– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

กฎหมายที่แท้ประสานประโยชน์ของบุคคลกับสังคม
และประสานสมมติของมนุษย์ เข้ากับความจริงแท้ของธรรมชาติ

ขอย้ำว่า วินัยที่เราเรียกว่ากฎหมายนั้น ไม่ถือความเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือความสงบเรียบร้อยเป็นจุดหมาย แต่เป็นการสร้างสภาพเอื้อ คือ เพื่อให้มีความสงบเรียบร้อย ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้บุคคลแต่ละคนมีโอกาสพัฒนาชีวิตสู่จุดหมายที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือ เป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการศึกษานั้นเอง

เพราะฉะนั้น เราจึงพูดว่า การที่มีกฎหมายหรือมีวินัยนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะพัฒนาตน คือพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนต้องศึกษา ไม่ใช่ว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดีได้เลยทันที และยิ่งกว่านั้น ยังมีคุณค่าดีงามสูงส่งขึ้นไปที่ชีวิตมนุษย์ควรจะได้จะถึงยิ่งขึ้นไปๆ อีก

เป็นอันว่า การตั้งกฎเกณฑ์ หรือกติกาสังคมนี้

๑. เพื่อสร้างสภาพที่มนุษย์จะอยู่กันด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นอันดี

๒. เพื่อให้สภาพที่สงบเรียบร้อยนั้น เป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการที่มนุษย์เหล่านั้นทุกๆ คนจะเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป คือเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี

กฎหมายไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อสร้างสภาพเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่สร้างสภาพเอื้อต่อการที่เขาจะพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปด้วย

มองในแง่ของพระพุทธศาสนา ข้อหลังนี้สำคัญกว่า คือการจัดสรรสภาพที่เอื้อต่อการที่บุคคลจะได้พัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เพราะเราถือตามความจริงของธรรมชาติว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก ต้องศึกษา จึงจะสามารถมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

ถ้ามองง่ายๆ เราอาจจะคิดว่า ขอให้กฎหมายสอดคล้องกับหลักศีลธรรมก็แล้วกัน เมื่อคนมีศีลธรรมได้ก็ดีแล้ว คือเรายอมรับว่าศีลธรรมเป็นหลักที่ดีอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ศีลธรรมมีผลปฏิบัติในสังคม เพราะว่าหลักเกณฑ์ของศีลธรรมนั้นไม่มีเครื่องบังคับ อาจจะไม่ได้ผล จึงต้องเอากฎหมายมาช่วย

ยกตัวอย่างเช่น เราถือว่าศีล ๕ ดีแล้ว ถ้าคนประพฤติตามศีล ๕ หมด สังคมก็เรียบร้อย แต่ทำอย่างไรจะให้คนประพฤติตามศีล ๕ นั้น ก็ต้องตรากฎหมาย รัฐก็เอาใจใส่วางกฎเกณฑ์กติกาข้อบัญญัติขึ้นมา เพื่อจะให้ศีลธรรมได้ผล กฎหมายจึงสอดคล้องกับระบบศีลธรรม

แต่ที่จริง ลึกลงไปไม่ใช่เพียงแค่นั้น ศีล ๕ ก็เป็นข้อฝึกคน คือแต่ละข้อเป็นเพียงสิกขาบทเท่านั้น เราจะเอากฎหมายมาบังคับให้คนมีศีล ๕ ยังไม่ถูก แต่ทำอย่างไรจะเอากฎหมายมาช่วยให้คนพัฒนาตนให้มีศีล ๕ หรือสร้างสภาพเอื้อต่อการที่คนจะ(พัฒนาตนให้)มีศีล ๕ เพื่อจะได้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้น เราจะต้องมุ่งในแง่ว่า จะทำอย่างไรให้คนมีโอกาสพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีต่างหาก เราต้องการอันนี้

