— สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทย

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 4 จาก 20 ตอนของ

สภาพสถาบันสงฆ์ บอกสภาพชนบทไทย
สถาบันสงฆ์ช่วยชาวชนบทและคนยากจน ให้มีโอกาสในการศึกษา

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแง่นี้ ได้ทำให้สถาบันสงฆ์ปัจจุบันมีสภาพอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ซึ่งแปลกไปจากสมัยก่อน

วัดในสมัยก่อน มีลูกเจ้านาย ขุนนาง เศรษฐี ลูกคนสามัญ อยู่รวมกันมาก จะสำรวจได้ง่ายๆ จากชื่อสมภารวัดต่างๆ เมื่อไม่นานมานี้

แต่เดี๋ยวนี้ ลูกเจ้านาย ลูกขุนนาง ลูกคหบดี เกือบไม่มีแล้ว มีก็บวช ๓ เดือนเป็นอย่างมาก เหลือใคร ก็เหลือแต่ลูกชาวไร่ชาวนาในชนบท ดูง่ายๆ ลองไปสำรวจวัดทุกวัดในกรุงเทพฯ

ปัจจุบันนี้ ใครไม่รู้จักสถาบันสงฆ์ ก็ไม่รู้จักชนบทไทย ถ้านับพระที่บวชนานเกินกว่าพรรษาขึ้นไป จะเป็นพระจากชนบท ๙๐% แล้วเป็นลูกชาวไร่ชาวนาทั้งนั้น ในด้านการศึกษาก็เหมือนกัน จะเป็นนักธรรมตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป (ชั้นตรีมีพระนวกะบวช ๓ เดือนปนมาก) ก็ตาม บาลีก็ตาม ตลอดจนมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ตาม ๙๐ กว่าเปอร์เซนต์เป็นพระชาวชนบทและเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา1 ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสถิติการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง หรือของคฤหัสถ์

นี่หมายความว่า การศึกษาของพระ ทั้งที่ถูกปล่อยปละละเลย เหลือมาตามประเพณีนี้เอง ก็ได้ช่วยกู้หรือค้ำจุนสังคมไว้ ด้วยการทำหน้าที่สำคัญเกินกว่าที่จะคาดคิดกัน คือการช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่ระบบการศึกษาของรัฐเท่าที่ผ่านมาได้สร้างขึ้นไว้แก่สังคมไทย ด้วยการอำนวยโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนแก่ชาวนาและชาวชนบทที่ยากจน ช่วยให้มีความเสมอภาคแห่งโอกาสในการได้รับการศึกษา ในขณะที่ระบบการศึกษาของบ้านเมืองดูเหมือนจะ กำลังทำลายความเสมอภาคนี้ลงทุกวันๆ แม้โดยไม่เจตนา

ถ้าไม่มีวัด ชาวชนบทและคนยากจนมากมายเท่าใด จะไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน วัดในกรุงเทพฯ นอกจากให้โอกาสในการศึกษาแก่ชาวชนบทในเพศพระภิกษุสามเณรแล้ว ยังเป็นที่พักพิงของเด็กชนบทให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนศึกษากันอีกไม่น้อย

พระเณรเรียนที่มหาจุฬาฯ มาจากชนบทร้อยละ ๙๙
นิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัยคฤหัสถ์ มาจากชนบทไม่ถึงร้อยละ ๙

ถ้าสำรวจสถิตินิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ว่าเป็นลูกชาวนาไม่ถึง ๖ เปอร์เซนต์นั้น2 ในจำนวนนี้คงจะเป็นผู้ที่วัดช่วยให้โอกาสอยู่หลายส่วนทีเดียว นอกจากให้โอกาสโดยตรงแล้ว ศิษย์วัดเหล่านี้ สำเร็จการศึกษาไปแล้ว มีฐานะทางสังคมดีขึ้นมา ยังช่วยญาติพี่น้องต่างจังหวัดเข้ามาเล่าเรียนต่อๆ ไปอีก ตระกูลผู้มีฐานะดีในกรุงปัจจุบันไม่น้อยได้สืบมาในรูปนี้

