– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

ถึงจะพัฒนาระบบขึ้นมาหลากหลาย
ทุกระบบต้องลงกันได้บนฐานหนึ่งเดียวแห่งธรรม

ดังได้กล่าวแล้วว่า กฎของมนุษย์คือวินัย ต้องอิงอยู่บนความจริงของธรรมชาติคือธรรม และมีไว้ก็เพื่อเข้าถึงและได้ประโยชน์จากกฎธรรมชาตินั่นเอง ความหมายของวินัย ซึ่งรวมทั้งกฎหมายก็อยู่ที่นี่

แต่ตามที่กล่าวแล้วว่า วินัยคือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนที่เป็นสมมตินี้ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่ไม่มีในหมู่สัตว์อื่น มนุษย์มีความสามารถพิเศษเช่นนี้ จึงสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมาได้ โลกของมนุษย์จึงเป็นแดนของสมมติ

แต่มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อเราบอกว่า ธรรม (คือความจริง เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้นนี้) เป็นฐานของวินัย (คือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนกฎเกณฑ์กติกาในสังคมมนุษย์ทุกอย่าง) เพราะฉะนั้น การที่จะให้กฎของมนุษย์ได้ผลจริง ระบบต่างๆ จึงต้องประสานโยงถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว

เวลานี้ เมื่อมนุษย์เรามีอารยธรรมเจริญมากขึ้น เราก็มีการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมมากขึ้น โดยแยกเป็นระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมืองการปกครอง และระบบสังคมด้านต่างๆ มากมาย

การที่เรามีระบบเหล่านี้จัดแยกออกไปเป็นหลายด้าน ก็เพื่อให้มีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ และในการที่จะศึกษาได้ลึกละเอียด แต่ที่จริงนั้นกฎธรรมชาติคือความจริงที่รองรับระบบเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นความจริงอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้กฎมนุษย์ ซึ่งหมายถึงระบบแบบแผนต่างๆ ในสังคมมนุษย์ ได้ผลอย่างแท้จริง ระบบเหล่านั้นจะต้องประสานเป็นอันเดียวกันได้ บนฐานแห่งความเข้าใจในความจริงตามกฎธรรมชาติที่เป็นหนึ่งเดียวนั้น

ปัญหาของโลกมนุษย์ในปัจจุบันนี้ก็คือ มนุษย์ต่างคนต่างคิดและวางระบบตามความคิดที่แยกส่วนแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้านๆ ของตน ทำให้มีระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบการเมืองการปกครองเป็นต้น หลายรูปหลายแบบ โดยที่ระบบเหล่านี้ตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง และมนุษย์ยิ่งเจริญขึ้น ก็ดูเหมือนว่าระบบและทฤษฎีต่างๆ จะยิ่งแยกเป็นเฉพาะส่วนเฉพาะด้านออกไปๆ และก็ยิ่งไม่ชัด หรือถึงกับไม่คำนึงว่าทฤษฎีเหล่านั้นได้เข้าถึงธรรมคือความจริงในกฎธรรมชาติหรือไม่

ทฤษฎี ก็คือการพยายามที่จะเข้าถึงความจริงที่เรียกสั้นๆ ว่า ธรรม นั้น และจากทฤษฎีก็ไปจัดโครงสร้างวางระบบตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นในสังคม แต่ถ้าทฤษฎีไม่เข้าถึงธรรมคือความจริง ระบบที่เขาจัดตั้งขึ้นบนฐานของทฤษฎีนั้น ก็ไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืน คือไม่สามารถสร้างผลสำเร็จตามที่ต้องการได้ และจะเป็นระบบที่ไม่ยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระบบต่างๆ ในสังคมเดียวกันตั้งอยู่บนฐานของทฤษฎีคนละอย่าง ต่อมาระบบเหล่านี้ก็จะขัดแย้งกัน เช่น ระบบเศรษฐกิจไปทางหนึ่ง ระบบการเมืองไปทางหนึ่ง ระบบทางสังคมอย่างอื่นๆ เช่นระบบการจัดการศึกษาไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งคิดว่าสภาพในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ด้วย และเมื่อเป็นอย่างนั้น ระบบต่างๆ ก็จะขัดแย้งกันบ้าง ชักพาไขว้เขวไปคนละทิศละทางบ้าง ตัวมนุษย์เองมีความขัดแย้งกันในระบบบ้าง แล้วการดำเนินชีวิตและกิจการของมนุษย์ก็จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น

