- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่
ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
การมีที่อยู่ที่ทำกินถิ่นอาศัยเป็นรมณีย์นี้ ท่านถือมาว่าเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าตรัสบ่อย คัมภีร์ทั้งหลายพูดกันแล้วพูดกันอีก ถึงกับถือเป็นหลักว่า
ถิ่นรมณีย์มีคุณสมบัติที่เป็นองค์ประกอบ นับได้ ๔ อย่าง
เริ่มด้วย ฉายูทกสมบัติ คือสมบูรณ์พร้อมด้วยร่มไม้และสายน้ำ หรือมีน้ำอุดม ร่มรื่นด้วยพฤกษา คือมีแหล่งน้ำ และต้นไม้พืชผลนานาพันธุ์ คุณสมบัติข้อแรกนี้เป็นเกณฑ์สำคัญที่ขาดไม่ได้
ข้อต่อไปก็สำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคสมบัติ คือ มีภูมิประเทศ พื้นถิ่นพื้นที่ บริเวณ บรรยากาศ ที่สะอาด เรียบร้อย ไร้ขยะ ไม่สกปรกรกรุงรัง พร้อมด้วยสายลม และแสงแดด ท้องฟ้าสดใสไร้หมอกควัน น่าดู น่าเดิน สบายขา สบายตา ปลอดภัย
ต่อจากนั้นก็มี บุคคลสมบัติ พูดสั้นๆ ว่า เป็นถิ่นคนดี ไม่มีคนร้าย ได้เสวนากัลยาณชน
แล้วลงท้ายด้วย คมนาคมนสมบัติ ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป มีทางไปมาไม่ลำบาก ให้ถึงโดยสวัสดี
“รมณีย์” เป็นที่บรรจบ เป็นจุดที่ประสานเสริมกัน ระหว่างสุขภาวะแห่งชีวิตของคน กับธรรมชาติที่คงอยู่ในสภาพดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล
เมื่อเป็นรมณีย์ ก็คือคนมีชีวิตอยู่ได้ดี มีใจสดชื่นรื่นรมย์ พร้อมกับที่ธรรมชาติก็ยังสดชื่นสงบอยู่ได้เป็นปกติดี
ถ้าเมื่อใดธรรมชาติเสียหาย เช่นฝุ่นควันมากมาย คนหายใจอึดอัด ใจสดชื่นรื่นรมย์ไม่ไหว ก็ไม่เป็นรมณีย์ นี่คือรมณีย์เป็นเครื่องตรวจสอบ เป็นตัวพิสูจน์ความดำรงอยู่ดีมีสุขภาวะ ทั้งของชีวิตคน และของธรรมชาติที่แวดล้อมให้คนได้อาศัย
พอเจอรมณีย์ คนมีใจสดชื่นรื่นรมย์ การปฏิบัติธรรมก็เริ่มต้นทันที นั่นคือ ใจเกิดมีฉันทะ พอใจ ชื่นชม ยินดี พร้อมด้วยปีติปราโมทย์ คือสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส อิ่มใจ ปลื้มใจ เปิดทางให้ก้าวไปเป็นสมาธิได้ง่าย
คนจะมีชีวิตอยู่ได้ดี อยู่กันดี ทำกิจการงานก้าวหน้าไป จะพัฒนาจิตใจ จะพัฒนาปัญญาได้ผลดี ก็ต้องให้เขามีความเป็นอยู่ที่เหมาะที่ดี ท่ามกลางธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ที่เป็นสภาพเกื้อหนุนชีวิตจิตใจ ที่ว่าเป็นรมณีย์ดังได้ว่ามานี้
รมณีย์ จึงเป็นคำที่ท้าทายผู้ปฏิบัติธรรม รวมทั้งบรรดาคนไทย ว่าสามารถพอไหวไหม ที่จะทำให้ได้สภาพรมณีย์ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อเปิดทางสู่ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป และยิ่งๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ดี เรื่องมิใช่แค่นี้ รมณีย์เป็นสภาพดีงามเกื้อกูลของสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด ซึ่งต้องให้มีอยู่ประจำเป็นปกติ แต่เมื่อมีกิจกรรมทำการอะไรที่ดีงามสร้างสรรค์ เป็นงานสำคัญหรือจริงจัง เช่น จะฝึกเจริญสมาธิเป็นช่วงเวลายาวต่อเนื่อง ท่านให้เตรียมสภาพเอื้อให้พร้อมไว้ เรียกว่า สบายทั้ง ๗ (สัปปายะ ๗)
คำว่า “สบาย” นี้ คนไทยใช้กันเป็นคำพูดสามัญติดปากมากที่สุดคำหนึ่ง ที่จริงมาจากคำบาลีว่า “สัปปาย, สัปปายะ” (สปฺปาย) และได้มีความหมายเพี้ยนไป
ในภาษาไทย เราบอกว่าคนสบาย แล้วก็จบ อาจจะนอนหลับไปเลย แต่ในภาษาบาลี เขาพูดว่าสบายแก่คน เช่นว่า เภสัชสบายแก่คนนั้น ก็คือเหมาะกับผู้ป่วยนั้น ถูกโรค เอื้อแก่เขาที่จะช่วยให้หายโรค ไม่ใช่อย่างที่คนไทยอาจจะเข้าใจว่ายานั้นอร่อยกินได้ง่ายสบายไปเลย, คำสอนธรรมที่สบายแก่คนนั้นๆ ก็คือเหมาะกันเอื้อต่อกำลังปัญญาของเขาหรือตรงกับปัญหาที่จะให้เขารู้เข้าใจได้ชัดเจนช่วยให้คิดแก้ปัญหาได้, ที่อยู่ที่พักสบายแก่เขา ก็คือเหมาะเอื้อให้เขาฝึกสมาธิได้ผลดี ดังนี้เป็นต้น
