– ๑ – หลักการพื้นฐาน

28 มีนาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 5 ตอนของ

การปกครองที่แท้ และกฎหมายที่ถูก
ต้องมีจุดหมายสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์

เมื่อสังฆะ คือสงฆ์ขยายใหญ่ขึ้น มีพระภิกษุจำนวนมากขึ้น ในการปกครองต่อมา พระพุทธเจ้าก็ทรงบัญญัติให้พระภิกษุผู้บวชใหม่แต่ละรูปมีอุปัชฌาย์ คือเมื่อจะบวชต้องมีอุปัชฌาย์

อุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้ดูแล ซึ่งเรามักจะมองในแง่ว่าเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อมองให้ตรงแท้ตามความหมายของพระพุทธศาสนา จะเห็นว่า อุปัชฌาย์มีขึ้นเพราะว่า บุคคลใดก็ตามเมื่อสมัครเข้าบวชมีชีวิตเป็นภิกษุอยู่ในชุมชนนี้ ก็ถือเป็นการตกลงว่า จะเข้ามารับการฝึกฝน มาเรียนรู้ มาสิกขาคือศึกษา โดยเฉพาะผู้ที่บวชเข้ามาใหม่ ยังไม่รู้หลักการ แนวทาง และวิธีการในการศึกษาปฏิบัติ จำเป็นจะต้องได้ผู้ดูแลแนะนำให้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้น ยิ่งเมื่อมาอยู่ร่วมกันมากๆ ขึ้น ก็มีปัญหาว่า ผู้เข้ามาใหม่นั้น บางบุคคลเข้ามาแล้วอาจจะเคว้งคว้างเลื่อนลอย ไม่ได้รับการแนะนำให้ฝึกฝน ศึกษา เรียนรู้ แล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสังฆะที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้มีอุปัชฌาย์ขึ้นมา

อุปัชฌาย์ เป็นเหมือนผู้ค้ำประกันตัวผู้บวชต่อที่ประชุมสงฆ์ในการบวช กล่าวคือ แม้ว่าที่ประชุมสงฆ์จะพิจารณาเห็นว่าบุคคลที่สมัครเข้ามา มีคุณสมบัติ ควรรับเข้าบวชได้ แต่ที่ประชุมสงฆ์ก็ต้องการให้มีคนที่จะรับผิดชอบช่วยดูแลผู้ที่บวชใหม่นั้น ก็จึงมีอุปัชฌาย์มาเป็นผู้ประกันต่อสงฆ์ ที่จะให้ความมั่นใจแก่สงฆ์หรือที่ประชุมว่า บุคคลผู้นี้เมื่อบวชเข้าไปแล้วจะไม่เคว้งคว้าง ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้รับการศึกษา

โดยนัยนี้ จึงเหมือนว่าได้เกิดการปกครองขึ้นเป็นระดับขั้น ตั้งแต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงปกครองสงฆ์ให้ชุมชนทั้งหมดดำเนินไปในระบบแห่งไตรสิกขา จนถึงพระอุปัชฌาย์ผู้ดูแลให้พระภิกษุที่บวชเข้ามาใหม่ในปกครองของตนแต่ละรูปได้รับการศึกษา

เพราะฉะนั้น การปกครองตามความหมายในพระพุทธศาสนาจึงเป็น การปกครองเพื่อการศึกษา หมายความว่า การปกครองและความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการปกครองนั้นมิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงปัจจัยคือสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้แต่ละบุคคลบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษา หรือเพื่อเป็นหลักประกันของการศึกษา จึงถือเป็นคติได้ว่า การปกครองที่มีขึ้นเป็นเรื่องของการศึกษา และเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น

ในสังคมไทยยุคก่อนๆ จะเห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองจะเป็นแบบอาจารย์กับศิษย์ เช่น เจ้าอาวาส เราเรียกว่า “อาจารย์” คือผู้ที่สอน แนะนำ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนต่างๆ ดังที่เรายังเรียกเจ้าอาวาส ติดมาถึงปัจจุบันนี้ว่าเป็นอาจารย์ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้ท่านไม่ค่อยได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว เพราะสังคมวิปลาสคลาดเคลื่อนไป

