- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
ระหว่างนั้น ปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ในการปฏิเสธสังคมอเมริกัน สลัดทิ้งวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม ก็แพร่หลายขยายตัว มีการแสดงออกชัดเจนมากขึ้น เวลาผ่านไป ๑๐ ปี หลังเกิด Beat Generation พอถึงปี 1967 (พ.ศ. ๒๕๑๐) พวกฮิปปี้ (hippies) ซึ่งเริ่มขึ้นที่ซานฟรานซิสโกราว พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้ขยายตัวเป็นขบวนการคนขาวชั้นกลางรุ่นหนุ่มสาว (อายุ ๑๕-๒๕ ปี) เป็นปรากฏการณ์ใหญ่อื้ออึงเซ็งแซ่ในสังคม
ในเดือนสิงหาคม 1967 นั้น นิตยสาร/นสพ. เด่นๆ หลายฉบับ เช่น Time, Newsweek, Life, Look, the New York Times พากันออกฉบับพิเศษหรือพิมพ์รายงานพิเศษเรื่อง “ฮิปปี้” (hippie)
ขบวนการฮิปปี้นี้ จัดกันว่าเป็นวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture, จะเรียกว่าวัฒนธรรมทวนกระแส หรือต้านกระแส ก็เหมือนจะอ่อนไป หรือจะแปลว่าปฏิวัฒนธรรม ก็ตามแต่) เป็นปฏิกิริยาต่อต้านสังคมอเมริกันที่คนรุ่นพ่อแม่มีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม ซึ่งวุ่นวายอยู่กับการหาเงินทองและการแข่งขัน
พวกฮิปปี้ปฏิเสธระเบียบแบบแผนของสังคม ต่อต้านอำนาจและความรุนแรง ละทิ้งวิถีชีวิตของบรรพบุรุษอเมริกัน สร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ของพวกตนที่เป็นอยู่ง่ายๆ รักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติ อยู่กับปัจจุบัน สนใจเรื่องลึกซึ้งทางจิต เรื่องสมาธิ โดยเฉพาะศาสนาตะวันออก เช่น โยคะ และเซน บ้างก็ไปทางโหราศาสตร์หรือไสยศาสตร์ แต่ไปสุดโต่งจนกลายเป็นไม่ทำงานการอาชีพตามปกติ ตั้งชุมชน (communes) ที่อยู่กันอย่างปล่อยตัวทางเพศ เสพติดกัญชาและสารร้ายแรง ในปี 1974/๒๕๑๗ ในเมืองมีราว ๒,๐๐๐ คอมมูน ในชนบท ๑,๐๐๐ คอมมูน มีลักษณะเด่นที่เป็นจุดสังเกตของคนทั่วไปว่า ฮิปปี้มีผมยาว-รองเท้ายาง-เสื้อผ้ายู่ยี่ (คนไทยมักพูดว่า ผมยาว-รองเท้ายาง-กางเกงยีนส์)
พวกฮิปปี้นี้ ด้านหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อการทำสงครามเวียดนาม เคยเป็นพวกกับซ้ายใหม่ (New Left) แต่หันเหออกจากการเมือง จากการเข้าประจัญและรุนแรง มาเป็นสลัดออกและยิ้มให้แก่โลก ให้ถือหลักอหิงสาและเมตตา มีคติว่า “Make love, not war.” ส่วนฮิปปี้ที่เอาเรื่องกับการเมือง ออกโรงต่อต้านสงคราม เรียกชื่อแยกไปเป็นยิปปี้ (yippie) เมื่อเวลาผ่านไปๆ ขบวนการฮิปปี้ ซึ่งไม่มีฐานการจัดตั้งที่มั่นคง ต้องผจญกับปัญหาต่างๆ ในการที่จะดำรงอยู่ ปัจจัยสี่ก็เข้าขั้นจะแร้นแค้นลำเค็ญ ก็อ่อนแรงอ่อนกำลังแล้วก็เลือนรางจางไป ในเวลาใกล้ๆ กับการจบสงครามเวียดนาม (สงครามราว ๒๑ ปี = ๒๔๙๗-๒๕๑๘/1954-75)
