หลักการสร้างสรรค์ปัญญา

19 มีนาคม 2538
เป็นตอนที่ 7 จาก 18 ตอนของ

หลักการสร้างสรรค์ปัญญา

ปัญญา: ยอดคุณสมบัติของสัตว์ผู้ต้องศึกษา

ต่อไปนี้ จะขอพูดเรื่องบางอย่างที่เป็นหลักการบ้าง แต่ยังไม่ใช่เป็นการสร้างสรรค์ปัญญาโดยตรง กล่าวคือจะพูดในแง่ที่ว่าในการสร้างสรรค์ปัญญาเพื่ออนาคตของมนุษยชาตินั้น เราต้องดูว่า ปัญญามีบทบาทอะไร ที่จะทำให้เกิดสังคมที่ดีงาม ปัญญามีความหมายอย่างไร มีบทบาทอย่างไร มีส่วนร่วมอย่างไร ที่จะทำให้เกิดความงอกงามแก่อนาคตของมนุษยชาติ

มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษดังที่ทางพระว่า เป็นทัมมะ (ท ทหาร ไม่ใช่ ธ ธง) คู่กับธัมมะ คือธรรม จะเห็นได้ในคำที่เราสวดพุทธคุณว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ คำนี้แสดงธรรมชาติของคนว่า เป็นทัมมะ คือเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะการฝึกนี้ จึงมีหลักการที่สำคัญว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก

เรามักจะพูดห้วนๆ เสมอว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ไม่ใช่เป็นคำกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาจะต้องพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ การฝึกก็คือทำให้พัฒนาขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นต้น

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ เพราะเหตุใด เพราะมนุษย์อาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่เหมือนสัตว์ประเภทอื่น ซึ่งเกิดมาแล้วก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แม้แต่คลอดออกมาวันนั้น อย่างลูกห่าน ก็เดินได้เลย ว่ายน้ำได้ทันที หากินได้ทันที แต่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกฝนพัฒนา โดยเฉพาะพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าปัญญามาใช้ดำเนินชีวิต แทนที่จะอยู่อย่างสัตว์อื่นที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ

ขอย้อนกลับมาเรื่องเดิมอีก หลักการของพระพุทธศาสนาสอนตามธรรมชาติว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและฝึกได้ ฝึกไปทำไม ก็ฝึกให้ดำเนินชีวิตดียิ่งขึ้นไป จะได้มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข เป็นอิสระ และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุขในสังคมและในโลก ทำไมจึงต้องฝึก เพราะชีวิตของเราที่เกิดมาตั้งแต่เริ่มต้น เราได้เรียนรู้มา ได้ฝึกได้หัดมา เราจึงอยู่ได้ดี อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า มนุษย์เกิดมาอาศัยสัญชาตญาณแทบไม่ได้เลย เราต้องเรียนรู้และต้องฝึกต้องหัดเอาทั้งนั้น พอเกิดมาก็ต้องมีคนอื่นอุ้มชูก่อน ต้องเลี้ยงดูเป็นเวลาหลายปี

ในระหว่างที่เขาเลี้ยงดูนั้น ตัวเองทำอะไร ตัวเองก็เรียนรู้และฝึกหัดไป ต้องเรียนต้องฝึกทั้งนั้น ทั้งการนั่ง การนอน การยืน การกิน การขับถ่าย จนกระทั่งมาเดิน มาพูด ต้องฝึกต้องหัดหมด จึงบอกว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์แทบไม่มีอะไรได้มาเปล่าๆ มนุษย์ต้องลงทุนทั้งนั้น ด้วยการหัด ด้วยการฝึก ด้วยการเรียนรู้ เราจึงได้การดำเนินชีวิตที่ดีมา เป็นอันว่า การดำเนินชีวิตที่ดีที่เรียกว่า จริยะ สัมพันธ์กับการเรียนรู้ คือการศึกษา

การดำเนินชีวิตที่ดีที่เรียกว่าจริยะนี้ ได้มาด้วยสิกขา คือการศึกษา เพราะฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์ ถ้าจะเป็นชีวิตที่ดี ต้องมีการศึกษาตลอดเวลา คือต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษา จะพูดว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตแห่งการศึกษา ก็ได้ เพราะชีวิตที่ดี ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา เราไม่สามารถได้ชีวิตที่ดีมาเปล่าๆ

แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่รู้ตัว ไม่รู้หลักการ ไม่รู้ธรรมชาติอันนี้ การเรียนรู้ การฝึก การหัดนั้น จำเป็นเพื่อให้ตัวดำเนินชีวิตอยู่ได้ ก็เรียน ก็ฝึก ก็หัดไปด้วยความจำเป็นจำใจ พอทำได้ก็หยุดฝึก จึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถ้าเขารู้ธรรมชาติแห่งชีวิตของตนเอง รู้หลักการของชีวิตมนุษย์อย่างนี้แล้วว่า ชีวิตที่ดีของมนุษย์ได้มาด้วยการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ต้องมีสิกขา ถ้าเราฝึกฝนพัฒนาเรียนรู้อยู่เรื่อย ชีวิตของเราก็จะดีงาม เขาก็จะสิกขาต่อไปเรื่อยๆ จนมีชีวิตที่ประเสริฐ