เมื่อมองในแง่นี้จึงถือว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษา เพื่อให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีชีวิตที่ดี เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง การจัดระบบกิจการอะไรต่างๆ ของสังคมจะมีจุดหมายรวมอยู่ที่นี่

ในเรื่องนี้ สังคมจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในการที่จะต้องมีจุดหมายที่ดีงามชัดเจน ถ้าไม่มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและกำหนดจุดหมายที่ชัดเจนไว้ ก็จะมีจุดหมายที่ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่ออันตราย เพราะอาจจะเป็นจุดหมายที่ไม่เคยนึกถึงและไม่เคยยกขึ้นมาตรวจสอบ และกลายเป็นจุดหมายที่ผิดพลาดก็ได้

ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่ในใจของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ไม่ได้พูดออกมาและไม่ชัดแก่ตนเอง แต่เวลาตัดสินใจทุกครั้ง จะต้องมีความเข้าใจนี้แฝงกำกับอยู่เบื้องหลัง ถ้าความเข้าใจและความมุ่งหมายนี้ไม่ได้รับการพัฒนาและไม่เคยจับยกขึ้นมาตรวจสอบ ก็อาจก่อความผิดพลาดได้ และก็จะกลายเป็นการสร้างผลร้ายแก่สังคมโดยไม่รู้ตัว

เป็นอันว่า เมื่อเราจะสร้างสภาพเอื้ออย่างที่ว่านี้ เราก็จึงจัดตั้งชุมชนขึ้นมา ชุมชนที่มีสภาพเอื้อต่อการศึกษาของคนคืออย่างไร ถ้าใช้ศัพท์พระก็คือ “ชุมชนแห่งกัลยาณมิตร”

หมายความว่า บุคคลที่มาอยู่ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่องค์พระศาสดาหรือผู้นำ เป็นกัลยาณมิตรคือผู้ที่จะช่วยเกื้อหนุนผู้อื่นในการที่จะพัฒนาชีวิตได้ดี ให้เป็นชีวิตที่เจริญงอกงามมีความสุขยิ่งขึ้น พระภิกษุทั้งหลายที่มาอยู่ด้วยกัน ก็คือมาช่วยกัน มาเอื้อต่อกัน มาอุดหนุนกัน ให้แต่ละบุคคลพัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตรขึ้น

ด้วยการกำหนดวางหรือบัญญัติสิกขาบทเหล่านี้ สิกขาบททั้งหลายจึงเป็นทั้งข้อฝึกคน และเป็นเครื่องมือสร้างชุมชนแห่งกัลยาณมิตร ให้บุคคลที่เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นปัจจัยเอื้อต่อกัน ในการเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม ก็คือ เพื่อการศึกษานั่นเอง

เพราะฉะนั้น สังฆะ คือชุมชนนี้ จึงมีประโยชน์ที่จะให้ชีวิตของแต่ละบุคคลได้รับประโยชน์จากสังฆะ เมื่อแต่ละคนได้ประโยชน์จากสังฆะ แต่ละคนนั้นก็ต้องเป็นส่วนประกอบหรือส่วนร่วม ที่จะต้องช่วยเอื้อเฟื้อเกื้อต่อสังฆะด้วยเช่นกัน เป็นการเอื้อต่อกันระหว่างสังคมกับบุคคล ไม่ใช่ข้างเดียว คือ ไม่ใช่บุคคลเพื่อสังคม หรือสังคมเพื่อบุคคล

เราสร้างสังคม/สังฆะขึ้นมา เพื่อให้มีสภาพเอื้อต่อการที่บุคคลนั้นจะพัฒนาตัวได้ด้วยดีสู่การเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม และสังฆะนั้นจะดำรงอยู่ด้วยดี ก็ด้วยการที่บุคคลแต่ละคนนั้นเป็นส่วนร่วมที่ดี เพราะฉะนั้น จึงมีหลักการและบทบัญญัติว่า แต่ละบุคคลจะต้องมีความสัมพันธ์กับสังคม/สังฆะที่เป็นส่วนรวมนั้นอย่างไร และก็จะมีหลักการขึ้นมาอย่างหนึ่งในแง่ที่เกี่ยวกับวินัยว่า พระภิกษุจะต้องถือสังฆะเป็นใหญ่ คือถือส่วนรวมเป็นใหญ่