แต่กระแสปฏิกิริยาทางสังคมยังไม่จบ ดังที่ว่าแล้ว ปฏิกิริยาละทิ้งวิถีชีวิตและสังคมอเมริกันนี้ ด้านหนึ่งมากับความสนใจเลื่อมใสในหลักความคิดคำสอนที่ฝรั่งเรียกว่าศาสนาตะวันออก อย่างที่พวก Beat มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาแบบเซน แต่ในยุคฮิปปี้และต่อๆ มานี้ ศาสนาตะวันออกที่เข้าสู่อเมริกามาแรงจากอินเดีย คือฮินดูสายหรือสำนักต่างๆ ซึ่ง “คุรุ” (Guru = ครู, คนไทยอ่านว่า “กูรู”) ตัวเจ้าสำนักเองนำจากอินเดีย เอาไปตั้งในอเมริกา
สำนักที่เด่นดังมากอยู่นาน ได้แก่ขบวนการหริกฤษณะ (Hare Krishna, อ่านตามเสียงสวดเป็น หเร กฤษณะ สรรเสริญพระกฤษณะ คือพระนารายณ์) ซึ่งตัวสวามี จากอินเดีย ไปตั้งสำนักขึ้นที่นิวยอร์ก ในปี 1965 ในระยะเวลาใกล้ๆ กันกับที่พวกฮิปปี้เกิดขึ้น และก็ได้พวกฮิปปี้นั่นเองเป็นศิษย์รุ่นแรก
หนุ่มสาวอเมริกันลูกศิษย์หริกฤษณะปรากฏตัวเด่นเห็นกันชัด โดยแต่งตัวอย่างนักบวชฮินดูในอินเดีย ทาหน้าทาตาเขียนสี ผู้ชายโกนหัวไว้หางเปีย รวมกันเป็นกลุ่มๆ ไปยืนตามถนนหนทางหน้าสถานที่สำคัญ หรือที่คนไปชุมนุมกันมาก ผู้หญิงตีฉิ่ง ผู้ชายตีกลอง เต้นลอยหน้าลอยตาสวดสรรเสริญพระนารายณ์ว่า “หเร รามาๆๆๆ”
หลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้มีองค์กรต่อต้านลัทธิอุตริ (anticult organizations) เกิดขึ้น พวกหริกฤษณะถูกเพ่งเล็งเป็นเป้าตั้งแต่ต้น และนับแต่ปี ๒๕๒๐ ก็ถูกกล่าวหามาเรื่อยๆ ว่าทำความผิดฐานล้างสมอง (brainwashing) แต่จนถึงราว พ.ศ. ๒๕๓๕ ในอเมริกาก็ยังมีสำนักหริกฤษณะอยู่ราว ๕๐ แห่ง
สำนักใหญ่สำคัญของคุรุ/Guru ฮินดู จากอินเดีย ที่มีชื่อเสียงใหญ่โต ยังมีอื่นๆ อีก เช่น ท่านศรี รัชนีศ์ (Shree Rajneesh) เข้ามาอเมริกา ในปี 1981 (พ.ศ. ๒๕๒๔) สอนลัทธิฮินดูพิเศษ มีการฝึกสมาธิแบบพลวัต (dynamic meditation) การบรรลุโมกษะหลุดพ้นได้ด้วยความรักเสรี (free love) เวลาผ่านไปปีเดียว ก็มั่งคั่งร่ำรวยมหาศาล ได้ตั้งเมืองใหม่ชื่อ รัชนีศปุระ ขึ้นในรัฐ Oregon แต่อยู่ได้แค่ ๔ ปี ก็ถูกขับไล่ออกจากอเมริกาด้วยโทษฐานฉ้อฉลเกี่ยวกับการเข้าเมือง
สำนักโด่งดังที่ยืนยงอยู่ยาวนาน คือสำนักฝึกสมาธิของมหาฤาษีมเหษโยคี ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า TM (Transcendental Meditation) ซึ่งดาราวงดนตรี the Beatles ได้เข้าไปเป็นศิษย์ มีตัวเลขบอกว่า ถึงราว พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผู้ที่ได้เข้าฝึกสมาธิในสำนักนี้แล้ว ประมาณ ๖ ล้านคน
