- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
ผ่านทศวรรษ 1970s มาแล้ว พลังของวัฒนธรรมสวนกระแส (counterculture) ก็เบาบางจางลง วัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ยืนตัวเป็นกระแสหลัก ก็นำสังคมอเมริกันก้าวต่อมา และไม่นำเฉพาะอเมริกาเท่านั้น แต่พาแทบทั้งโลกตามไปด้วย โดยที่ชาวประเทศล้าหลัง ด้อยพัฒนา และกำลังพัฒนาทั้งหลาย พากันตื่นหูตื่นตารอที่จะตามจะรับความเจริญของประเทศที่เรียกว่าพัฒนาอย่างสูงแล้วนั้น ถ้าอเมริกาที่เจริญพ่วงหลังเอาความเสื่อมหรือปัญหาอะไรติดหรือซ่อนมา พวกที่ตามหลังเอาอย่าง ซึ่งวินัยไม่พอ ตั้งจิตผิดท่า ปัญญาไม่ทัน ก็ได้รับความเจริญที่ฉาบหน้า แต่เอาปัญหาเข้ามาซ้ำเติมตัวเองด้วย แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานกันไป แต่รวมแล้วทั้งพวกที่นำและพวกที่ตาม ก็เหมือนกับร่วมกันบ่อนทำลายโลกที่อาศัยของตัว
เป็นธรรมดาของผู้ปฏิบัติธรรมที่จะแก้ปัญหาของโลก แก้ทุกข์ของมนุษย์ จะต้องรู้ทันสภาพปัญหาหรือสภาวะแห่งทุกข์อันนี้
อย่างที่ว่าแล้ว อเมริกาเจริญรุ่งเรืองมีเศรษฐกิจฟู่ฟ่าขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เฉพาะอย่างยิ่งหลังสิ้นสงครามนั้นในปี 1945/๒๔๘๘
ควรเล่าความย้อนหลังไว้หน่อยว่า เมื่อ ๑๐ ปี (1929/๒๔๗๒) ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น อเมริกาได้วูบเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำฮวบใหญ่ (Great Depression) ซึ่งแผ่ขยายไปยังประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญทั่วโลก
คราวนั้น ผู้คนแร้นแค้น เศรษฐีกลายเป็นยาจก คนฆ่าตัวตายมาก ปีที่ตกต่ำที่สุดคือ 1933 คน ๑๒ – ๑๕ ล้านคนไม่มีงานทำ (ประชากรอเมริกันเวลานั้นราว ๑๒๒ ล้านคน) ธนาคารที่มีทั้งหมด ๒๕,๐๐๐ ล้มไป ๑๑,๐๐๐ แห่ง
สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในปี 1939/๒๔๘๒ เวลานั้น อเมริกายังห่างไกลมากจากสงคราม และเศรษฐกิจของอเมริกาได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีเลย กำลังแรงงานที่ว่างงานลดจาก ๒๕% เป็น ๑๕% แต่พอเริ่มสงครามแล้ว ประเทศที่ทำศึกในยุโรปก็พากันสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากมายจากอเมริกา โรงงานผลิตกันไม่ได้หยุด หมดปัญหาคนว่างงาน แล้วต่อมากลายเป็นขาดแคลนแรงงาน คนดำที่ถูกเหยียดหยามกีดกั้น พากันกดดันเรียกร้องขอให้ได้เข้าทำงาน จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งห้ามกีดกั้น แล้วไม่นานก็มีคนดำร่วมทำงานเกือบ ๒ ล้านคน พอยุโรปทำสงครามกันไปได้ ๒ ปีเศษ อเมริกาก็รวยพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำโดยสิ้นเชิง ซึ่งก็มาถึงเวลาที่อเมริกาเพิ่งเข้าร่วมทำสงครามใหม่ๆ