ตัวอย่างง่ายๆ ในปัจจุบันนี้ก็คือ แม้แต่ระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองการปกครองก็เป็นปัญหากันอยู่ ระบบเศรษฐกิจหนึ่งก็จัดตั้งขึ้นตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์หนึ่ง ซึ่งเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงความจริงของธรรมชาติในด้านหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าได้เข้าถึงความจริงหรือไม่ ซึ่งก็รอไม่ได้จึงต้องปฏิบัติกันไป เมื่อตกลงว่าเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบนี้ ก็จัดระบบเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อมาทางด้านการปกครองก็มีทฤษฏีการปกครอง เช่น แนวคิดประชาธิปไตย เป็นต้น ซึ่งนำมาใช้เป็นฐานในการจัดระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ในเมื่อระบบเศรษฐกิจกับระบบการปกครองมาจากฐานแห่งทฤษฎีคนละฐาน แล้วจับมาประสานกัน ปรากฏว่าฝ่ายสังคมนิยมก็อ้างว่า พวกตนก็ใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย และอ้างว่าระบอบประชาธิปไตยแบบของตนเป็นประชาธิปไตยที่แท้ เช่น เป็นประชาธิปไตยของประชาชน ส่วนอีกสังคมหนึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ก็อ้างว่าพวกตนใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แล้วสองฝ่ายนี้ก็เถียงกันว่าของใครเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ของใครจะนำสังคมไปสู่สันติสุขได้จริง

เวลานี้ฝ่ายทุนนิยมเสรีชนะ ก็นำระบบสองด้านนี้มาผนวกกันว่าในด้านเศรษฐกิจใช้ระบบทุนนิยมแบบตลาดเสรี (free-market economy) ส่วนในด้านการปกครองใช้ระบบประชาธิปไตย (democracy) และบอกว่าต้องใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมจึงจะดีที่สุด จึงผนวกสองคำนี้เป็น free-market democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี ซึ่งทำให้บางคนอาจจะหลงเพลินไปว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วต้องเป็นตลาดเสรี คือต้องเป็นทุนนิยม

ท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ความขัดแย้งในตัวระบบเองก็อาจจะมีอยู่ และที่สำคัญคือ ฝ่ายหนึ่งจะครอบงำอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น แนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เข้ามาครอบงำแนวคิดของประชาธิปไตย ทำให้มองความหมายของหลักการของประชาธิปไตย ไปตามอิทธิพลของแนวความคิดทางเศรษฐกิจ ดังที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ว่า การตีความหมายของความเสมอภาคและเสรีภาพ เป็นการตีความหมายแบบทุนนิยม คือ ใต้อำนาจของระบบเศรษฐกิจแบบสนองความต้องการผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งพูดสั้นๆ ว่าเป็นการมองความหมายแบบแบ่งแยกและแก่งแย่ง

เพื่อความชัดเจน ขอยกตัวอย่างนิดหน่อย เสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการที่บุคคลมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพ เช่น สติปัญญา ความสามารถของตนออกไปเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นความหมายเชิงร่วมมือและเอื้อต่อกัน แต่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยม เสรีภาพเน้นความหมายในแง่ของการที่จะได้ผลประโยชน์ตามที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ความเสมอภาค (สมภาพ หรือสมานภาพ) ที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย เน้นความหมายในแง่ของการมีส่วนร่วมอย่างเสมอหน้ากัน เช่น เสมอในสุขและทุกข์ คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ไขปัญหา แต่ภายใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความเสมอภาคเน้นความหมายในแง่ของการเพ่งจ้องผลประโยชน์ว่า ถ้าเขาได้ ๕๐๐ ฉันก็ต้องได้ ๕๐๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นความหมายเชิงแบ่งแยกและแก่งแย่ง

ว่าโดยสรุป สภาพเช่นนี้ก็คือการที่มนุษย์ยังไม่มีความสามารถ ที่จะประสานระบบการต่างๆ ของมนุษย์ให้เข้าถึงและสอดคล้องกับหลักความจริงของธรรมชาติได้ ถ้ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนี้ หลักการและระบบต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้ง จะต้องประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่บนฐานของความจริงนี้ ความสำเร็จอยู่ที่นี่ ถ้ามิฉะนั้นจะไม่มีทางสำเร็จผลดีได้จริง และไม่ยั่งยืน