ถ้าวัดไม่ได้ทำบทบาทนี้ไว้ การศึกษาจะถูกจำกัดอยู่ในวงคนกรุงและผู้มีฐานะเศรษฐกิจดีมากกว่านี้อีกเท่าใด การผูกขาดของฝ่ายหนึ่ง และความไร้ที่หวังของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมหมายถึงการแตกแยกของสังคมด้วยอย่างแน่นอน

๔. เมื่อรัฐแยกเอาการศึกษาออกไปดำเนินการเองฝ่ายเดียวต่างหาก ตัดขาดจากสถาบันสงฆ์แล้ว ในเวลาที่พูดว่าดำเนินการศึกษาของรัฐก็ดี ให้การศึกษาแก่ประชาชนก็ดี เหมือนว่าจะมีความรู้สึกกันพระสงฆ์ออกไว้ต่างหาก หรือยกเว้นสถาบันสงฆ์เสมอไป

เมื่อรัฐปล่อยการศึกษาของพระสงฆ์ให้เป็นไปตามลำพัง ไม่รับผิดชอบด้วยแล้ว ก็เท่ากับตัดพระภิกษุสามเณรจำนวน ๓ แสนรูป ออกจากระบบการศึกษาของรัฐไปด้วย ทำนองยกขึ้นเป็นพลเมืองพิเศษ แล้วรัฐก็ตั้งใจทุ่มเททุนและกำลังงานให้แก่ระบบการศึกษาที่เรียกว่าเป็นของรัฐไปฝ่ายเดียว

คนมี เข้าเรียนเป็นนิสิต นศ. ในมหาวิทยาลัย รัฐให้ปีละ ๘๐๐ ล้าน
คนจนบ้านนอก เข้าเรียนเป็นพระเณรในวัด รัฐให้ปีละ ๒ ล้าน

แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ได้รับการศึกษาตามระบบของรัฐ โดยเฉพาะในระดับสูงๆ ก็คือ ผู้มีโอกาสเหนือกว่า และได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว การลงทุนของรัฐจึงเป็นการระดมความช่วยเหลือให้แก่ผู้ได้เปรียบ ให้ได้เปรียบยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะที่จะเห็นง่ายๆ คือระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาทั้งหมด ๗๒,๕๐๑ คน รัฐลงทุนให้การศึกษาด้วยงบประมาณ (พ.ศ. ๒๕๑๖) เป็นเงิน ๘๖๑,๙๐๗,๙๐๐.๐๐ บาท โดยเฉลี่ย รัฐใช้เงินผลิตบัณฑิตชั้นปริญญาตรีหัวละประมาณ ๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท3

หันมาดูการศึกษาฝ่ายสถาบันสงฆ์บ้าง ปัจจุบันสถาบันสงฆ์มีพระภิกษุสามเณรประมาณ ๓ แสนรูป ได้กล่าวแล้วว่าจะต้องมองภาพพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ในฐานะประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์

ถ้าแยกจำนวน ๓ แสนนี้ออกดู จะเห็นชัดขึ้น ใน ๓ แสนรูปนั้น คิดคร่าวๆ เป็นพระนวกะบวชตามประเพณี ๓ เดือนในพรรษาประมาณ ๑ แสนรูป จัดเป็นผู้เข้าไปรับบริการจากสถาบันสงฆ์ทั้งหมด จากนั้นเป็นสามเณร ๑ แสนรูป

แน่นอนว่า สามเณร ๑ แสนรูปนั้น ทั้งโดยวัยและภาวะ ต้องเป็นนักเรียน เป็นผู้ไปรับประโยชน์ ใช้บริการของสถาบันสงฆ์บ้าง เป็นผู้เตรียมตัวทำบทบาทต่อสังคมบ้าง เราจะไปหวังให้สามเณรเหล่านี้ทำบทบาทอะไรในฐานะบทบาทของพระสงฆ์ต่อชุมชน ย่อมไม่ได้

