- สังคมไทยกำลังใช้พระพุทธศาสนาเป็นที่ถ่ายทุกข์
- ชาวพุทธจะสอบผ่านหรือไม่ หรือไม่ได้แม้เพียงเป็นบทเรียน
- รู้หลักแล้ว ศาสนาอยู่ที่ตัวเรา ไม่ต้องเอาศาสนาไปแขวนไว้กับใคร
- เห็นกับตา ไม่ต้องถามว่าเชื่อไหม
- พึ่งศรัทธา เพื่อได้ปัญญาที่พาสู่อิสรภาพ
- สงฆ์และหลักการเป็นฐานของบุคคล บุคคลทำสงฆ์ให้งาม เพราะทำตามหลักการ
- สงฆ์และหลักการเป็นมาตรฐาน เพื่อรักษาประโยชน์สุขของแต่ละคน
- ส่วนตัวหมดกิเลสไร้ทุกข์ ส่วนรวมขวนขวายประโยชน์สงฆ์ พระอรหันต์คือแบบอย่าง ทั้งด้านชีวิตและสังคม
- ไม่ให้ความวิเศษหรือความดีพิเศษของบุคคล มารอนประโยชน์สงฆ์และขวางการพัฒนาประชาชน
- แยกให้ชัดระหว่าง พระอริยะ กับผู้วิเศษ
- ฤทธิ์ทำคนให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้
- เร่งคิด และทำให้สัมฤทธิ์ อย่ามัวนอนคอยฤทธิ์ จะผิดหลักชาวพุทธ
- นับถือพระโพธิสัตว์อย่างไร จึงจะไม่ผิดเพี้ยน
- แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์ พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
- พระโพธิสัตว์ทำความดี ด้วยมุ่งในปณิธาน พระอรหันต์ทำความดี เพราะเป็นธรรมดาที่ท่านจะทำ
- พระโพธิสัตว์เป็นยอดสุดของผู้ทำดีด้วยการยึดในความดี เหนือกว่านี้ คือพระอรหันต์ผู้ทำความดีเพราะได้เข้าถึงธรรม
- พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม
- วาสนาดีไม่ยาก มิใช่จะต้องรอจากฟากฟ้าที่ไหน ก็แค่หมั่นฝึกทำอะไรที่ดีๆ ให้ชินไปจนเป็นธรรมดา
- จะก้าวหน้าดีในการปฏิบัติ เมื่อเอาพรตเอาวัตรมาเสริมศีล
- จะพัฒนาได้ผลดี ต้องเป็นคนมีปณิธาน
- บทพิเศษ ๑
- บทพิเศษ ๒
- ภาคผนวก
- บันทึกประกอบ ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒๐
แทนที่จะเสียสละทำความดีอย่างพระโพธิสัตว์
พอเห็นพระโพธิสัตว์เสียสละ ก็เลยไปขอความช่วยเหลือ
ทีนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์มีความหมายเป็นอย่างนี้ คือเป็นผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า โดยบำเพ็ญบารมีอย่างนี้ แล้วท่านตรัสเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาทำไม?
ตอบว่า ก็ตรัสขึ้นมาเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เรา เราจะได้เอาอย่างพระโพธิสัตว์ คือพยายามบำเพ็ญคุณความดีต่างๆ อย่างเต็มที่ ไม่มีความระย่อท้อถอย แม้จะต้องสละชีวิตก็ยอม
อีกข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่ง ไม่ใช่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า เราจะบรรลุสิ่งที่ดีงามประเสริฐ จะเข้าถึงจุดหมายที่สูงสุดได้ เราจะต้องเพียรพยายามเข้มแข็งอดทน เรามีพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่าง เราจะต้องพยายามทำให้ได้อย่างนั้น คือจะต้องเพียรพยายามเต็มที่ ไม่ยอมท้อถอย
คติเดิมที่แท้ก็คือ พระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างให้แก่เราในการบำเพ็ญเพียรทำความดี สร้างปุญญังและปัญญาอย่างเสียสละเต็มที่ดังที่ว่า
พร้อมกันนั้น เราก็จะเกิดมีความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า โอ้ พระพุทธเจ้าของเรานี้ กว่าพระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ต้องบากบั่นเสียสละเพียรพยายามทำความดีมามากมายเหลือเกิน ไม่ใช่จะเป็นได้ง่ายๆ
เมื่อมีความซาบซึ้งในพระคุณของท่านแล้ว ก็จะทำให้เกิดกำลังใจแก่เราในการทำความดี เพราะคนเราที่ทำความดีนี้ บางทีก็ยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ครั้นไปเจออุปสรรคเข้า ก็ท้อถอย บางทีทำไปแล้ว ไม่ได้รับผลที่ต้องการทันเวลาที่ต้องการ ก็เกิดความผิดหวังและท้อใจ บางทีก็ถึงกับร้องทุกข์บ่นคร่ำครวญว่า เรานี่ทำดีไม่ได้ดี อุตส่าห์ทำดีแทบตาย ไม่เห็นได้รับผลดีเลย คนทำชั่วได้ดีมีถมไป หลายคนจะโอดครวญร้องทุกข์อย่างนี้