อเมริกาเข้าร่วมทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้นตอนท้ายปี 1941/๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล คือเมื่อสงครามผ่านเวลามาแล้วราว ๒ ปี ๓ เดือน และจะอยู่ในภาวะสงครามไป ๓ ปี ๘ เดือน จนจบลงเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ ส.ค.1945/๒๔๘๘
ทหารอเมริกันไปรบในดินแดนห่างไกลนอกอเมริกา ประเทศอเมริกาจึงไม่บอบช้ำเสียหายอะไรเลย
เมื่อผู้ชายเป็นทหารไปรบ พวกผู้หญิงแม่บ้านก็ไปเข้าประจำโรงงาน ในยามเร่งร้อนของสงครามนี้ ผลิตเครื่องบินได้ เดือนละ ๔,๕๐๐ เครื่อง รถถังเดือนละ ๔,๐๐๐ คัน เรือรบที่ยามสงบต่อเสร็จใน ๑ ปี ลดเวลาลงมาเสร็จใน ๑๗ วัน ฯลฯ นับเฉพาะปี 1944/๒๔๘๗ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ในการสงครามนั้น ๖๐% ผลิตในอเมริกา
อเมริการบไปจนจบสงคราม เสียทหารตายในสนามรบ ๒๙๒,๑๓๑ คน ซึ่งนับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทหารนานาชาติที่ตายในสมรภูมิทั้งสิ้นประมาณ ๑๙ ล้านคน (ทหารสหภาพโซเวียตตาย ๑๑ ล้านคน มากกว่าทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชาติอื่นทั้งหมดรวมกัน) และถ้านับคนอเมริกันทั้งหมดที่ตายในสงครามใหญ่นี้ ทั้งทหารและพลเรือน ก็ได้จำนวนราว ๔๐๗,๓๑๖ ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับคนทั้งหมดที่ตายในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ ราว ๔๐ – ๕๐ ล้านคน
สงครามจบลงโดยอเมริกาเป็นทั้งผู้ชนะ และเป็นเจ้าหนี้ บ้านเมืองก็ไม่เสียหาย แต่กลับร่ำรวยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ ต่างจากประเทศคู่สงครามทั้งหลาย แม้แต่ที่เป็นฝ่ายผู้ชนะ ซึ่งบ้านเมืองพินาศย่อยยับ แถมเป็นลูกหนี้ ต้องพึ่งอเมริกา เว้นแต่สหภาพโซเวียต ที่แม้จะบอบช้ำอย่างยิ่ง แต่มีดินแดนกว้างใหญ่เหลือเฟือ (ใหญ่กว่าอเมริกา ๒ เท่าครึ่ง คือ โซเวียต 22.4 ล้าน ตร.กม., สหรัฐ 9.37 ล้าน ตร.กม.) ถึงจะเสียไปมาก ก็ไม่ยุบเท่าไร
สหภาพโซเวียตนั้น ได้ผงาดขึ้นมาเป็นคู่ปรปักษ์แข่งอำนาจกับอเมริกา ในโลกที่แยกเป็น ๒ ค่าย คือ โลกเสรี (free world) มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ (communist bloc) มีสหภาพโซเวียต เป็นหัวหน้า เกิดเป็นสงครามเย็น (cold war) ที่ตึงเครียดกันมาราว ๔๐ ปี
แต่พอสงครามเย็นเริ่มต้น ก็ประเดิมด้วยสงครามร้อนที่โหดร้ายรุนแรงขึ้นที่เกาหลี (1950/๒๔๙๓ – 1953/๒๔๙๖) ต่อด้วยสงครามเวียดนามที่ทรหดยืดเยื้อ (1954/๒๔๙๗-1975/๒๕๑๘) แล้วก็มีเรื่องความขัดแย้งและสงครามใหญ่น้อยที่นั่นที่นี่ ที่ ๒ มหาอำนาจต้องเข้าไปดูแลเรื่อยมา จนสุดท้ายประธานาธิบดีของสองประเทศนั้นเอง จึงได้ร่วมกันประกาศจบสงครามเย็นเมื่อใกล้จะสิ้นปี 1989/๒๕๓๒ และในเดือนธันวาคม 1991/๒๕๓๔ สหภาพโซเวียตก็ได้แตกสลายหลุดกันออกไป เหลือเป็นประเทศใหญ่คือ สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) เรียกสั้นๆ ว่า รัสเซีย (มีเนื้อที่ 17 ล้าน ตร.กม.)
