- คำนำ
- ปรัชญาการศึกษา ตามหลักพระพุทธศาสนา (มองจากภาคปฏิบัติ)
- — การศึกษาพุทธศาสนา บนพื้นฐานของความรู้แบบตะวันตก
- — หน้าที่ ๒ อย่างของครู
- — ความรู้ประเภทที่ ๑ : สุตศิลปหรือความรู้ที่เป็นอุปกรณ์
- — การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มคิด
- — การคิดอย่างเสรี
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับวัตถุธรรม
- — ตัวอย่างจุดเริ่มต้นของความคิด ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม
- — สรุปจุดเริ่มของความคิด หรือการมองความหมายและการตีค่า ๒ แบบ
- — ความรู้ประเภทที่ ๒ : ปัญญาหรือความรู้ที่เป็นตัวการศึกษา
- — อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมฝ่ายวัตถุธรรม โดยวิถีทางของปัญญา
- — การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยวิถีทางของปัญญา
- — ปัญญาพ่วงด้วยกรุณาในจิตที่มีอิสรภาพ
- — กัลยาณมิตร จุดชนวนความคิด คือให้การศึกษา
- — การจัดการกับตัณหา
- — การศึกษากับแรงจูงใจ
- — ตัวอย่างต่างๆ ของกามฉันทะกับธรรมฉันทะ
- — ตัวอย่างของกามฉันทะและธรรมฉันทะ กับการปฏิบัติคุณธรรมทางสังคม
- — เสรีภาพที่แท้จริงมีอิสรภาพที่แท้เป็นพื้นฐาน
- — พุทธิศึกษาและจริยศึกษา กับ สุตศึกษาและศิลปศึกษา
- — พลศึกษาต้องหยั่งรากลงถึงจิตใจด้วย
- พระพุทธศาสนา กับการพัฒนาการศึกษา
- — ความผิดพลาดของการศึกษาเท่าที่ผ่านมา
- — ปัญหาเกี่ยวกับความหมายและความมุ่งหมายของการศึกษา
- — ความหมายของคำบัญญัติในทางการศึกษา
- — พระพุทธศาสนากับการพัฒนาการศึกษาในแง่เนื้อหาสาระ
- — ความซื่อตรงต่อกฎธรรมชาติ
- — คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม
- — ปัญหาเกี่ยวกับแรงจูงใจ
- — ปัญญากับอิสรภาพ และกรุณา
- — หลักยืนของการศึกษาที่แท้
- — การศึกษากับประชาธิปไตย
- — ศิษย์ในฐานะที่เป็นผลผลิตและที่พิสูจน์สัมฤทธิผลของการศึกษา
อวิชชา – ตัณหา – อัตตา
ทีนี้ ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ พอครูเห็นศิษย์หน้าตาบึ้งบูดมีพฤติการณ์ไม่น่าพอใจ นั่นคือมองเห็นรูปลักษณ์หนึ่งแล้ว รูปลักษณ์นั้นเป็นรูปลักษณ์ที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่น่าพอใจ มันขัดใจเราก็หยุดแค่รูปลักษณ์นั้น แล้วต่อจากนั้น เราก็หันเข้ามาสร้างภาพภายในจิตใจของเราเอง มีรูปลักษณ์นั้นตัวหนึ่งกับตัวเราอีกตัวหนึ่ง ตัวเราไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ถูกขัดใจ ตัวเราถูกกระทบกระแทก บีบคั้น อันนี้มันไม่เป็นที่พอใจของเรา มันเป็นการลบหลู่เกียรติอะไรต่ออะไรของเรา เราก็เกิดความโกรธขึ้น ความคิดที่จะมองต่อที่ศิษย์นั้นหยุดไปเสียแล้ว มีตัวเราเข้าไปแทรกระหว่างความคิดกับปัญหาของศิษย์ ทำให้รูปลักษณ์ของศิษย์เกาะกุมกันเข้า แยกออกไปตั้งเป็นอีกตัวหนึ่งคู่กับตัวเรา แล้วเราก็หันเข้ามาสร้างภาพความคิดภายในจิตใจของเรา เราจะไม่วิเคราะห์ต่อไปถึงรูปลักษณ์ของศิษย์ว่า เบื้องหลังรูปลักษณ์อาการภายนอกของเขานั้น มีปัญหาอะไรแฝงเร้นอยู่บ้าง เราจะไม่วิเคราะห์ปัญหาต่อไป เพื่อเข้าหาความจริงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อันนี้คือจุดสำคัญ เป็นการเริ่มต้นความคิดในวิถีทางของอวิชชา โดยมีตัณหาเป็นพลังขับเคลื่อนและปรุงแต่ง
