— การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา

14 กันยายน 2525
เป็นตอนที่ 14 จาก 35 ตอนของ

การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
โดยวิถีทางของปัญญา

ทีนี้ หันไปมองสิ่งแวดล้อมประเภทที่ ๒ คือ สิ่งแวดล้อมในทางสังคมว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยวิถีทางของปัญญาได้อย่างไร ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เราย่อมต้องการความสัมพันธ์ที่ดี ที่เกื้อกูลแก่เรา ความสัมพันธ์ที่ดีนั้น จะแสดงออกในรูปอย่างใด

จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วในแง่ของตัณหาและอวิชชาจะเห็นว่ามันมีการมองแต่รูปลักษณ์ และเกิดปฏิกิริยาจากที่พัฒนาความคิดไปตามวิถีทางของตัณหา คือความพอใจและไม่พอใจความติดพันผูกรัด หรือความกระทบกระแทก วนเวียนและจำกัดแคบอยู่แค่ตัวเรากับตัวเขา

ทีนี้ ในแง่ของปัญญา ก็จะมีแต่กระแสความคิดเดินเรื่อยไปในตัวปัญหาหรือในสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่มีตัวเราชนิดที่โผล่เข้ามากั้น และเรียกร้องเบนความสนใจออกไป เราจะเข้าใจชีวิตของผู้อื่น เราจะรับรู้เข้าไปในสุขทุกข์ของเขา เราจะรับรู้ปัญหาของเขา เมื่อเรารับรู้ปัญหา รับรู้สุขทุกข์ของผู้อื่นแล้ว เราจะมีจิตใจเปิดกว้าง เกิดความคิดเผื่อแผ่ คิดในทางที่จะช่วยเหลือเขาและคิดแก้ปัญหานั้น

จะเห็นได้จากตัวอย่างเมื่อกี้ สมมติว่าคุณครูมองเห็นศิษย์ที่มีปัญหา มีกิริยาท่าทางไม่น่าพอใจ ถ้าครูมองในแง่วิเคราะห์แก้ปัญหาก็จะคิดสืบสาวไปว่าศิษย์นั้นมีปัญหาชีวิตอย่างไร จิตใจที่จะคับแคบ ที่จะพอใจและไม่พอใจ ที่จะถูกลบหลู่อย่างในตอนต้นนั้นก็ไม่มี จิตใจที่ไม่ถูกบีบคั้น มันจะมีอิสรภาพ เมื่อจิตมีอิสรภาพแล้วจะมีความรู้สึกที่เป็นภาวะของคุณธรรมอย่างหนึ่ง คือ ความมีใจเปิดกว้าง ปลอดโปร่ง โล่งเบา พร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวของชีวิตอื่นๆ พร้อมที่จะทำการเพื่อชีวิตอื่น ความคิดแผ่ออกไป เข้าถึงชีวิตจิตใจของผู้อื่น เคลื่อนไหวตามรู้ตามเห็นชีวิตจิตใจและปัญหาของเขา หาทางแก้ไขข้อติดขัดบีบคั้นให้เขา เป็นความคิดในทางเผื่อแผ่เกื้อกูล ช่วยเหลือผู้อื่น ภาวะนี้เรียกว่า กรุณา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา— ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ >>

No Comments

Comments are closed.