- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
เมืองไทยจะวิกฤต
ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต1
สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
ทีนี้ พอเลยจากเรื่องของวัดก็ขยายออกไปถึงเรื่องของพระศาสนา จะเห็นได้ว่า เวลานี้ภัยอันตรายของพระศาสนาเกิดขึ้นมาก อย่างเรื่องที่เล่าเมื่อกี้นี้ ก็เป็นภัยอันตรายอย่างหนึ่งของพระศาสนา เรื่องคนปลอมเป็นพระ ตลอดจนคนแต่งตัวเป็นชี เดี๋ยวนี้คงจะมาก แล้วก็มีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าโยมแยกไม่ถูก ก็จะทำให้เอาตัวบุคคลนั้นเป็นตัวพระศาสนา แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกที่ไม่ดี อาจถึงกับเสื่อมศรัทธา ถ้าแยกคนกับแยกพระศาสนาออกจากกันไม่ได้ ก็ทำให้เสื่อมความเลื่อมใสต่อพระศาสนาไปด้วย
อย่างเวลานี้ ก็จะมีพวกที่แต่งตัวเป็นพระเข้ามาเรี่ยไรในกรุงเทพฯ จำนวนมาก เพราะถึงฤดูแล้งในหลายปีมานี้ ชาวชนบทเข้ามาหารายได้ในกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี
ในบางจังหวัดมีหมู่บ้านพระปลอม ซึ่งโยมบางท่านก็คงเคยได้ยิน โดยเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมินี่มีข่าวชัดเจนมาหลายปีแล้ว บางหมู่บ้านคนทั้งหมู่บ้านเป็นพระปลอม ชีปลอม เขาอยู่กันในหมู่บ้านก็เป็นชาวบ้านนี่แหละ
แต่ถึงฤดูแล้ง เขาโกนผมศีรษะโล้น แล้วก็มีจีวรตากไว้ตามระเบียงบ้าน ตัวเองนุ่งกางเกงใส่เสื้อ พอถึงเวลาเหมาะในหน้าแล้งนั้น ไม่มีทางทำมาหากิน ก็พากันเข้ากรุงเทพฯ แล้วก็ไปอยู่รวมกันที่แหล่งหนึ่ง ถึงเวลาเช้าก็นั่งรถปิคอัพออกไปจ่ายตัวตามจุดต่างๆ แล้วก็ออกไปเดินบิณฑบาตพร้อมทั้งเรี่ยไรไปด้วย พฤติการณ์นี้มีมาหลายปี หนังสือพิมพ์ก็เอามาเปิดเผย แต่นานๆ เข้า โยมก็ลืมไป
สภาพอย่างนี้ ก็คือการที่วัดและพระศาสนาของเรากลายเป็นที่รับระบายทุกข์และระบายปัญหาของสังคม แทนที่จะเอาพระพุทธศาสนาไปบรรเทาดับทุกข์ของสังคม สังคมกลับเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์ของตน อะไรยุ่งยาก อะไรเป็นปัญหา ของทิ้ง ของเสีย ตัวเองแก้ไขไม่ได้ จัดการไม่ไหว ก็เอาไปเท เอาไปทิ้ง ปล่อยเข้าไปในพระศาสนา ให้ชาวบ้านที่ยากจนมาเอาพระพุทธศาสนาเป็นที่หาเลี้ยงชีพ ช่วยชีวิตของตัวเขา แต่ถ้าต้องช่วยชาวบ้านกันแบบนี้ พระศาสนาก็แย่ มีแต่จะทรุดจะเสื่อมและหมดแรงลงไป แล้วก็จะไม่มีกำลังที่จะช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมตามหน้าที่ที่ถูกต้องของตน
สภาพที่ชาวบ้าน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส คนด้อยการศึกษา คนมีปัญหาต่างๆ และคนหมดทางไป มาอาศัยวัดและพระศาสนาเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพ และแสวงหาหนทางอยู่รอดในสังคมนี้ ยังมีอีกมาก ที่พูดมานี้เป็นเพียงตัวอย่าง บางอย่างมีแต่โทษภัย บางอย่างถ้าเรารู้ตระหนักปัญหา และช่วยกันจัดให้ดี ก็กลายเป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าไม่รับรู้ปัญหา และปล่อยปละละเลยอยู่ในความประมาท ก็มีแต่จะนำความเสื่อมความพินาศมาให้แก่วัดและพระศาสนา และในที่สุดสังคมไทยทั้งหมดนั่นแหละ ก็จะต้องประสบวิบากแห่งกรรมของตัว