พระที่ทำหน้าที่ต่อสามเณร ๑ แสนรูป และต่อพระนวกะ ๑ แสนรูปนี้ ก็คือให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำบริการสังคมอยู่แล้ว เป็นภาระหนักพอสมควร

ยังเหลืออีก ๑ แสนรูป เป็นพระหนุ่มๆ วัยเรียนอายุสัก ๒๑-๒๘ ปี กำลังเล่าเรียนอยู่อีกมากมาย อีกส่วนหนึ่งเป็นพระทำงาน เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะผู้ปกครองบ้าง เป็นครูบ้าง บางส่วนที่ไม่ได้ทำงานบวชอาศัยวัด ก็มีบ้าง หรือที่เป็นคนแก่ไปไม่ไหว มาบวชเฝ้าวัดอยู่ ก็มี

โดยเฉพาะลักษณะพิเศษของสถาบันสงฆ์ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ปัจจุบันนี้ มีอัตราส่วนไม่สมดุลกันระหว่างพระผู้สอนกับพระผู้เรียน คือพระผู้เรียนหรือรับการฝึกมีอัตราส่วนสูงเกินกว่าพระผู้สอนและพระทำงานอย่างมากมาย

มองดูเหตุผลเพียงแค่นี้ก็จะเห็นว่า เพียงพระสงฆ์ที่จะทำบทบาทในนามของสถาบันสงฆ์ จะให้บริการแก่ประชาชนที่มารับบริการในรูปของพระภิกษุสามเณรอย่างเดียว ก็หนักมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้น การที่อัตราส่วนระหว่างผู้สอนและผู้เรียนไม่สมดุลกันนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับความประพฤติของพระภิกษุสามเณรเป็นต้นอีกด้วย ซึ่งจะต้องถือว่า ประชาชนที่เข้ามารับบริการจากสถาบันสงฆ์ เข้ามาสร้างปัญหาให้แก่สถาบันสงฆ์ ในขณะที่สถาบันสงฆ์เองอยู่ในสภาพอ่อนเปลี้ย เพราะขาดแคลนกำลังบุคคลและมีระบบการศึกษาที่ถูกปล่อยปละละเลย เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรสังเกตด้วยว่า จำนวนประชาชนที่บวชเข้ามารับบริการ เป็นสามเณรบ้าง เป็นภิกษุบ้าง กับจำนวนที่รับบริการแล้ว (บางทียังไม่ได้ทำอะไรให้สถาบันสงฆ์เลย) ลาสิกขาออกไปทำงานให้แก่รัฐนั้น มีการหมุนเวียนปีละจำนวนมากมาย

การศึกษาของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดนี้ ในเมื่อรัฐไม่ถือเป็นการศึกษาของรัฐแล้ว ก็หาทางช่วยเหลือในแง่อื่น โดยถือว่าเป็นบริการสังคมอย่างหนึ่ง ในหมวดสาธารณูปการ แล้วส่งงบประมาณมาอุดหนุน

สำหรับสถาบันสงฆ์ที่มีพระภิกษุสามเณร ๓ แสนรูป เป็นนักเรียนอยู่สักสองแสนรูปนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐให้งบประมาณราว ๑ ล้าน ๕ แสนบาท มาเมื่อ ๔-๕ ปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นปีละราว ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำนักเรียนส่วนมากได้รับงบประมาณช่วยปีละ ๑๐๐ ถึง ๒๐๐ บาท สำนักชั้นพิเศษในกรุงฯ ได้รับปีละ ๕๐๐ บาท มีที่ได้เกิน ๕๐๐ บาทอยู่ ๒๐ แห่ง สูงสุดก็ ๑,๔๕๐ บาท (มีแห่งเดียว)