หันกลับไปดูอเมริกา อย่างที่ว่าแล้ว ระหว่างสงครามโลก ที่ทหารอเมริกัน ๑๖ ล้านคนไปรบในแดนไกลนั้น ที่อเมริกาเอง บ้านเมืองดี ผู้คนอยู่กันเป็นปกติสุข ได้แต่เฝ้ารอดูรอฟังเครียดกังวลไปกับสถานการณ์สงครามที่ไกลตัวนั้น โรงงานทั้งหลายก็เร่งระดมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งออกไป คนอเมริกันทั้งหลายมีรายได้ดี แต่ไม่มีอะไรจะซื้อหา ก็ได้แต่เก็บเงินสะสมไว้
ครั้นถึงปี 1945/๒๔๘๘ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้นแล้ว ผู้คนที่เก็บสะสมเงินทองกันไว้ ก็พร้อมที่จะจับจ่ายซื้อหาปัจจัยสี่ โรงงานที่ผลิตอาวุธ ก็เปลี่ยนมาผลิตของกินของใช้
เหล่าจีไอ ทหารผ่านศึกอเมริกัน เสร็จการรบในแดนไกล เดินทางกลับมาตุภูมิ รัฐบาลก็ออกกฎหมายต้อนรับ ให้พวกเขาได้สิทธิพิเศษบางอย่างที่จะมีความมั่นคงด้านการเงิน และให้ทุนอุดหนุนการศึกษา เวลานั้น จำนวนผู้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากเป็นสถิติสูงสุดถึง ๒ ล้านคน
คนมากมายเพิ่มประดังกันขึ้นมา เงินทองก็พร้อมจะจ่าย แล้วก็เกิดมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมากมายแถบชานเมือง ทีวี (โทรทัศน์) ที่คิดประดิษฐ์กันมาและถูกสงครามโลกชะลอไว้ ก็สะพรั่งขึ้นมา เทคโนโลยีที่เร่งรัดพัฒนากันขึ้นในการทำสงคราม ก็หันมาใช้ในทางสันติที่จะช่วยให้ผู้คนเป็นอยู่ทำอะไรๆ ได้สะดวกสบาย ตลาดมีของกินเครื่องใช้ให้ความสะดวกสบายวางขายสารพัด การตลาดและธุรกิจโฆษณาคึกคัก คนมีบ้านจัดสรรน่าอยู่ที่ชานเมือง มีรถยนต์ใช้ มีโทรทัศน์ดู พร้อมด้วยเครื่องกินของใช้บริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองเฟื่องฟู ผู้คนอยู่ดีมีความสุขสำราญ อย่างที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็นมาก่อนเลย เว้นแต่คนนิโกร (ต่อมาตั้งแต่ปี 1968/๒๕๑๑ เปลี่ยนเรียกให้รู้สึกดีขึ้นว่า Black/คนดำ) ที่ยากจะเข้าถึงความเจริญนี้
ในยามบ้านเมืองดี ผู้คนสุขสำราญกันทั่วนั้น ครอบครัวทั้งหลายก็เข้าสู่ยุคพิเศษด้วย คือมีเด็กเกิดมากมายเป็นพิเศษ ดังที่ได้ทำสถิติสำคัญไว้ว่า ในช่วงปี 1946/๒๔๘๙ – 1964/๒๕๐๗ มีเด็กเกิดขึ้นมาเพิ่มประชากร ๗๗ ล้านคน และเรียกคนรุ่นนี้ว่า baby boom generation เด็กเหล่านี้เองที่เติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ได้มีความคิดจิตใจแปลกแยกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หันออกไปดำเนินชีวิตทำการต่างๆ ที่เรียกว่าเป็น counterculture เช่นอย่างฮิปปี้/hippies ที่ได้เล่าข้างต้น
No Comments
Comments are closed.