เป็นอันว่า “สบาย” แบบของไทย (ปัจจุบัน) กลายเป็นจุดหมายไปเสีย บอกว่าอากาศวันนี้สบาย อ๋อ… ดีจัง แล้วก็ลงนอนหลับไปเลย (จะว่าสบายคือเอื้อก็ได้ คือ เอื้อแก่ความขี้เกียจ) ต่างจากของพระที่ว่า สบาย คือเอื้อแก่การทำกิจทำการ
รวมความว่า “สบาย” ของบาลี คือ “สัปปายะ” แปลว่า เหมาะกัน หนุน เอื้อ เกื้อกูล เกื้อหนุน อาจจะใช้คำว่า “สภาพเอื้อ” คือเอื้อเกื้อหนุนต่อการกระทำหรือการปฏิบัติที่จะให้ไปถึงจุดหมาย เช่นว่าจะฝึกสมาธิ สัปปายะก็จะช่วยเอื้อเกื้อหนุนให้การฝึกนั้นได้ผลบรรลุจุดหมายได้สมาธิโดยง่ายหรือง่ายขึ้น หรือบอกว่าอากาศวันนี้สบาย จะทำงานหรือทำอะไรๆ ก็เหมาะ ช่วยให้ทำได้ดี สำเร็จผลดีและได้ง่าย การทำกิจหน้าที่การงาน การศึกษา การภาวนาทุกอย่าง ก็ต้องการสัปปายะทั้งนั้น
สัปปายะ คือ สบาย ที่ท่านรวมมาบอกไว้ มี ๗ ประการ ในที่นี้ จะเรียงลำดับจากวงกว้างรอบๆ เข้ามาหาตัวคนที่เป็นอยู่หรือผู้ที่จะทำกิจทำการนั้นๆ ดังนี้
๑. อุตุสบาย (อุตุสัปปายะ) คือ มีสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ภาวะของฤดูกาล ที่เอื้อ เช่น ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ดินน้ำฟ้าอากาศสะอาดสดใส ไม่อึดอัด ช่วยให้กายใจกระปรี้กระเปร่า จิตผ่องใสเบิกบาน พร้อมที่จะปฏิบัติกิจทำหน้าที่การงาน
๒. เสนาสนสบาย (เสนาสนสัปปายะ, อาวาสสัปปายะ ก็ว่า) มีเสนาสนะหรืออาวาส คือที่นั่งที่นอน ที่อยู่อาศัย เช่น กุฏิ หรือ บ้านเรือน ที่มั่นคง ปลอดภัย ใช้งานดี ไม่มีสิ่งรบกวนหรือชวนรำคาญ
๓. โคจรสบาย (โคจรสัปปายะ) คือ ที่โคจร หมายถึงท้องถิ่น ย่าน ละแวก ที่จะพึงแวะเวียนไปเป็นประจำ เพื่อหาของกินของใช้ สำหรับพระคือที่ไปบิณฑบาต หรือสำหรับชาวบ้าน ได้แก่ ย่านร้านค้า ที่จ่ายตลาด แหล่งอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ไปได้สะดวก แต่ไม่ทำให้พลุกพล่านวุ่นวาย
๔. อาหารสบาย (อาหารสัปปายะ, โภชนสัปปายะ ก็ว่า) คือ มีโภชนาหารเพียงพอ มีรสชาติตามสมควร แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ
๕. บุคคลสบาย (ปุคคลสัปปายะ) คือ ไม่มีคนร้ายโจรขโมยที่จะต้องหวาดระแวง มีแต่คนดี คนมีไมตรี คนที่ถูกกัน คนเหมาะใจที่จะได้พูดคุยพึ่งพาอาศัยกัน มีคนที่เป็นกัลยาณมิตร ท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญา หรือเป็นครูอาจารย์ที่จะได้ไปพบปะสนทนาไต่ถามข้อธรรม ไปซักถามปรึกษาหาความรู้แก้ไขประดาข้อสงสัย
๖. ภัสสสบาย (ภัสสสัปปายะ, ธัมมัสสวนสัปปายะ ก็ว่า) คือ มีการสื่อสารพูดจาได้พูดได้ฟังสนทนาสากัจฉากันในเรื่องราวที่นำให้เจริญจิตใจเจริญปัญญา เกื้อหนุนการศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติให้ก้าวหน้า และฟังเรื่องราวข่าวสารที่เป็นประโยชน์
๗. อิริยาบถสบาย (อิริยาปถสัปปายะ) คือ ในการที่จะเป็นอยู่เป็นไป ได้อาศัย ใช้ประโยชน์จากสบายทั้ง ๖ ข้อที่ว่ามานั้น เราต้องดำเนินชีวิตคืบเคลื่อนไปด้วยอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
เพราะฉะนั้น จึงต้องให้อิริยาบถ ๔ นั้นดำเนินไปด้วยดี คล่องสบาย ไม่ติดขัด โดยรู้จักบริหารอิริยาบถนั้นๆ เช่นว่า ให้สม่ำเสมอ ให้สมดุล เหมาะกับความถนัดของบุคคล และให้เกื้อกูลแก่สุขภาพ แล้วก็ใช้งานให้เหมาะกับปฏิบัติการในการศึกษาเล่าเรียนเจริญภาวนาที่ได้ว่ามา
เป็นอันว่ารวมเป็นสัปปายะ คือ สบาย ๗ ประการ ซึ่งพระได้แนะนำสอนกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาแต่โบราณ จะอยู่ที่ไหน ในกุฎี ที่โรงเรียน สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ก็ให้ได้สบาย ทั้ง ๗ ประการนี้
No Comments
Comments are closed.