– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

มีกฎหมายไว้จัดการปกครอง
เพื่อทำให้เกิดสังคมดี ที่คนมีโอกาสพัฒนาชีวิตที่ดีงาม

ในทางพุทธศาสนานั้น ฐานเบื้องแรกคือการเริ่มจากจุดที่มองว่า วินัยเป็นเครื่องฝึกมนุษย์ หรือเป็นเครื่องพัฒนาชีวิต เพราะการที่เข้ามาอยู่ร่วมชุมชนนี้ ก็คือการที่จะได้สภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม บรรยากาศ และโอกาสจากระเบียบและระบบการทุกอย่าง ที่จะช่วยเกื้อหนุนการเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตัวเราทุกคนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องฝึกตน พร้อมทั้งเป็นเครื่องช่วยให้ได้สภาพแวดล้อมและระบบการอยู่ร่วมกันที่เอื้อต่อการฝึกตัวนั้น นี่เป็นการมองมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ผู้ต้องศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว

ถึงตอนนี้ ขอให้ย้อนกลับไปมองความหมายข้อที่ ๓ ของวินัย ที่หมายถึงการปกครอง ที่ได้กล่าวไว้ว่า

“ชั้นที่ ๓ คือ ก) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น หรือการชักนำดูแลให้คนใช้ระเบียบและระบบนั้นเป็นเครื่องมือ(ที่จะช่วยกันทำให้สังคมเป็นแหล่งอำนวยโอกาสในการ)พัฒนาชีวิตของตน หรือ

ข) การใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้นเป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือการบังคับควบคุมคนให้เป็นอยู่และประพฤติปฏิบัติดำเนินกิจการตามระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น”

ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่า การปกครองที่แท้ถูกต้องตามหลัก คือข้อ ก) ที่ว่าเป็นการใช้ระเบียบและระบบที่จัดวางขึ้นนั้น เป็นเครื่องมือเสริมสร้างโอกาสให้คนพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการปกครองที่เป็นเครื่องมือของการศึกษา หรือเป็นการปกครองที่เอื้อหรือนำคนให้พัฒนาชีวิตสู่ความดีงาม

แต่คนจำนวนมากมักมองการปกครองตามความหมายในข้อ ๓. ข) ที่ว่า เป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรืออย่างน้อยก็ควบคุมคนให้ปฏิบัติตามระเบียบระบบนั้นๆ ซึ่งเป็นการปกครองแบบเน้นอำนาจ และเป็นการปกครองที่เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง ซึ่งมิใช่เป็นการปกครองที่ถูกต้อง จัดเป็นการปกครองแบบกิจการชำนาญพิเศษเฉพาะทาง ไม่ช่วยเชื่อมโยงไปสู่จุดหมายที่ดีงามสูงขึ้นไป

ถ้าการปกครองเป็นการบังคับควบคุมคนให้อยู่ในระเบียบ กฎหมายก็เป็นเครื่องมือบังคับควบคุมคน

ถ้าการปกครองเป็นการชักนำดูแลช่วยเสริมสร้างโอกาสให้คนฝึกศึกษาพัฒนาตน หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการฝึกศึกษาพัฒนาตนของคน กฎหมายก็เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของคน รวมทั้งเป็นเครื่องมือฝึกศึกษาพัฒนาตนของแต่ละคน

เมื่อเราแยกวินัยออกมาเป็นข้อๆ จะยิ่งเห็นความหมายนี้ชัดเจน วินัยเป็นชื่อรวม ซึ่งอาจจะเทียบได้กับคำว่าประมวลกฎหมาย วินัยไม่ใช้กับข้อบัญญัติแต่ละข้อ บทบัญญัติแต่ละข้อไม่เรียกว่าวินัย บางครั้งเราอาจสับสน วินัยเป็นศัพท์เอกพจน์ ไม่มีการใช้เป็นพหูพจน์ นอกจากแยกเป็นระบบหรือแบบแผนใหญ่ๆ คนละอย่าง เช่น วินัยของภิกษุ และวินัยของภิกษุณี

วินัย คือระบบทั้งหมด ซึ่งต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บนฐานแห่งธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาติ ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ระบบนี้แยกย่อยออกไปเป็นข้อๆ คล้ายกับมาตราในกฎหมาย แต่ละข้อเรียกว่า “สิกขาบท

