– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

วินัย / กฎหมายช่วยจัดสรรสังคมดี ที่เอื้อให้คนงอกงามมีชีวิตที่ดี
คนยิ่งงอกงามมีชีวิตที่ดี ก็ยิ่งหนุนสังคมดีที่คนจะมีชีวิตงอกงาม

ชีวิตมนุษย์มี ๓ ด้าน คือ ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา ซึ่งดำเนินไปด้วยกัน และสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน แยกขาดจากกันไม่ได้

พฤติกรรม ที่แสดงออกทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี เป็นส่วนที่ปรากฏออกมาในการติดต่อกับสภาพแวดล้อมทั้งทางวัตถุและทางสังคม แต่เบื้องหลังพฤติกรรมนั้นก็คือ เจตนา ความตั้งใจและแรงจูงใจ ภายในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่จะแสดงออกมาเพื่อสนองความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งในจิตใจนั้น และพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นจะมีลักษณะอาการอย่างไร ก็เป็นไปตามสภาพจิตใจ เช่นความรู้สึกสบายใจไม่สบายใจเป็นต้นของเขา

นอกจากนั้น พฤติกรรมของเขาจะตื้นเขินคับแคบ หรือดำเนินไปอย่างลึกซึ้งซับซ้อนในขอบเขตกว้างขวาง มีประสิทธิภาพที่จะสนองความต้องการของตนเองอย่างได้ผลหรือไม่เพียงใด ก็ย่อมขึ้นต่อความรอบรู้ ความเข้าใจและความเฉลียวฉลาดคือปัญญาของเขา พฤติกรรมจึงแยกออกไม่ได้จากจิตใจและปัญญา

จิตใจ ก็อาศัยพฤติกรรม เช่น จิตใจจะมีความสุขเมื่อมีพฤติกรรมที่ดำเนินไปได้ตามความต้องการ หรือได้ทำพฤติกรรมที่ถูกใจ แต่ถ้าต้องทำพฤติกรรมที่ไม่ปรารถนา ก็จะฝืนใจ มีความทุกข์ ถ้าได้ทำพฤติกรรมที่ชอบหรือเคยชิน ก็ชอบใจสบายใจ แต่ถ้าพฤติกรรมนั้นถูกขัดขวางปิดกั้น ก็ไม่ชอบใจ โกรธหรือเกิดความทุกข์

พร้อมกันนั้น จิตใจก็เป็นไปตามปัญญา ถ้าคิดนึกหรือประสบสถานการณ์ใดแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร จะเอาอย่างไรกับมัน จิตใจก็จะอึดอัดขัดข้อง เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันเป็นทุกข์ แต่ไม่ว่าในสถานการณ์ใด หรือต่อประสบการณ์ใด ถ้ารู้เข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นอย่างไร มองเห็นชัดโล่งไปว่าจะปฏิบัติหรือจัดการกับมันได้อย่างไรแล้ว จิตใจก็โปร่งโล่งสุขสบาย ถ้ามีทุกข์อยู่ก็พ้นหายหมดทุกข์ไป เมื่อเห็นคนอื่นหน้าตาบึ้ง พูดจาหรือมีกิริยาอาการไม่สุภาพ จิตใจก็รู้สึกโกรธขัดเคือง แต่พอรู้ว่า คนนั้นเขามีปัญหา มีความกดดันในใจจากแรงบีบคั้น เช่นขาดเงินหรือกำลังกลุ้มใจเรื่องครอบครัวเป็นต้น พอรู้ขึ้นมาเกิดปัญญาแล้ว จิตใจก็หายโกรธเคือง กลายเป็นสงสารเห็นใจอยากเข้าไปช่วยเหลือ จิตใจจึงแยกกันไม่ได้กับพฤติกรรมและปัญญา

ปัญญาก็เช่นกัน จะพัฒนาหรือทำงานได้ผลดี ก็ต้องอาศัยจิตใจและพฤติกรรม ถ้าจิตใจอ่อนแอเหนื่อยหน่ายเฉื่อยชา เจอปัญหาก็ไม่สู้ ไม่พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็ไม่พัฒนา หรือจะพิจารณาศึกษาอะไร จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ก็คิดไม่ออกหรือมองไม่ชัด แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็ง มีความเพียรแรงกล้า เจอปัญหาก็สู้ พยายามคิดหาทางแก้ไข ปัญญาก็พัฒนาได้ดี ยิ่งจิตใจนั้นเป็นสมาธิ สงบมั่นคงแน่วแน่ ไม่มีอะไรกวนได้ ก็ยิ่งคิดได้ชัดเจนมองเห็นสว่างโล่ง