มีพระดำรัสของพระพุทธเจ้าเองว่า

“เราเคารพธรรม (คือถือหลักการแห่งความจริงความถูกต้องดีงาม ตัวกฎธรรมชาติ) แต่เมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้น เราก็เคารพสงฆ์ด้วย” (องฺ.จตุกฺก.๒๑/๒๑๒๕)

เพราะฉะนั้น เมื่อสังฆะคือชุมชนสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ ตอนแรกพระพุทธเจ้าทรงตั้งสังฆะขึ้น พระองค์ทรงบวชให้แก่ผู้ขอเข้ามาในสังฆะ ด้วยพระองค์เอง ใครต้องการจะเข้ามาในสังฆะ พระองค์ก็ทรงรับเอง ทรงพิจารณาคุณสมบัติเอง แต่เมื่อสังฆะใหญ่ขึ้น พระพุทธเจ้าทรงมอบอำนาจให้สังฆะบวช จึงต้องตั้งกฎเกณฑ์และระเบียบการดำเนินการในการบวชขึ้นมา เช่นว่า

๑. ต้องมีที่ประชุม องค์ประชุมต้องมีภิกษุ ๑๐ รูปขึ้นไป คือกำหนดองค์ประชุม

๒. ตัวผู้ที่ขอบวช ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ๆ

๓. มีวิธีดำเนินการบวช เช่น เมื่อเริ่มการประชุม จะต้องมีภิกษุรูปหนึ่งที่มีสติปัญญาความสามารถ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการประชุม เป็นผู้ซักถามคุณสมบัติของผู้ขอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ทั้งซ้อมข้างนอกที่ประชุม แล้วซักถามเอาจริงในที่ประชุม ให้ที่ประชุมพิจารณาตรวจสอบว่าผู้นี้มีคุณสมบัติที่จะบวชได้หรือไม่ จะยอมรับเข้าสู่สงฆ์ได้หรือไม่

พร้อมนั้นก็ให้มีอุปัชฌาย์เป็นตัวประกันที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์ว่า ผู้ที่เข้ามาบวชนั้นจะได้รับการศึกษาอย่างแน่นอน ไม่เคว้งคว้างเลื่อนลอย

นี้คือการบวช ซึ่งเป็นเรื่องของสังฆกรรม แต่มาปัจจุบันนี้มักเหลือเพียงเป็นพิธี จนกระทั่งผู้ที่เข้าไปร่วมกิจกรรมนั้นไม่รู้ว่าทำอะไรกัน แต่ที่จริงคือการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ

เนื่องจากพระพุทธเจ้าเองทรงให้ถือสังฆะเป็นใหญ่ พระองค์ก็เคารพสงฆ์ จึงทรงมอบอำนาจให้สงฆ์ดำเนินการ เริ่มแต่กำหนดให้มีองค์ประชุมว่า การที่จะทำกิจการระดับนี้ต้องใช้องค์ประชุมเท่านี้ เช่น ถ้าสวดปาติโมกข์ ต้องใช้ ๔ รูปขึ้นไป ถ้ารับกฐินต้อง ๕ รูปขึ้นไป ถ้าจะบวชภิกษุต้อง ๑๐ รูปขึ้นไป ต่อมาก็มีอนุบัญญัติว่าในถิ่นไกลชายแดน ที่เรียกว่าปัจจันตประเทศ หาพระยาก และพระที่จะไปก็เป็นผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาดีพอสมควรแล้ว จึงยอมลดหย่อนให้ว่า ให้องค์ประชุมมีพระเพียง ๕ รูปได้ เป็นต้น

ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องชีวิตของสงฆ์ แต่ข้อสำคัญก็คือ ให้ภิกษุถือสงฆ์เป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพสงฆ์ เพราะฉะนั้นพระภิกษุจะต้องถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่

พระภิกษุ แม้แต่เป็นพระอรหันต์ เมื่อมีกิจการของส่วนรวมเกิดขึ้น ถ้าไม่มาเข้าที่ประชุม ก็อาจถูกลงโทษ มีพระอรหันต์ถูกที่ประชุมลงโทษในประวัติของพระพุทธศาสนาหลายองค์ อย่าได้นึกว่าพระอรหันต์พ้นโทษ ในแง่ของธรรมท่านพ้นโทษคือไม่มีกิเลส แต่ในแง่ของวินัยไม่พ้น

วินัยตั้งอยู่บนฐานของธรรม และเพื่อธรรม แต่แยกออกเป็นคนละเรื่องกัน ธรรมเป็นเรื่องของความจริงแท้ในธรรมชาติ ส่วนวินัยเป็นเรื่องของสมมติเพื่อหนุนธรรม แต่สมมติไม่จำเป็นต้องรอธรรม

คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่ามีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา แต่วินัยไม่รอ วินัยจึงตั้งกรรมสมมติขึ้นมา และนำผู้กระทำความผิดเข้ามาในกลางที่ประชุมและลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจึงจัดการทันที

ในเรื่องนี้ยังมีชาวพุทธที่เข้าใจไม่ค่อยถูกต้องว่า ใครทำกรรมชั่ว เราไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวเขาก็ต้องรับผลกรรมของเขาเอง การมองอย่างนี้แสดงว่าพลาดแล้ว

ในพระพุทธศาสนามีหลักการ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ในเรื่องของสังคม ถ้าผิด วินัยก็จัดการทันที หมายความว่า วินัยมีวิธีดำเนินการเพื่อให้ธรรมสำเร็จเป็นผลในสังคม มิฉะนั้น ในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ การปฏิบัติตามธรรมก็จะคลาดเคลื่อนไป และสังคมก็จะคลาดจากธรรม

อย่างไรก็ตาม จะต้องทำความเข้าใจลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ แท้จริงนั้น ที่พูดว่า “วินัยไม่รอธรรม” เช่น เมื่อมีภิกษุทำความผิด วินัยและสงฆ์จะไม่รอให้กรรมแท้ตามกฎธรรมชาติแสดงผล แต่สงฆ์จะนำเอากรรมสมมติตามวินัยมาใช้จัดการกับภิกษุนั้นทันที การที่พูดอย่างนี้นับว่าเป็นสำนวนพูดในระดับหนึ่ง

จะต้องไม่เข้าใจผิดไปว่ามนุษย์แยกตัวเองพ้นเหนือกฎธรรมชาติได้ เพราะว่าการจัดตั้งต่างๆ โดยสมมติ และปฏิบัติการต่างๆ ในทางวินัยทุกอย่างนั้น แท้ที่จริงก็คือความสามารถพิเศษของมนุษย์ ที่นำเอาปัจจัยในฝ่ายของตนเองเข้าไปเป็นส่วนร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้บังเกิดผลดีแก่มนุษย์ในทางที่ดีงามพึงปรารถนา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัย หรือระบบสมมติทั้งหมด ก็คือการที่มนุษย์นำเอาปัญญาและเจตจำนง ซึ่งเป็นคุณสมบัติธรรมชาติอันวิเศษที่ตนมีอยู่ มาเพิ่มเข้าไปเป็นปัจจัยพิเศษในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ เพื่อให้กระบวนการของเหตุปัจจัยนั้น ดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน โดยสอดคล้องกับปัญญาและเจตจำนงของมนุษย์นั้นเอง