ทีนี้ พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ไปเห็นประวัติของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็จะเกิดกำลังใจขึ้นว่า โอ.. เราทำแค่นี้จะมาท้อใจอะไร พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมายากเย็นกว่าเรานักหนา ต้องสละแม้กระทั่งชีวิต
พระโพธิสัตว์นั้น บางทีทั้งชีวิตทำดีมาตลอดไม่รู้เท่าไร เขาก็ไม่เห็นความดี เอาพระองค์ไปฆ่าก็มี แล้วเราทำความดีแค่นี้จะไปท้อทำไม พอนึกถึงประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์เพียรบำเพ็ญบารมีมาอย่างนี้ เราก็เกิดกำลังใจเข้มแข็ง สู้ต่อไป
นี่คือคติการนับถือพระโพธิสัตว์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นประโยชน์หลายสถาน
- ให้เกิดความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า
- เป็นเครื่องเตือนใจให้เราระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ ในการพัฒนาศักยภาพของตน
- เป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญคุณความดี ให้มีความเพียรอย่างยิ่งยวด
- ให้เกิดกำลังใจ โดยเฉพาะในยามที่ท้อถอย ทำให้เพียรพยายามต่อไป ยิ่งขึ้นไป ไม่หยุดไม่หย่อน
รวมความว่า พระโพธิสัตว์เป็นแบบอย่างในการทำให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามทำความดีอย่างยวดยิ่ง
แต่ทีนี้ต่อมา คติมันพลิกกลับ แทนที่จะคิดว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ทำความดีมามากมาย เราต้องทำความดีอย่างพระองค์บ้าง พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น เราต้องเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นอย่างนั้นบ้าง คนกลับคิดไปเสียอีกอย่างหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์ท่านเสียสละเพื่อผู้อื่น ท่านคอยช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลาย เรามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า นี่กลับตรงข้ามเลย ใช่ไหม?
ความหมายกลายไปแล้ว เพี้ยนไปแล้ว คติพลิกกลับตรงข้ามไปเลย แทนที่จะทำอย่างพระโพธิสัตว์ ท่านเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นเต็มที่โดยไม่เห็นแก่ตัว เราต้องทำอย่างนั้น แต่กลับพลิกไปว่า พระโพธิสัตว์คอยช่วยเราอยู่แล้ว เราไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราไม่ต้องทำอะไร ได้แต่นอนรอ สบายไปเลย
เป็นอันว่า มันเพี้ยนมาอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นอย่างนี้ไปแล้ว กลายเป็นว่ามีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเรา เพราะฉะนั้น เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า เราก็เลยไม่ต้องทำอะไร ถ้าอย่างนี้ คติพระโพธิสัตว์ก็เพี้ยน สูญเสียความหมายที่แท้จริงไปแล้ว
ฉะนั้น จะต้องเตือนเราชาวพุทธกันให้มาก ว่าหลักพระศาสนากำลังจะเพี้ยนไปหมด ทั้งๆ ที่ตัวหลักเดิมก็อยู่ คำศัพท์เดิมก็อยู่ ชื่อเดิมก็อยู่ แต่ความหมายมันไม่อยู่ แค่นี้ก็ไปแล้ว มันพลิกกันนิดเดียวนี่แหละ
เราพูดได้ว่า พระพุทธศาสนายังอยู่ พระโพธิสัตว์ยังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ ถูก แต่เราไม่ได้นับถือในความหมายที่ถูก พระโพธิสัตว์อยู่ แต่เราไปนับถือเสียอีกแบบหนึ่ง มันกลับตรงข้ามเลย นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัว
No Comments
Comments are closed.