พร้อมกันนั้น ในการแสวงปัญญา ก็ต้องใช้พฤติกรรมเกื้อหนุน และเป็นเครื่องมือ เช่นต้องเดินไปยังแหล่งข้อมูล ต้องดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ต้องรู้จักดู รู้จักฟัง รู้จักสัมผัส ต้องรู้จักเข้าหาผู้คน รู้จักพูดจา ถ้าพูดจาสุภาพ รู้จักตั้งคำถาม รู้จักพูดให้กระชับตรงประเด็น และโต้ตอบเป็น เป็นต้น การแสวงปัญญาก็ได้ผลดี ฯลฯ โดยนัยนี้ ปัญญาก็สัมพันธ์กับจิตใจและพฤติกรรม

การจัดการหรือจัดดำเนินการให้ระบบความเป็นไปของชีวิตทั้ง ๓ ด้าน คือพฤติกรรม จิตใจ และปัญญานี้ สัมพันธ์กันในลักษณาการที่ทำให้ชีวิตดีงาม เป็นอยู่อย่างได้ผลยิ่งขึ้น นี่แหละ คือการเรียนรู้ การฝึก หรือการพัฒนาชีวิต ที่เรียกว่า สิกขา หรือการศึกษา และเพราะเป็นการพัฒนาหรือศึกษาอย่างเป็นระบบครบ ๓ ด้านไปด้วยกัน จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

จิตใจ และปัญญา เป็นเรื่องภายใน เป็นส่วนเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล แต่พฤติกรรมเป็นชีวิตด้านที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ทั้งกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสังคม และกับวัตถุทั้งหลาย เราสามารถใช้พฤติกรรมเป็นสื่อในการเข้าถึงจิตใจและปัญญา การพัฒนาพฤติกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาจิตใจและปัญญา

ในทางกลับกัน พฤติกรรมก็เป็นสื่อหรือเป็นแดนที่แสดงออกของจิตใจและปัญญา ถ้าจิตใจและปัญญาได้มีการพัฒนาอย่างดี ก็จะทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงามเกื้อกูล ดังนั้น พฤติกรรมของคนจะเป็นไปในทางเบียดเบียนบั่นทอนสังคม หรือเป็นไปในทางที่ส่งเสริมเกื้อหนุนต่อความเป็นอยู่และกิจการที่ร่วมกัน ก็อยู่ที่ว่าจิตใจและปัญญาได้รับการพัฒนาหรือไม่เพียงใด

วินัย เอาพฤติกรรมเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าสู่ไตรสิกขาในตัวคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า วินัยเชื่อมโยงกับระบบไตรสิกขาที่พฤติกรรมคือด้านศีลของคน

อาจพูดด้วยอีกสำนวนหนึ่งว่า วินัย คือการจัดระบบพฤติกรรม หรือการจัดระบบชีวิตและสังคมที่จะส่งเสริมพฤติกรรมของคน เพื่อช่วยให้เขาพัฒนาในไตรสิกขา

จากจุดเริ่มที่พฤติกรรม เมื่อประชาชนได้อาศัยสภาพแวดล้อมแห่งระบบชีวิตและสังคมที่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาชีวิตของตน และได้พัฒนาทางด้านจิตใจและปัญญามากขึ้น ตัวเขาเองก็จะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ภาวะที่พัฒนาแล้วทางด้านจิตใจและปัญญานั้น ก็จะส่งผลออกมาทางด้านพฤติกรรม ทำให้เขามีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ซึ่งประณีตเกื้อกูลหนุนเสริมสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อโอกาสต่อการพัฒนาชีวิตของเพื่อนมนุษย์ โดยที่ตัวเขาเองจะเป็นผู้ปกครองตนเองได้ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นข้อหมายรู้ร่วมกัน ทำให้วินัย ไม่ว่าจะในความหมายของระเบียบระบบที่จัดตั้งก็ตาม ข้อกำหนดในการจัดตั้งคือกฎหมายก็ตาม หรือการจัดการให้เป็นไปตามระเบียบระบบนั้นคือการปกครองก็ตาม ได้ผลตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง อย่างมั่นคงยั่งยืน

นิติศาสตร์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมของมนุษย์ หมายความว่า พฤติกรรมหรือชีวิตด้านศีล เป็นแดนสัมพันธ์ของนิติศาสตร์ แต่การจัดสรรด้านพฤติกรรมหรือศีลอย่างเดียว ไม่เพียงพอแก่การสร้างสรรค์และดำรงรักษาอารยธรรมของมนุษยชาติ

การที่นิติศาสตร์ใช้ศีลหรือพฤติกรรมเป็นแดนเชื่อมโยงส่งผลเข้าสู่แดนแห่งจิตใจและปัญญา ทำให้เกิดการพัฒนาคนอย่างเต็มทั้งระบบ โดยสื่อสมมติสู่ตัวธรรมอันเป็นความจริงแท้ในธรรมชาติให้สำเร็จได้ นี่ต่างหากที่เป็นคุณค่าที่แท้จริงของนิติศาสตร์