เพราะฉะนั้น การที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองการปกครองเป็นต้นของมนุษย์จะแก้ปัญหาได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ว่ามนุษย์จะเข้าถึงตัวธรรมคือความจริงได้เพียงใด แต่ขณะนี้เป็นการพูดถึงหลักการให้เห็นว่า มนุษย์จะจัดตั้งวางระบบแบบแผนอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นจะต้องมาจากฐาน คือ การรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย แล้วจึงจัดตั้งวางระบบทางสังคมขึ้น ซึ่งจะนำมาจัดแยกเป็นระบบย่อยๆ อย่างไรก็ได้ และถ้าทำได้สำเร็จ ก็คือความสามารถพิเศษสองชั้นของมนุษย์ ที่ว่านอกจากมีปัญญาเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คือธรรม ซึ่งนับว่าเลิศประเสริฐขั้นที่หนึ่งแล้ว ยังก้าวสู่ขั้นของวินัย ต่อไปด้วย คือสามารถเอาความรู้ในความจริงหรือธรรมนั้น มาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมขึ้นอย่างประสานสอดคล้องได้สำเร็จ

จะเห็นว่า กฎหมาย นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์หรือความประพฤติเท่านั้น แต่เป็นเครื่องกำหนดการจัดวางระบบ และกำหนดกิจการต่างๆ ของสังคมว่าจะทำอย่างไรกันด้วย เพราะฉะนั้น วินัย จึงไม่ได้มีความหมายแคบๆ อย่างในภาษาไทย คือ วินัยไม่ใช่เป็นเพียงระเบียบความประพฤติของคนเท่านั้น แต่วินัย หมายถึงระบบการจัดสรรสังคมทั้งหมด การจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ การจัดระเบียบกิจการของสังคม ซึ่งจะให้เป็นอย่างไรก็ต้องมีกติกา มีข้อกำหนดที่ให้หมายรู้ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เพราะฉะนั้น กฎหมาย จึงครอบคลุมความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการทั้งหมดของสังคมมนุษย์ (ในขอบเขตของประเทศหนึ่งๆ เป็นต้น) กิจการด้านเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวบ่งบอก การปกครองจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็เป็นตัวกำหนด การดำเนินชีวิตของบุคคลจะมีขอบเขตแค่ไหน คนจะสัมพันธ์กันภายในขอบเขตอย่างไร กิจการใดจะดำเนินไปอย่างไร กฎหมายก็จะก้าวเข้าไปคุมทั้งหมด

ดังนั้น วิชากฎหมาย จึงครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างในการดำเนินชีวิต และกิจการทุกอย่างของสังคม และจึงมีทั้งกฎหมายที่คุมคน คุมความประพฤติของคน และกฎหมายที่วางระบบกิจการที่ดำเนินการโดยคน คือเรื่องของคนที่อยู่ในสังคมนี้กฎหมายคุมหรือครอบคลุมหมด

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นมาถึงบัดนี้ คำที่ว่า กฎหมายครอบคลุมกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์(ในสังคม)นั้น เพียงแต่ดูคล้ายจะเป็นจริงเท่านั้น แต่หาได้เป็นจริงแท้ไม่

ที่ว่าดูคล้ายจะเป็นจริง หมายความว่า เราอาจจะมีกฎหมายสำหรับกิจกรรมและกิจการทุกอย่างในสังคมมนุษย์ ครบทุกอย่าง แต่ที่ว่าไม่จริงแท้ก็คือ กฎหมายเหล่านั้นก็คุมกิจกรรมและกิจการด้านนั้นๆ แต่ละอย่างแต่ละด้านเท่านั้น เป็นเอกเทศจากกัน ยังหาได้มีกฎหมายที่เชื่อมโยงประสานกิจกรรมและกิจการทุกด้านเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในระบบอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างครอบคลุมทั่วทั้งหมดไม่