ไปเรียนในระบบของรัฐ ๕ แสนคน รัฐให้ ๑,๕๐๐ ล้านบาท
มาเรียนในระบบของวัด ๒.๕ แสนรูป รัฐให้ไม่ถึง ๒ ล้านบาท

เมื่อมองในแง่สังคมตามสภาพปัจจุบัน ข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เท่าที่กล่าวมา และที่จะกล่าวต่อไป จะให้แง่คิดหลายอย่าง เช่น

(๑) ในเมื่อการศึกษาของสถาบันสงฆ์เป็นการศึกษาที่อำนวยแก่ชาวชนบทผู้ยากจน แต่รัฐให้งบประมาณเพียงเล็กน้อย ส่วนการศึกษาในระบบของรัฐเอง ซึ่งผู้รับการศึกษาส่วนมากมีโอกาสและฐานะดีอยู่แล้ว แต่รัฐใช้งบประมาณจำนวนมากมาย (พ.ศ. ๒๕๑๒ งบประมาณการศึกษาทั้งหมด ยกเว้นประถมศึกษา มีนักเรียนนิสิตนักศึกษา ๔๗๗,๒๕๙ คน งบประมาณ ๑,๕๖๔.๓๐ ล้านบาท)4 ก็กลายเป็นว่า รัฐใช้เงินภาษีอากรของประเทศส่วนใหญ่มาบำรุงเอาใจคนจำนวนน้อยที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว และทอดทิ้งการศึกษาสำหรับชาวนาในชนบทซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่

เงินที่รัฐลงทุนเพื่อผลิตนักศึกษาให้สำเร็จปริญญาตรี ประมาณ ๕๐ คน ยังมากกว่าเงินที่รัฐลงทุนเพื่อการศึกษาของพลเมืองที่เป็นพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศจำนวน ๒-๓ แสนรูปด้วยซ้ำไป

(๒) ด้วยงบประมาณหรือเงินลงทุนเพียงปีละ ๑ ล้าน ๕ แสนบาท จนถึง ๒ ล้าน ๕ แสนบาท สำหรับพลเมืองในฐานะพระภิกษุสามเณร ๒-๓ แสนรูป เช่นนี้ จะคาดคั้นสถาบันสงฆ์ให้ทำงานได้มากมายเพียงใด และจะให้การศึกษาของพระสงฆ์มีประสิทธิภาพแค่ใด

ยิ่งถ้ายอมรับกันว่า ขณะนี้สถาบันสงฆ์อยู่ในสภาพที่กำลังเสื่อมโทรมด้วยแล้ว ทำหน้าที่ได้แค่นี้ ช่วยได้แค่นี้ ก็ยังดี

การให้การศึกษาเท่าที่เป็นไปได้ตามบุญตามกรรม อาจจะขาดประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ถ้าไม่มีสถาบันนี้ช่วยอยู่ ชาวนาชนบทและคนยากจนจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้นมาได้จากที่ไหนเลย

(๓) การศึกษาของพระสงฆ์ที่มีเงินลงทุนเล็กน้อย แต่ยังดำเนินอยู่ได้เช่นนี้ นอกจากเป็นเพราะทำไม่ให้เป็นล่ำเป็นสันเกินไป จะได้ไม่สิ้นเปลืองมากแล้ว ก็เป็นเพราะได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนเป็นสำคัญ

การบำรุงของประชาชนนี้มาในรูปของการถวายปัจจัยสี่แก่พระภิกษุสามเณรผู้เรียนและผู้สอนเป็นส่วนบุคคล ตามความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์บ้าง มาในรูปการบำรุงกิจการต่างๆ เช่น ทุนมูลนิธิ การบริจาคสร้างโรงเรียน เป็นต้นบ้าง กล่าวได้ว่าเป็นผลได้จากค่านิยมในการทำบุญ ซึ่งเป็นวิธีเฉลี่ยรายได้โดยสมัครใจอย่างหนึ่ง

