– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

กฎมนุษย์ต้องไม่แปลกแยกจากกฎธรรมชาติ

ตอนนี้เรากลับมาพูดเรื่องธรรมกับวินัยอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันว่า เรามีความจริงตามธรรมชาติที่เรียกว่า ธรรม กับการจัดตั้งของมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติ

ข้อสังเกตสำคัญในที่นี้คือ เรื่องวินัยและเรื่องกฎหมายนี้เป็นเรื่อง “สมมติ” แต่สมมติไม่ใช่เรื่องเหลวไหล สมมติเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในภาษาไทยเราใช้คำนี้ในความหมายที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ในภาษาพระ สมมติเป็นเรื่องใหญ่ ถึงกับจัดเป็นสัจจะประเภทหนึ่ง

ในทางพุทธศาสนามีหลักว่า สัจจะ มี ๒ อย่าง คือ

๑. สัจจะที่เป็นความจริงแท้แน่นอนมีอยู่ในธรรมชาติ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ (สัจจะโดยเนื้อแท้) และ

๒.สัจจะที่เป็นความจริงตามความตกลงยอมรับร่วมกันของหมู่มนุษย์ เรียกว่า สมมติสัจจะ (สัจจะโดยสมมติ)

ตามหลักสัจจะสองอย่างนี้ เราก็มีกฎธรรมดาของธรรมชาติ กับกฎสมมติของมนุษย์ ธรรมเป็นกฎธรรมชาติ เพราะมันเป็นความจริงแห่งความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายตามธรรมดาของมัน ส่วนกฎหมายนี้เป็นกฎมนุษย์

ควรทราบว่า กฎธรรมชาติ กับกฎมนุษย์นี้ สัมพันธ์กันอย่างไร

มนุษย์เราตามปกติจะทำกิจกรรมใดก็ตาม ย่อมมีความมุ่งหมาย คือต้องการผลของมัน เราต้องการผลสักอย่างหนึ่ง เราก็ทำกิจกรรมที่เป็นเหตุให้ได้ผลนั้น อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เมื่อยังไม่มีการจัดตั้งวางระบบสังคมขึ้นมาก็ดำเนินชีวิตอย่างนั้น ทำไปตามธรรมชาติ ผลที่เกิดตามเหตุในธรรมชาตินั้น ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเขาไม่รอให้ต้นไม้มันงอกเอง เขาจะทำอย่างไร เขาก็ปลูกต้นไม้ เช่นเอาเม็ดมะม่วงมา แล้วเขาก็ขุดดิน เอาเม็ดมะม่วงลง กลบดินแล้วก็รดน้ำเป็นต้น เมื่อปลูกต้นไม้มากๆ ก็เรียกว่าทำสวน

การทำสวนนี้เป็นเหตุ และจะทำให้เกิดผลคือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุและผลตามกฎธรรมชาติ พูดย้ำว่า การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล นี้เป็นความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรม

เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เราก็จัดตั้งระบบแบบแผนขึ้นในสังคมแล้วมีวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา เราบอกว่าเราต้องการให้มีสวนดอกไม้สวยงามที่นี่ เราก็ใช้ระบบระเบียบในสังคมมาช่วยให้มีสวนตามที่ต้องการ โดยให้คนๆ หนึ่ง หรือจำนวนหนึ่ง มาทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยเฉพาะให้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงใยเรื่องอื่น เราก็จ้างคนมาทำสวน และเราก็ให้เงินเดือนเขา

ในสังคมที่มีอารยธรรมแล้วก็จะมีการปฏิบัติเช่นนี้ แทนที่ว่าทุกคนจะต้องไปทำสวนเอง เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนขึ้น มีการตั้งเงินเดือนและบอกว่าคุณมาทำสวน ฉันจะให้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็เกิดมีกฎของมนุษย์ขึ้นว่า การทำสวนเป็นเหตุและการได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล เป็นกฎขึ้นมาให้เห็นเหตุเห็นผลจริงๆ คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล ไม่มีใครเถียง เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ

แต่ถามอีกชั้นหนึ่งว่า จริงแน่หรือไม่? การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้จริงแท้หรือไม่ ตอบว่าจริงในระดับหนึ่งเท่านั้น ที่แท้แล้วไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเกิดขึ้นมีที่ไหนในโลก ไปขุดดินทำสวนแล้วเงินเกิดขึ้นมา ๕,๐๐๐ บาทเป็นไปได้ที่ไหน ที่แท้นั้นกฎนี้เป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาโดยการ “สมมติ”

สมมติ แปลว่า มติร่วมกัน มาจากคำว่า สํ (ร่วมกัน) + มติ (การยอมรับหรือตกลง) เพราะฉะนั้น สมมติจึงแปลว่า ข้อตกลงร่วมกัน หรือการยอมรับร่วมกัน

กฎของมนุษย์ที่ว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี้ เป็นกฎที่ตั้งอยู่บนสมมติ คือการยอมรับร่วมกัน ถ้าสมมติคือการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อใด กฎนี้จะหายไปทันที เช่น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ การทำสวนก็ไม่เป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทก็ไม่เป็นผล