ทางด้านพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปไม่ค่อยมีเรื่องราวปรากฏ แม้จะมีอาจารย์บางท่านตั้งสำนักเล็กๆ ขึ้นมาสอนสมาธิ สอนวิปัสสนา ก็เงียบๆ ไม่ถึงขั้นที่ตำรับตำราของฝรั่งบันทึกไว้ แต่มีสำนักหนึ่งที่ใหญ่มาก เป็นพุทธศาสนาแบบวัชรยานจากทิเบต โดยพระทิเบตท่านหนึ่ง (Chögyam Rinpoche Trungpa) หนีภัยจีนที่ยกทัพมายึดครองทิเบต ไปอยู่ในอังกฤษ เรียนจบที่มหาวิทยาลัย Oxford แล้ว ในปี 1970/๒๕๑๓ ได้ไปตั้งสำนักสอนฝึกสมาธิ (meditation) ในอเมริกา การสอนสมาธิได้ผล งานขยายใหญ่โตรวดเร็ว ได้ตั้งองค์กรใหญ่ชื่อ Shambhala International ขึ้นมาเป็นหลัก ซึ่งมาถึงปัจจุบันมีศูนย์งานอยู่ในอเมริกาและยุโรปมากกว่า ๑๐๐ แห่ง และได้ตั้งสถาบันนาโรปะ (Naropa Institute) ขึ้นที่รัฐ Colorado ปัจจุบันเจริญขึ้นเป็น Naropa University
ขบวนการใหญ่อีกพวกหนึ่งที่ควรพูดถึงไว้หน่อย เพื่อให้เห็นสภาพสังคมตะวันตกในยุคที่คนเกิดมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดจิตใจครั้งสำคัญ ได้แก่ขบวนการ New Age (ยุคใหม่) พวกนี้เหมือนย้อนกลับไปฟื้นความเชื่อเก่าๆ ขึ้นมา มีโยคะ การเจริญสมาธิ (meditation) ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ การเข้าทรง การบำบัดโรคด้วยวิธีการทางจิต การรักษาสุขภาพแบบองค์รวม การนวด การฝังเข็ม การเล่นแร่แปรธาตุ เรื่องเวทมนตร์ เรื่องชีวิตต่างดาว กังฟู เป็นต้น พวกนี้ขึ้นมากในช่วงปี ๒๕๒๐ เศษ มีคนอเมริกันบอกตัวว่าเป็นชนชาวนิวเอจนี้ ๓ – ๖ ล้านคน มีการทำนายว่าพระศรีอารย์ (Maitreya) จะมาโปรดในปี 1982/๒๕๒๕ แต่ไม่ปรากฏให้เห็นจริง ขบวนการนี้หมดกำลังไปก่อนถึงปี ๒๕๔๐ แต่คนที่มีความคิดความเชื่อหรือสนใจในแนวนี้ยังมีอยู่ทั่วไปในอเมริกา
ทีนี้ มองดูขบวนการที่เด่นดัง ซึ่งเป็นต้นกระแสปฏิกิริยานี้ พวกฮิปปี้นั้นเบื่อหน่ายไม่พอใจสังคมของพ่อแม่ จึงสลัดทิ้งแยกตัวออกไป หันหลังให้สังคมเก่านั้น ไปแสวงหาทางดำเนินชีวิตตามแบบของตัวเองอยู่ต่างหาก
คนพวกนี้ได้แต่หนีออกไป ไม่ได้พยายามแก้ไขสังคมที่ตนว่าไม่ดีนั้น ส่วนพวกยิปปี้แยกตัวออกไปโดยไม่ยอมปล่อย แต่หันหน้าเข้ามาประจัญ ร่วมเรียกร้องสิทธิของคนดำ ฯลฯ ต่อต้านสงครามเวียดนาม เวลาผ่านไปๆ พวกฮิปปี้และยิปปี้ก็อ่อนกำลังจางลง
แล้วกระแสสังคมก็แกว่งกลับไปสุดทางตรงข้าม พอเข้าทศวรรษ 1980s (ช่วงหลัง พ.ศ. ๒๕๒๐) ก็ถึงยุคของพวกยัปปี้ (yuppie) คือคนหนุ่มสาวชาวเมืองรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง มีอาชีพการงานดี ที่ชอบชีวิตโอ่อ่า มุ่งแต่หาเงินทอง ชอบวางโต อวดตัวเด่นโก้ในสังคม ใช้ของหรูหราราคาแพง อวดโก้หรูกันจนรถยนต์บางยี่ห้อได้ชื่อว่าเป็น ‘yuppie’ car
แต่พวกยิปปี้ก็ไม่ยอมลงให้ ถึงกับมีการจัดโต้วาทีกันเป็นชุด ในเรื่อง “Yippie Versus Yuppie” (ยิปปี้ ยัน ยัปปี้) แต่จะอย่างไรก็ตาม ในที่สุด ยุคของฮิปปี้และยิปปี้ก็จบไป สังคมแห่งการแข่งขันและบริโภคนิยมของอเมริกัน ก็นำโลกต่อมา
No Comments
Comments are closed.