ส่วนในฝ่ายการศึกษาของรัฐ ทุนดำเนินการก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกัน แต่เป็นไปในรูปของภาษีอากรที่รัฐเป็นผู้จัดสรร

นิสิตนักศึกษาและนักเรียน จึงได้รับเงินหรือความช่วยเหลือจากประชาชนโดยทางอ้อม ซึ่งมักไม่รู้ตัวว่าตนได้ใช้จ่ายเงินของรัฐโดยทางภาษีอากรเป็นจำนวนมากมาย และในบรรดาผู้เรียนทุกประเภทนั้น แน่นอนว่านิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้ได้รับเงินจากประชาชนมาใช้ประโยชน์มากที่สุด

ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นผู้มาจากตระกูลมีฐานะดีในเมือง จึงกลายเป็นว่า ผู้ที่มีเปรียบทางสังคมอยู่แล้ว มีโอกาสเหนือกว่าอยู่แล้ว กลับได้เปรียบมากขึ้น และได้โอกาสมากขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — การศึกษาระบบวัดที่ถูกเขาทิ้ง ทำอะไรอยู่ในสังคมไทย— พระหรือใคร เอาเปรียบสังคม >>

เชิงอรรถ

  1. พระนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นบาลีอบรมศึกษาปีที่ ๑ ขึ้นไป ตามสถิติ พ.ศ. ๒๕๑๑ จำนวน ๖๗๘ รูป เกิดในต่างจังหวัด ร้อยละ ๙๙.๗๑; สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๖ จำนวน ๙๗๕ รูป มาจากครอบครัวกสิกร ร้อยละ ๙๑.๖๙

    ต่อไปนี้เป็นสถิตินิสิตนักศึกษาฝ่ายพระกับฝ่ายคฤหัสถ์ จำแนกโดยอาชีพของบิดามารดา แม้จะต่างโดย พ.ศ. และประเภทบุคคล แต่ก็พอช่วยให้มองเห็นภาพที่ต้องการได้ (พระนิสิต=พระนิสิตคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ พ.ศ. ๒๕๑๖; นักศึกษา = นักศึกษาที่สอบเข้าได้ในคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๑๑)

    ค้าขาย รับราชการ เกษตรกรรม ลูกจ้าง อื่นๆ รวม
    พระนิสิต ๑๐๑ ๑๐๙
    นักศึกษา ๓๑ ๔๙ ๑๐๔

  2. ตัวเลข ๖ เปอร์เซนต์นั้น หมายถึงผู้มาจากครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกรรมทั้งหมด ในจำนวนนี้ เมื่อแยกออกไปอีก จึงคงจะมีลูกชาวนาเพียงประมาณร้อยละ ๑-๓; จำนวนศิษย์วัดทั่วประเทศ พ.ศ. ๒๕๑๓ มี ๑๑๗,๘๑๕ คน (มากกว่าสถิติสามเณรเล็กน้อย) ในจำนวนนี้เป็นศิษย์วัดในกรุงเทพฯ ๘,๘๕๖ คน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ ๙๙
  3. ทุนที่ใช้ในการผลิตนี้ต่างกันไปตามสาขาวิชาที่ศึกษา คิดคร่าวๆ ระหว่าง ๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท
  4. ตัวเลขงบประมาณนี้ ไม่รวมเงินงบประมาณสำหรับงานบริหารการศึกษาอีก ๒๑๕ ล้านบาทเศษ; เทียบการศึกษาสองฝ่ายให้เห็นชัดดังนี้ (สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๒)

    จำนวนคน งบประมาณ/ล้านบาท
    -นิสิต นักศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไป ๔๗๗,๒๕๙ ๑,๕๖๔.๓๐
    -ภิกษุสามเณรเรียนนักธรรม บาลี มหาวิทยาลัยสงฆ์ ๒๓๑,๗๓๐ ๑.๕๘

No Comments

Comments are closed.