เพราะฉะนั้น กฎที่ว่านี้จึงไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลที่แท้จริงในธรรมชาติ แต่เป็นกฎที่จัดวางกันขึ้นด้วยการตกลงยอมรับร่วมกันคือการสมมติของมนุษย์เอง จึงเรียกว่าเป็น กฎของมนุษย์ หรือ กฎมนุษย์

อารยธรรมของมนุษย์ได้สร้างกฎทำนองนี้ขึ้นมามากมาย เพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยดี แต่ทั้งนี้เราจะต้องถามให้เกิดความชัดเจนทางปัญญาว่า ในการจัดตั้งวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นนี้ ที่แท้จริงนั้นมนุษย์ต้องการอะไร

การที่เราวาง กฎมนุษย์ ขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุให้ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนั้น ผลแท้จริงที่เราต้องการ คือผลตามกฎธรรมชาติ ได้แก่ ความเจริญงอกงามของต้นไม้ อันนี้แน่นอน เราจึงเห็นความจริง ๒ ชั้น คือมีกฎ ๒ ชั้น ซ้อนกันอยู่

การทำสวนอันเดียว มีความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎซ้อนกันทีเดียว ๒ กฎ คือ

๑. กฎธรรมชาติ ที่เป็นธรรม เป็นไปตามธรรมดาของเหตุปัจจัย คือการทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล

๒. กฎมนุษย์ ที่เป็นกฎสมมติ เกิดจากมติร่วมกัน คือ การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท เป็นผล

สองกฎนี้มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะ ถ้าไม่มีความจริงตามกฎธรรมชาติ คือ ธรรม ที่ว่าการทำสวนเป็นเหตุและต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผลแล้ว การวางกฎมนุษย์ที่เรียกว่า วินัย คือทำสวน ๑ เดือนได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ก็ไม่มีความหมายอะไร

แท้จริงนั้น การที่เราวางกฎสมมติของมนุษย์ ก็เพราะเราต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ถ้าเราไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้วเราจะวางกฎมนุษย์ให้คนทำสวนได้เงินเดือนไปทำไม ทั้งนี้หมายความว่า เราวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้น ก็เพื่อสนับสนุนการทำเหตุที่จะให้เกิดผลแท้จริงตามกฎธรรมชาตินั้นเอง

ขอย้ำว่า วินัย คือการจัดตั้งวางระบบจัดระเบียบและวางกฎสมมติขึ้นมานี้ เป็นความสามารถพิเศษอันเลิศของมนุษย์ ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมของพวกตนได้ประโยชน์มากที่สุดจากธรรม คือความจริงของธรรมชาติ และการวางกฎสมมติของมนุษย์ขึ้นมา ก็เพื่อช่วยหนุนให้เกิดความมั่นใจที่จะได้ผลที่ต้องการตามกฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่า สิ่งต้องการที่แท้คือความเป็นจริงตามธรรม

เรื่องที่พูดมานี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แท้จริงนั้นเราต้องการผลจริงๆ ตามกฎธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ยังเข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงนี้ และยังโยงสัมพันธ์กฎสมมติของมนุษย์เข้ากับกฎธรรมชาติที่ซ้อนรองรับอยู่ได้ คือไม่ลืม ไม่มองข้ามผลที่ต้องการที่แท้จริง ชีวิตและสังคมมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ด้วยดี แต่เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาอารยธรรมออกไปๆ มนุษย์จำนวนมากก็ได้แปลกแยกจากธรรมชาติไปเสีย และพากันหลงสมมติ

หลงสมมติ คือติดอยู่ในกฎสมมติของมนุษย์ ไม่เข้าถึง หรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

ถ้าความแปลกแยกจากธรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ความวิปลาสทั้งของชีวิตและสังคมก็จะเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที เช่น คนทำสวนทำงานเพื่อต้องการเงินเดือนอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำให้เกิดผลตามกฎธรรมชาติ คือ การทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม

เพราะฉะนั้นจะต้องถือว่า การเข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติหรือธรรมนี้ จะต้องเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา ถ้ามนุษย์แปลกแยกจากความจริงหรือธรรมนี้เมื่อใด การดำเนินชีวิตของเขาจะวิปริตทันที และสังคมก็จะไม่ได้รับผลที่ต้องการ ลองคิดดูว่า ถ้าคนสวนมาทำสวนด้วยต้องการเงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท และไม่ต้องการผลที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ อะไรจะเกิดขึ้น และเรื่องนี้จะมีผลโยงไปถึงเรื่องอื่นทั้งหมด ซึ่งจะยังไม่พูดถึงในที่นี้ เพียงแต่ขอยกขึ้นมาพูดไว้เป็นตัวอย่าง

อนึ่ง การหลงสมมติเป็นโทษภัยแก่มนุษย์ฉันใด การไม่ยอมรับสมมติที่บัญญัติจัดวางขึ้นโดยชอบธรรม ก็เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตและสังคมของมนุษย์เองด้วยฉันนั้น เรื่องนี้จะได้พูดกันต่อไปข้างหน้า

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.