ปีนี้จะแล้งมากขึ้น เมื่อแล้งมากขึ้น ปัญหาอย่างนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น โยมก็เตรียมรับสถานการณ์ได้เลย เมื่อมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอีก เราก็ต้องรู้เท่าทัน แต่ทีนี้โยมก็ไม่ค่อยรู้หลัก บางทีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มีพระมาเรี่ยไร ก็เกรงใจ เห็นว่าเป็นพระ นุ่งเหลืองห่มเหลือง ก็เกรงใจให้ไปบ้าง บางทีก็ให้พอให้พ้นๆ ไป บางคนก็หลงเชื่อให้ไปมากๆ มันก็กลายเป็นทางทำมาหาเลี้ยงชีพของคนเหล่านี้ วันๆ หนึ่ง เขาก็ได้เยอะ จากบ้านนี้นิดบ้านโน้นหน่อย บางบ้านก็มาก บางทีก็เอาถังไปวางไว้ร้านโน้นถังหนึ่ง ร้านนี้ถังหนึ่ง จัดเป็นผ้าป่าอะไรต่างๆ เอาไปตั้งเพื่อให้คนมาบริจาคเป็นต้น ถึงเวลาก็เดินมาเก็บไป
ทีนี้ ถ้าเราชาวพุทธรู้ทัน เรารู้วินัยของพระว่า พระนี่เรี่ยไรไม่ได้ ออกปากขอชาวบ้านก็ไม่ได้ พระสงฆ์นี่ท่านห้ามขอ ตามศัพท์ ภิกฺขุ แปลว่าผู้ขอ แต่ต้องขอตามวินัย หมายความว่าพระไม่ได้เลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่ได้ทำมาหากิน แต่ท่านมีอาชีพของท่าน
อาชีพของพระ คือการรักษาวินัย ประพฤติตนอยู่ในศีล และบำเพ็ญสมณธรรม พูดสั้นๆ ว่าทำหน้าที่ของพระ เมื่อทำหน้าที่ของพระโดยถูกต้องแล้ว ประชาชนมีความเลื่อมใส ก็อุปถัมภ์บำรุง อย่างนี้ถือว่าเป็นอาชีวะที่ถูกต้อง
ทีนี้ ถ้าพระจะขอ ก็ออกปากขอไม่ได้ พระจะบอกขอได้กับคนที่เป็นญาติ หรือคนที่ปวารณาไว้เท่านั้น
ปวารณา ก็คือ คฤหัสถ์หรือโยมท่านนั้นบอกเปิดโอกาสหรือนิมนต์ไว้ว่าให้ขอได้ บอกแก่พระองค์ใด องค์นั้นก็ขอได้ และขอได้ในขอบเขตที่โยมได้ปวารณาไว้ เช่น โยมปวารณาว่า ถ้าท่านต้องการในเรื่องจีวรก็ขอให้บอกโยม โยมจะจัดถวาย อย่างนี้ถือว่าปวารณาจีวร พระท่านก็ขอได้เฉพาะจีวร ขออย่างอื่นไม่ได้
โยมปวารณาอะไร ก็ขอได้เฉพาะสิ่งนั้น แต่โยมบางท่านก็ปวารณาทั่วไป คือ ปวารณากว้างๆ ว่า ท่านมีความต้องการอะไรที่เหมาะสมกับพระ ก็ขอให้บอกโยม อย่างนี้ถือว่าปวารณาทั้งหมด พระท่านต้องการอะไรที่เหมาะสม ก็ขอได้ แต่จะออกปากขอกับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติและไม่ได้ปวารณาไว้ ไม่ได้ ผิดพระวินัย
เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนแต่งตัวเป็นพระมาขออะไร โยมมีสิทธิที่จะไม่ยอม แล้วก็ใช้ปฏิภาณเอาเอง ในการที่จะซักถามเพื่อหาความจริง ถ้าโยมช่วยพระศาสนาได้ ก็ดี คือถ้าช่วยกันเอาคนที่ไม่ใช่พระที่มาแสวงหาผลประโยชน์จากพระศาสนาออกไปได้ ก็เป็นการช่วยพระศาสนาไปในตัว
ฉะนั้น เราต้องนึกในแง่ที่ว่า นี่เราจะช่วยพระศาสนาของเราได้อย่างไร เราจะช่วยป้องกันแก้ไขเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาไว้ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ตกลงว่า ชาวพุทธเวลานี้อยู่ในสภาวการณ์ที่มีปัญหาต่อพระศาสนา ที่เราจะต้องช่วยกันแก้ไข
No Comments
Comments are closed.