ในเวลาที่เราล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัย ที่เราแสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

พระพุทธเจ้าให้ถือธรรมวินัย คือหลักธรรมและหลักวินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติไว้เป็นพระศาสดา เป็นมาตรฐานสืบต่อไป ไม่มีใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบตำแหน่งไว้แก่บุคคลเลย ให้มาตรฐานอยู่ที่ตัวหลักธรรมวินัย และผู้ที่จะรักษาธรรมวินัยนี้ไว้ ก็คือสงฆ์ส่วนรวม ไม่ใช่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะฉะนั้น พุทธพจน์นี้จึงมีความหมายทั้งให้ถือธรรมวินัยคือถือหลักการ และให้ถือสงฆ์คือส่วนรวมเป็นใหญ่

เมื่อบุคคลปฏิบัติตามหลักการ ก็เป็นส่วนร่วมที่ทำสงฆ์ให้งามมีความมั่นคง ดำรงอยู่ด้วยดี และประโยชน์ก็จะเกิดแก่แต่ละคนที่เป็นส่วนร่วมในสงฆ์นั้น

เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจึงต้องถือธรรมวินัยเป็นพระศาสดา พยายามศึกษาเล่าเรียนให้รู้ให้เข้าใจความจริง แล้วธรรมวินัยก็จะมาเป็นมาตรฐานตัดสินบุคคล ไม่ใช่เอาพระศาสนาไปแขวนไว้กับบุคคล หรือกระทั่งบางคนถึงกับเอาบุคคลมาตัดสินพระศาสนา ซึ่งเป็นการผิดหลักอย่างเต็มที่

ส่วนพระภิกษุ นอกจากถือธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ต้องถือสงฆ์เป็นใหญ่ เคารพสงฆ์ ให้ความสำคัญแก่สงฆ์ ทำการเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ส่วนรวม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพสงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน >>

No Comments

Comments are closed.