ปัญญา และ เจตนาหรือเจตจำนงที่ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ นั้นก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง แต่เป็นธรรมชาติด้านนามธรรม และเป็นธรรมชาติส่วนพิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการฝึกศึกษาพัฒนาที่เป็นศักยภาพของมนุษย์

พูดสั้นๆ ว่า วินัย คือการนำเอาปัญญาและเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ เข้าไปร่วมเป็นปัจจัยที่จะผันแปรกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ให้เป็นไปในทางที่จะเกิดผลดีแก่ตนในเชิงสังคม

ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา อยู่ที่นี่ ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้คุณสมบัติเหล่านี้ให้เป็นปัจจัย ความเป็นมนุษย์จะมีประโยชน์อะไร

การที่กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากปัญญาและเจตจำนง/เจตนาของมนุษย์ จะเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะชักนำให้กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลายดำเนินไปในทางที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่มนุษย์ตามความต้องการของปัญญาและเจตจำนงได้จริงนั้น ย่อมเป็นข้อเรียกร้องหรือบังคับอยู่ในตัวว่า มนุษย์จะต้องพัฒนาปัญญาและเจตจำนงในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้นำไปสู่ผลที่ต้องการได้จริง

ขอย้อนกลับไปย้ำว่า บุคคลต้องเกื้อหนุนต่อสังฆะ โดยเคารพสงฆ์ คือถือสงฆ์เป็นใหญ่ การที่อยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องส่งเสริมความเข้มแข็งมั่นคงของสังคมหรือสังฆะนั้น แล้วสังฆะจะได้มารองรับหนุนบุคคลนั้นให้เจริญเติบโตขึ้นไปได้ ถ้าสังฆะไม่เจริญมั่นคง ก็จะไม่เอื้อให้บุคคลเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น จึงให้ถือหลักการเรื่องถือสงฆ์เป็นใหญ่และหลักการเรื่องความสามัคคีเป็นสำคัญ ตามหลักที่เรียกว่า “สังฆสามัคคี” แปลว่า ความพร้อมเพรียงของสงฆ์ ถ้าสงฆ์ไม่มีความสามัคคีแล้ว สภาพชีวิตและระบบความเป็นอยู่ก็จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาของบุคคล เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสามัคคี

ขอย้ำเรื่องความสามัคคีอีกหน่อยว่า สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่ หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม (เช่น ขุ.อิติ.๒๕/๑๙๗/๒๓๘) โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย สามัคคีก็คือความพร้อมเพรียงกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า เอกีภาพ (แต่ไทยเรานิยมใช้ว่า เอกภาพ)

โดยทั่วไป เราจะมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของความสามัคคีในแง่ของความมีพลัง คือเป็นการรวมกำลังกัน ตรงข้ามกับความแตกแยกขัดแย้งที่ทำให้สูญสิ้นกำลัง เมื่อสามัคคีกัน คน ๒ คน มารวมกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒+๒ เป็น ๔ แต่ถ้าขัดแย้งแตกแยกกัน คน ๒ คน มาพบกับคนอีก ๒ คน ก็เท่ากับ ๒-๒ เป็น ๐

คุณค่าแท้ของสามัคคีที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานของวินัยและประชาธิปไตย ก็อย่างที่กล่าวข้างต้น คือ ทำให้สังคมเกิดมีคุณประโยชน์ตามความหมายของมัน โดยเป็นสภาพเอื้ออำนวยโอกาสแก่ทุกคนที่จะดำรงชีวิตของตนอยู่ด้วยดี สามารถพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าถึงประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป

แต่ลึกลงไปอีก คุณค่าและความหมายของสามัคคีที่มักไม่ได้นึกถึงกัน ก็คือ สามัคคีเป็นฐานรองรับสมมติไว้ ถ้าไม่มีสามัคคี สมมติก็อยู่ไม่ได้ อารยธรรมก็สั่นคลอน เพราะสังคมมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยสมมติ และสามัคคีก็รองรับสมมติไว้ โดยทำให้คนยอมรับตามสมมตินั้น

