– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

วินัย / กฎหมาย เป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส
ที่จะเป็นฐานของการพัฒนาสู่การสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นไป

ได้เคยพูดไว้ที่อื่นแล้วว่า วินัยเป็นเครื่องจัดสรรให้เกิดโอกาส จึงขอยกมาอ้าง ณ ที่นี้ด้วย ดังนี้

“. . .วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไรๆ ได้คล่อง ดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาสในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี

ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย?

ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบ กระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่า ตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้ เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว

กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบ หรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคลก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด

โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ

ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล

สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย” (วินัย: เรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด, น. ๑๕-๑๗)

เมื่อประชาชนเป็นอยู่โดยมีชีวิตร่างกายปลอดภัย ครอบครัวมั่นคง ทรัพย์สินไร้อันตราย ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องหวาดระแวง จะดำเนินกิจการใดก็มั่นใจ ไม่ต้องกลัวถูกฉกฉวยผลหรือข่มเหงเอาเปรียบ ก็นับว่าสังคมมีความสงบเรียบร้อยแล้ว

กระนั้นก็ตาม สังคมที่ดีจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่จะต้องมีมาตรการทางการปกครองและกฎหมายมาเอื้อโอกาสส่งเสริมสนับสนุน ช่วยให้ประชาชนผู้ทำการอาชีพ หรือประกอบกิจกรรมและดำเนินกิจการต่างๆ ที่ดีงามสุจริต มีกำลังใจและตั้งใจทำงานสร้างสรรค์ ฝึกปรือฝีมือและความจัดเจนชำนิชำนาญในการงานวิชาชีพของตนๆ พัฒนาความสามารถที่จะสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมและกิจกรรมที่เป็นคุณประโยชน์ให้เจริญแพร่หลาย ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคมที่ผาสุกสบาย เอื้อต่อการเข้าถึงความดีงามและความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

ท่ามกลางความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่มีความพรั่งพร้อมเอื้ออำนวยทางเศรษฐกิจและทางสังคมเช่นนี้ วินัย ทั้งด้านการปกครองและกฎหมาย หรือทั้งด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จะต้องเน้นมาตรการที่จะส่งเสริมกิจกรรมและกิจการทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทางศีลธรรม ทางศาสนา และคุณค่าทางจิตใจต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาด้านคุณธรรม ใฝ่ในอุดมคติทางนามธรรม และเข้าถึงความดีงามและความสุขทางจิตใจที่สูงหรือประณีตยิ่งขึ้นไป ทั้งเพื่อประโยชน์สุขแห่งชีวิตของประชาชน และเพื่อความมั่นคงยั่งยืนแห่งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและทางสังคมนั้นด้วย

พร้อมกันนั้นก็ให้มีมาตรการทางวินัย ทั้งด้านการปกครอง และกฎหมาย ที่จะส่งเสริมการค้นคว้าแสวงปัญญา และกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาของประชาชน เพื่อให้ชีวิตเข้าถึงความดีงามความเป็นเลิศความสุขและอิสรภาพที่แท้จริง และนำทางอารยธรรมสู่ความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

ถ้าพูดสั้นๆ ด้วยภาษาแห่งไตรสิกขา ก็คือการใช้มาตรการทางวินัย (ทั้งการปกครองและกฎหมาย) มาช่วยสร้างสภาพเอื้อและส่งเสริมประชาชนให้พัฒนา ทั้งในด้านพฤติกรรม (โดยเฉพาะสัมมาอาชีวะ และอนวัชชกรรม คือกิจกรรมสร้างสรรค์) ในด้านจิตใจ และในทางปัญญา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.