ถ้าการปกครองและกฎหมายขาดจุดหมายในการพัฒนามนุษย์ คือการปกครองและกฎหมายนั้นไม่เป็นเครื่องมือสื่อสิกขา พอสังคมสงบเรียบร้อยและมีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ความลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา ความเฉื่อยชาประมาท และความขัดแย้งในหมู่ชนก็จะแพร่หลายขยายตัว ต่อจากนั้น สังคมก็จะเลื่อนไหลลงไปในกระแสแห่งความเสื่อม หรือวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเจริญแล้วก็เสื่อม เช่นเดียวกับอารยธรรมเก่าๆ เช่น กรีก และโรมัน เป็นต้น ที่ล่มสลายไปแล้วในอดีต

เรื่องนี้จะต้องสำนึกตระหนักกันให้มาก เพราะสังคมที่เจริญขึ้นในทางเศรษฐกิจที่พรั่งพร้อมและความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยมั่นคงถึงระดับหนึ่งแล้ว ความโน้มเอียงที่จะประมาทมัวเมาจะแรงเข้มมาก จนแม้แต่จะมีมาตรการในการพัฒนาทางจิตปัญญาอยู่ ก็ยังยากที่จะชูสังคมนั้นขึ้นไว้ได้

ย้อนมาดูการจัดตั้งสังฆะ ในฐานะเป็นสังคมที่เกิดจากวินัยเป็นตัวอย่าง ดังที่กล่าวแล้วว่า มนุษย์จะได้ผลดีจากกฎธรรมชาติได้ก็โดยที่มีการจัดตั้ง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเข้าถึงความจริงในกฎธรรมชาติ รู้ความจริงนั้นแล้ว ทรงเห็นว่ามนุษย์จะได้ประโยชน์ เขาจะมีชีวิตที่ดีงามถ้าเขาเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนาตัวเองให้เข้าถึงธรรม และเอาความรู้ในธรรม หรือในกฎธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

แต่ทำอย่างไรจึงจะให้ประโยชน์นี้เกิดเป็นผลแก่หมู่มนุษย์จำนวนมาก ก็จึงต้องจัดตั้งขึ้นมาเป็นสังฆะ เพื่อคนที่ต้องการจะฝึกศึกษาพัฒนาตัวเองนั้น จะได้มีสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ระบบการอยู่ร่วมกัน บรรยากาศและโอกาส ที่เอื้อเกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาของเขา เช่นการที่จะได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดและเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า หรือจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูงกว่าตน หรือหมู่บุคคลที่มีความต้องการและระดับการเรียนรู้อย่างเดียวกัน ใฝ่ในการฝึกฝนพัฒนา จะได้มาเกื้อกูลต่อกันด้วยการปรึกษาสังสรรค์ เป็นต้น

โดยนัยนี้จึงเกิดมี สังฆะ ขึ้นมาเป็นชุมชนแห่งการศึกษา เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรม จะได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาดังกล่าวแล้ว และเป็นศูนย์กลางที่บุคคลภายนอกที่ต้องการเรียนรู้จะเข้ามาหาในฐานะเป็นแหล่งของการศึกษา และพร้อมกันนั้น พระที่มีความรู้ ได้เล่าเรียนสูงขึ้นไปหรือเข้าถึงธรรมแล้ว ก็จะออกจากศูนย์กลางนี้ ไปให้ความรู้เพื่อการศึกษาของประชาชน

นี้คืองานของวินัย ที่ทำให้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นสังฆะ โดยมีหลักแหล่งที่เรียกว่า วัด ซึ่งก็คือชุมชนที่เป็นแหล่งแห่งการศึกษานั่นเอง

รวมความว่า การใช้วินัยจัดตั้งสังฆะคือสงฆ์ขึ้นมานั้น มีจุดมุ่งหมายนี้ คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ สร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศตลอดจนระบบความสัมพันธ์ในการทำกิจการร่วมกันทุกอย่าง ให้เป็นสภาพเอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลผู้เข้ามาสู่ชุมชนนี้ จะได้มีโอกาสที่จะศึกษา เรียนรู้ พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เพื่อเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้น นี้คือวัตถุประสงค์ของวินัย

เพราะฉะนั้น การปกครองที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือจัดสรรสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่กันโดยสงบเรียบร้อยนี้ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อให้ความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อยนั้นเป็นสภาพที่เอื้อต่อการที่แต่ละบุคคลในสังคมนั้นจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกหัด ศึกษา พัฒนาตนให้เข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

หมายความว่า เราต้องการให้หมู่มนุษย์มีชีวิตที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป ก็จึงจัดให้มีการปกครองโดยวางข้อกำหนดเป็นกฎหมายขึ้นมา เช่น ที่พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์ด้วยวินัย ซึ่งมาจัดสรรให้ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต สภาพแวดล้อม การทำกิจการร่วมกัน ประสานกันเป็นระบบที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของหมู่มนุษย์ไปสู่ความดีงามสูงสุดที่เป็นจุดหมาย

ถ้าไม่มีจุดหมายนี้ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มีความหมายที่ชัดเจนเพียงพอ ไม่มั่นคงยั่งยืน และไม่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่หมู่มนุษย์

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.