ชีวิตที่มีการศึกษา คือเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาอยู่เรื่อย จะเป็นชีวิตที่ประเสริฐ เรียกว่า ชีวิตประเสริฐเกิดจากการศึกษา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสย้ำว่า ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น คนที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งว่า

มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ

แปลว่า พระสัมพุทธเจ้านี้ ทั้งที่เป็นมนุษย์ แต่ฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ กลายเป็นพลิกกลับเลย แต่ก่อนมนุษย์ต้องไหว้กราบเคารพเทวดา แต่พอมนุษย์ฝึกดีแล้ว เทวดากลับมาไหว้มนุษย์

ที่ว่านี้เป็นการพูดในสภาพแวดล้อมเก่า พระพุทธศาสนาเกิดในสังคมที่บูชาเทพเจ้า มนุษย์มีความโน้มเอียงที่คอยแต่จะไปหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก พระพุทธเจ้าต้องให้กำลังใจว่า อย่ามัวไปอ้อนวอน อย่ามัวไปหวังพึ่ง ตัวคุณนี้แหละพัฒนาได้ และถ้าคุณพัฒนาตัวดี เทวดาและแม้แต่พระพรหมก็หันมานับถือเคารพคุณ นี้เป็นการตรัสตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัย เพื่อให้คนเกิดกำลังใจ ไม่ใช่มัวงอมืองอเท้า ไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกอยู่

ตกลงว่า ในคติพุทธศาสนา เรื่องจริยะหรือจริยธรรมไม่ได้แยกจากการศึกษาเลย แต่เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้มีจริยะ คือการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ที่ประเสริฐเป็นพรหมะ ก็ต้องมีการศึกษา คือฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนาไป จึงได้อ้างพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า พรหมจริยะ คือจริยะอันประเสริฐ ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งมาเป็นสิกขาคือการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างเหมือนกัน

ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา บอกชัดอยู่แล้วว่าฝึก ๓ อย่าง ฝึกอะไร ก็ฝึกพฤติกรรม ฝึกจิตใจ ฝึกปัญญา แล้วก็เกิดจริยะที่ดีงาม (พรหมจริยะ) คือการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำให้มีพฤติกรรม สภาพจิตใจ และปัญญาที่ดียิ่งขึ้นไป ฝึกอะไรก็ได้สิ่งนั้น ฝึกที่ไหน ก็ฝึกที่ศีล สมาธิ ปัญญา

คติของสัตว์ชนิดอื่นว่า เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใด ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณนั้น แต่ของมนุษย์ไม่อย่างนั้น คติของมนุษย์ว่า ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น จึงเป็นหลักการของมนุษย์ว่าจะต้องมีการฝึก คือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เพราะนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ผู้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้

คำว่า ต้องฝึก แสดงถึงความเสียเปรียบของมนุษย์ ที่ว่าสัตว์อื่นมันไม่ต้องฝึก ไม่ต้องหัด ไม่ต้องเรียนรู้ มันก็อยู่ได้ ส่วนมนุษย์นี่แย่กว่า ต้องฝึกจึงอยู่ได้ แต่ฝึกได้ แสดงความพิเศษที่เป็นข้อดีของมนุษย์ว่ามนุษย์นี้ฝึกได้ ส่วนสัตว์อื่นฝึกไม่ได้ สัตว์อื่นมันไม่ต้องฝึกและมันก็ฝึกไม่ได้ด้วย ไม่ใช่ฝึกไม่ได้เลย มันเรียนรู้และฝึกได้ในขอบเขตจำกัดมาก และต้องให้มนุษย์ฝึกให้ ส่วนมนุษย์นั้น

๑. ฝึกได้

๒. ฝึกตัวเองได้ด้วย

ฝึกตนได้นี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง การเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาที่แท้ได้ผลสูงสุดอยู่ที่ตัวเอง ขยายความว่า รู้จักเรียนรู้ โดยเอาสิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง แล้วก็จะมีคุณสมบัติเก่งกล้าเกิดขึ้นมาในตัวมากมาย โดยเฉพาะปัญญาที่เป็นคุณสมบัติอันเยี่ยมยอด เยี่ยมยอดอย่างไร ก็มาดูกันต่อไป

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สังคมแห่งการเรียนรู้ สู่จุดหมายอันใดปัญญา นำสัตว์ผู้ต้องศึกษา จากชีวิตที่เสี่ยงภัย สู่อิสรภาพ >>

No Comments

Comments are closed.