ในสังคมที่สมบูรณ์ จะต้องมีกฎหมายหรือวินัยใหญ่อันหนึ่งที่จะทำหน้าที่นี้ คือ เป็นที่ประมวลประสานระบบย่อยทุกอย่างของสังคม ให้เข้ามาอยู่ในระบบสัมพันธ์ใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งหมดอันเดียวกัน อย่างกลมกลืนและเกื้อหนุนกัน โดยโยงเข้ากับความจริงพื้นฐานอันเป็นหนึ่งเดียวของระบบแห่งธรรมดาของธรรมชาติ

รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นตัวอย่างของระบบสมมติที่ก้าวเข้ามาขั้นหนึ่งสู่การที่จะเป็นกฎหมายใหญ่ที่ครอบคลุมนี้ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมจริง

โลกยุคที่ผ่านมา เป็นโลกที่มีอารยธรรมบนฐานความคิดแบบแบ่งซอยแยกส่วน ที่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทาง และการพัฒนาทั่วโลกก็อยู่ในขั้นของการเน้นความเจริญเติบโตขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ การปกครองและกฎหมายต่างๆ ก็หันไปใส่ใจกับด้านเศรษฐกิจนี้มาก กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องราวและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจจึงมีมากมายเป็นพิเศษ

แต่บัดนี้โลกได้สำนึกแล้วว่า การพัฒนาที่มุ่งวัตถุเน้นเศรษฐกิจเป็นตัวเด่นนี้เสียดุล เป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่

นับว่าเป็นการถึงเวลาที่ นิติศาสตร์ จะต้องก้าวใหญ่อีกขั้นหนึ่ง สู่ขั้นของการกำหนดจัดวางระบบชีวิตและสังคมที่กว้างขวางครอบคลุม โยงประสานเกื้อหนุนกันเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียว บนฐานแห่งปัญญาที่รู้ความจริงอย่างทั่วตลอดรอบด้าน ซึ่งจะทำให้ระบบแห่งกฎสมมติของมนุษย์ ประสานสอดคล้องถูกต้องและได้ผลจริงตามระบบแห่งกฎธรรมชาติอันจริงแท้ที่เป็นฐานอยู่อย่างแท้จริง

ในสังคมหลายยุคหลายสมัย ผู้มีอำนาจปกครองประเทศหรือสังคมนั้นๆ เป็นผู้ตรากฎหมายออกมาควบคุมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม แต่การปฏิบัติเช่นนั้นบางทีก็จัดได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว พอให้ได้ผลที่จะให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยไว้ก่อน

กฎหมายที่สมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย ต้องการปัญญาพิเศษ ที่หยั่งรู้ความจริงแห่งเหตุปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โยงมาสู่การจัดตั้งวางระเบียบระบบสำหรับชีวิตและสังคมอย่างประสานสอดคล้องดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่มีผู้ปกครองผู้มีปัญญาพิเศษเช่นนั้น ก็อาจต้องมีแหล่งปัญญาพิเศษดังกล่าวที่จะมาตรากฎหมายให้ผู้ปกครองบริหารกิจการไปตามนั้นอีกชั้นหนึ่ง

การมีฝ่ายนิติบัญญัติแยกจากฝ่ายบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยอย่างปัจจุบัน อาจถือได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งในวิถีทางที่กล่าวนี้ แต่ก็จะต้องถามว่า บุคคลหรือคณะบุคคลผู้มาร่วมกันทำหน้าที่เช่นนั้น มีการพัฒนาที่จะทำให้เป็นผู้มีปัญญาพิเศษดังกล่าวนั้นแล้วหรือไม่ ถ้ายัง สังคมจะต้องมุ่งที่จะก้าวต่อไปสู่จุดหมายนั้นให้ได้

กล่าวโดยสรุป กิจทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ที่นักนิติศาสตร์จะต้องทำให้ได้มี ๒ อย่างคือ

๑) รู้เข้าใจหยั่งทราบถึงจุดหมายที่แท้จริงตามกฎธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังระบบแห่งสมมติทั้งหมดของมนุษย์

๒) จัดตั้งวินัยหรือกฎหมายที่มีขอบข่ายครอบคลุม ที่จะประสานระบบสมมติของมนุษย์ทุกอย่างเข้าเป็นระบบใหญ่อันหนึ่งอันเดียว ที่โยงถึงกันทั่วทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์อันหนึ่งอันเดียวของธรรมชาติ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.