ทำไมเราจึงเรียกว่าตัณหา คำว่าตัณหานี้เป็นศัพท์วิชาการทางพระพุทธศาสนา มีความหมายลึกซึ้ง ไม่ใช่ความหมายแคบๆ อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปในภาษาไทย ตัณหาหมายถึง ความต้องการที่จะสนองความต้องการของตนเอง การสนองความต้องการตามปกติหรือในขั้นต้น เป็นไปในรูปของความพอใจ อยากจะได้มาปรนเปรอความสุข จากภาวะของจิตใจในแง่นี้ จะมีภาวะตรงข้ามคือความขัดใจหรือไม่พอใจ ซึ่งเป็นตัณหาเช่นเดียวกัน
ตัณหาชนิดที่หนึ่งเรียกว่า กามตัณหา คือความอยากได้เพื่อสนองความต้องการของตนในทางที่พอใจ ทีนี้ ในทางตรงข้าม ถ้าจะมีสิ่งใดมาทำลายเรา ขัดเรา กระทบกระแทกเรา เราก็อยากพ้นไปจากสิ่งนั้นหรือเราอยากจะให้สิ่งนั้นพ้นหูพ้นตาไปจากตัวเรา หรือเราอยากจะให้สิ่งนั้นสูญสิ้นอันตรธานดับสูญไปเสีย ความต้องการชนิดนี้เราเรียกว่า วิภวตัณหา สองอย่างนี้เป็นปฏิปักษ์กัน เมื่อไม่ได้สิ่งที่พอใจก็ได้ในสิ่งที่ขัดใจ มันก็จะปรากฏออกมาในรูปใดรูปหนึ่ง นอกจากตัณหา ๒ อย่างนี้แล้ว ยังมีการที่เราต้องการความยิ่งใหญ่และมีเกียรติ เป็นต้น ต้องการให้ตัวเรามีภาวะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ภวตัณหา
เมื่อมีตัณหา ก็ต้องมีตัวตนที่จะให้ตัณหาสนอง ถ้าเป็นกามตัณหา ก็มีตัวตนที่อยากได้ มีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะได้จะเอา ถ้าเป็นภวตัณหา ก็มีตัวตนที่อยากเป็น มีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะคงอยู่จะได้เป็น จะเทียบฐานะ จะเข้ากระทบและถูกกระทบกระแทก ถ้าเป็นวิภวตัณหา ก็จะมีตัวตนที่อยากจะแยกอยากจะพรากขาดจากกันไปเสีย หรือมีตัวตนที่จะต้องสนองความต้องการในทางที่จะอย่ามาให้เห็น หรือให้หลบหายไปเสีย ตัวตนนี้เรียกว่าอัตตา ตัณหาจึงมาคู่กับอัตตา พอตัณหาเกิด อัตตาก็โผล่ หรือพออัตตาโผล่ ตัณหาก็แสดงบท พออัตตาโผล่ กระแสความคิดก็ชะงัก ถูกดึงเข้ามาพันตัว จำกัดแคบ พอตัณหาแสดงบท ปัญญาที่คิดสืบสาวแล่นไปในปัญหาและเหตุปัจจัยต่างๆ ก็หยุด เกิดการวาดภาพฝันขึ้นมา เพื่อรับใช้สนองความต้องการของอัตตาต่อไป เมื่อปัญญาไม่ทำหน้าที่ ก็เป็นภาวะของอวิชชา
ในกรณีของครูกับศิษย์ที่ว่ามานี้ จะเห็นว่าการเริ่มต้นความคิดเดินมาในวิถีทางของอวิชชาและวิภวตัณหา คือมองรูปลักษณ์ เห็นแค่นั้นแล้วปัญญาหยุด ต่อจากนั้นอัตตาโผล่ ความคิดเดินไปตามบงการของตัณหา คือพอใจ ไม่พอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แล้วก็วาดภาพสนองตัณหาต่อไป เพราะเป็นไปตามที่ได้วิเคราะห์ออกมาอย่างนี้ เราจึงเรียกการมองความหมายในแง่นี้ว่าเป็นวิถีทางของอวิชชาและตัณหา
No Comments
Comments are closed.