คำว่า “สิกขาบท” นั้นบอกทัศนะของพระพุทธศาสนาในเรื่องนิติศาสตร์ชัดเจน

สิกขาบท คือ สิกขา + บท บท คือข้อ และ สิกขา คือศึกษา สิกขาบท จึงแปลว่า ข้อศึกษา หรือ ข้อฝึก กฎแต่ละข้อที่บัญญัติขึ้นมาในวินัยเป็นข้อศึกษาทั้งสิ้น

ถ้าพระภิกษุเรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง จะต้องมองกฎหรือพุทธบัญญัติต่างๆ ไม่ใช่เป็นข้อบังคับ แต่ต้องมองในความหมายว่าเป็นข้อฝึกตน หรือเป็นข้อศึกษา คือเป็นสิกขาบท คล้ายๆ กับเป็นแบบฝึกหัด (ในภาษาปัจจุบัน) ข้อกำหนดทุกอย่างในวินัยเป็น สิกขาบท คือข้อฝึกตนทั้งสิ้น

แม้แต่หลักความประพฤติที่ให้คฤหัสถ์ปฏิบัติ ที่เรียกว่า “ศีล” ก็เป็นคำที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ไม่เป็นทางการ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เวลาที่โยมขอศีล จะกล่าวว่า “ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ” แต่เวลาที่พระให้ พระจะสรุปว่า อิมานิ ปัญจะ สิกขาปทานิ, สีเลนะ สุคะติง ยันติ เป็นต้น ซึ่งฟ้องชัดว่า ศีล เป็นคำที่ชาวบ้านเรียก แต่พระเรียกว่า สิกขาบท โยมขอศีล พระให้สิกขาบท (โยมขอศีล พระบอกให้ตั้งใจถือปฎิบัติเอาแล้วจะเกิดเป็นศีลขึ้นในตัวเอง)

ขอให้สังเกตสิกขาบทแต่ละข้อ เช่นว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะเว้นจากการทำลายชีวิต อะทินนาทานา เวระมะณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษาที่จะงดเว้นจากการถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ดังนี้เป็นต้น ทุกข้อเป็น สิกขาบท หมายความว่า พระพุทธศาสนามองมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องศึกษา เพราะฉะนั้น มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้ก็ต้องฝึก ต้องศึกษา สิกขาบททั้ง ๕ ที่เรียกกันว่าศีล ๕ ข้อนี้ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อให้ชีวิตดีงามยิ่งขึ้น ไม่ใช่ข้อบังคับ

เป็นอันว่า วินัยแยกย่อยออกเป็นข้อๆ เรียกว่า “สิกขาบท” นี้คือข้อบ่งชัดว่า เรามองวินัย ตัวบทกฎหมาย บทบัญญัติต่างๆ เป็นเรื่องของการศึกษาหรือการพัฒนาชีวิตของมนุษย์ทั้งสิ้น

เมื่อใดเราปฏิบัติตามสิกขาบทได้แล้ว ตั้งอยู่ในวินัย จึงจะเป็นผู้มีศีล ศีลคือคุณสมบัติของคนที่ปฏิบัติตามวินัย หมายความว่า ศีลเกิดขึ้นที่ตัวคนเมื่อเขาปฏิบัติตามหรือตั้งอยู่ในวินัย

ในภาษาไทยเวลานี้สับสนมาก วินัยกับศีลก็แยกกันไม่ออก ศีลกับสิกขาบทก็ใช้กันสับสน

วินัย คือการจัดตั้งวางระบบและระเบียบแบบแผน กับทั้งตัวบทกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์กติกา ที่เป็นข้อกำหนดในการจัดตั้ง รวมทั้งการจัดการให้คนประพฤติปฏิบัติ หรือให้กิจการดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายเป็นต้นนั้น

เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัย โดยปฏิบัติตามสิกขาบท ก็เป็นผู้มีศีล ศีลจึงเป็นคุณสมบัติของคน เป็นสภาพการฝึกฝนพัฒนาที่อยู่ในตัวคน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า วินัย เป็นระเบียบชีวิตและระบบกิจการของสังคมมนุษย์ ที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยปรีชาญาณที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมคือความจริงของกฎธรรมชาตินั้น และจะได้มีชีวิตที่ดีงาม วินัยจึงต้องตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจในความจริงนั้น และการที่มนุษย์จะเข้าถึงความดีงามนี้ได้ มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนาตน วินัยเป็นเครื่องมือพัฒนา ที่จะนำพามนุษย์ให้เข้าถึงธรรม และได้ประโยชน์จากธรรมนั้น

ถ้ามองเช่นนี้ ก็จะเห็นความหมายของวินัยดีขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.