ถ้าคนไม่สามัคคีกัน ก็จะเกิดการไม่ยอมรับตามสมมติ เช่น ไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นหรือของคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน ไม่ยอมรับสิทธิต่างๆ ของคนพวกอื่นฝ่ายอื่น ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย จึงทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายระส่ำระสาย จนถึงอาจจะทำให้สังคมดำรงอยู่ไม่ได้

ในทางกลับกัน ถ้าสมมติไม่ตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม หรือไม่เป็นไปตามธรรม ก็จะทำให้คนทะเลาะวิวาทกัน ไม่สามารถร่วมจิตร่วมใจกัน และยอมรับสมมตินั้นไม่ได้ แล้วความขัดแย้งแตกสามัคคีก็จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นไปอย่างรุนแรงหรือแพร่หลาย ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมสลายของสังคม

จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ที่จะให้สมมติที่เป็นหลักของสังคมตั้งอยู่บนฐานแห่งธรรม และเป็นไปโดยชอบธรรม เพื่อให้เกิดความสามัคคี แม้หากว่าสมมตินั้นขัดต่อผลประโยชน์ของบุคคลบางคน แต่ถ้าสมมตินั้นชอบธรรม มีธรรมเป็นฐานรองรับ เขาก็ไม่อาจปฏิเสธสมมตินั้นได้ พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการพัฒนาคนอยู่เสมอเพื่อให้ร่วมสามัคคีในการที่จะยอมรับและปฏิบัติตามสมมติที่ชอบธรรมนั้นๆ

ถ้าคนไม่ยอมรับความจริงในธรรมดาของธรรมชาติ เขาก็จะได้รับผลร้ายตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ แต้ถ้าเขาไม่ยอมรับสมมติ เขาก็จะแตกสามัคคีกันในสังคมมนุษย์เอง และผลร้ายก็เกิดแก่เขาเนื่องจากความแตกสลายของสังคมของเขานั้น

พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องสามัคคี ในทางสังคมนั้น นอกจากบัญญัติสิกขาบทแล้ว ก็มีหลักการในด้านธรรมที่จะอุดหนุนวินัยด้วย พร้อมทั้งในทางวินัยก็ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นมาเพื่อสร้างความสามัคคี

ดังนั้น ถ้าพระเกิดทะเลาะกันขึ้นจึงต้องมีวิธีระงับอธิกรณ์ คือ ดำเนินคดี เพื่อตัดสินความผิด และลงโทษกัน ให้เสร็จสิ้นไป ไม่ให้ต้องรออยู่อย่างนั้น และถ้ามีคดีเกิดขึ้นแต่ไม่ดำเนินการ ก็ต้องเอาผิดกับพระที่ไม่ดำเนินการอีก จะไปอ้างว่ารอให้กรรมจัดการ ไม่มีทาง วินัยไม่รอด้วย วินัยก็มีกรรมที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที (ดูเรื่องสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงนิคคหกรรมจำนวนมาก ในพระวินัยปิฏก)

เป็นอันว่า กรรม มี แบบ คือ

๑. กรรมในธรรม ที่เป็นกฎธรรมชาติ

๒. กรรมในวินัย ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยสมมติ

ในทางวินัย ถ้าพระทำผิด ชุมชนคือสงฆ์ ก็มีกรรมสมมติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นสิกขาบท ที่จะนำมาใช้จัดการได้ทันที และต้องจัดการโดยไม่รอกรรมในกฎธรรมชาติ

ทั้งนี้เพราะว่า ถึงตอนนี้ เราได้นำเอากรรมสมมติ ที่เกิดจากปัญญาและเจตนาของมนุษย์ มาเป็นปัจจัยร่วมที่เพิ่มเข้าไปเป็นกรรมในกฎธรรมชาติด้วยแล้ว

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.