ความจริงนั้น การศึกษานั่นแหละครอบคลุมการปกครองอยู่ในตัว กล่าวคือ ในความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้น เมื่ออาจารย์สอน และศิษย์เป็นผู้ได้รับความรู้ อาจารย์ก็กลายเป็นผู้ปกครองโดยมีลูกศิษย์เป็นผู้ใต้ปกครอง การปกครองของอาจารย์ ก็คือการคอยดูแลให้ศิษย์อยู่ในความดีงาม และฝึกฝนเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไป เข้ากับหลักการที่ว่าการปกครองในความหมายของพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา และในที่สุด การปกครองก็เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา ดังที่เห็นกันอยู่ว่า อาจารย์ปกครองศิษย์ด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นการปกครองในตัว ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ที่มีความเคารพเป็นหลักประกัน ทำให้มีความเชื่อถือและเชื่อฟังด้วยดี

ถ้าไม่ปกครองด้วยการศึกษาอย่างนี้ ก็ต้องปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์ ที่เอียงไปในทางที่จะขัดแย้งกัน เช่น ในการปกครองสงฆ์ปัจจุบันนี้ เมื่อการศึกษาเสื่อมโทรมลง ก็ต้องหันไปเน้นการปกครองด้วยอำนาจ เจ้าอาวาสมีอำนาจเป็นผู้ปกครอง มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเป็นเครื่องมือ พระลูกวัดอยู่ใต้ปกครองต้องทำตาม

ผู้ใต้ปกครองเหล่านั้นไม่มองว่าผู้ปกครองคือผู้เอื้อโอกาสเพื่อการพัฒนาชีวิตของตน แต่มองว่า ผู้ปกครองคือผู้มาคอยบังคับ คอยกีดกั้นเขาจากสิ่งที่ต้องการจะทำ จึงมีความรู้สึกแบบเป็นปฏิปักษ์กัน ด้วยเหตุนี้ การปกครองแบบใช้อำนาจจึงก่อให้เกิดปัญหา เริ่มตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในจิตใจเป็นต้นไป ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มการใช้อำนาจ ใช้อาญา และจะเน้นการลงโทษมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่เป็นการปกครองแบบพยายามสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองแบบพยายามกำจัดคนเลว

การปกครองในทางบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อหลักการเพื่อจุดหมายที่แท้เลือนหายไปแล้ว ทุกอย่างก็จะวิปลาสไปหมด

ดังนั้น การปกครองในสมัยนี้ของพระสงฆ์ เราจึงเห็นว่าไม่ค่อยได้ผล เพราะได้กลายมาเป็นการปกครองเพื่อการปกครอง คือปกครองแบบใช้อำนาจ พระลูกวัดจะมีความรู้สึกต่อเจ้าอาวาสแบบเป็นปฏิปักษ์ อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเป็นผู้ขัดขวางผลประโยชน์ที่ต้องการ แล้วใจก็ไม่รับ ความสัมพันธ์ที่ดีก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ก็จะมีความรู้สึกในทางที่อยากจะหรือหาทางที่จะละเมิดอยู่เสมอ

ถ้าจะเอาระบบที่ถูกต้อง จะต้องรู้ตระหนักในหลักการว่า การศึกษาคือเนื้อหาสาระของชีวิตแห่งความเป็นพระภิกษุ การปกครองเป็นเครื่องมือรับใช้การศึกษา คือเป็นการจัดระบบความเป็นอยู่ความสัมพันธ์และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงความดีงามและประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไป เมื่อครูอาจารย์ปกครองลูกศิษย์ ก็เป็นการปกครองด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา

เราอาจจะเลียนศัพท์ของประชาธิปไตยที่บอกว่า ระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แล้วเราก็พูดว่า ในพระพุทธศาสนา การปกครอง คือการปกครองที่เป็นเรื่องของการศึกษา ด้วยการศึกษา และเพื่อการศึกษา หลักการนี้ชัดเจนมาก การที่เราจัดระบบการปกครองด้วยวินัย หรือด้วยกฎหมาย ก็เพื่อเอื้อต่อชีวิตบุคคลที่เขาจะได้พัฒนา เรียนรู้ มีการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

รวมความว่า วินัย มีความหมาย

ทั้งในแง่บุคคล ว่าเป็นเครื่องฝึกตัวของบุคคลนั้นเอง คือเมื่อบุคคลนั้นนำหลักการนี้มาประพฤติปฏิบัติ วินัยก็เป็นเครื่องมือของเขาในการที่จะได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนเอง และ

ในทางสังคม ว่าเป็นการสร้างสภาพเอื้อต่อการพัฒนาชีวิต ที่ทั้งตัวเขาเองและคนอื่นมีส่วนร่วมได้ประโยชน์ด้วยกัน

เป็นอันว่าได้ความหมาย ๒ อย่าง ดังนั้น วินัย ในทางพระพุทธศาสนา จึงแปลว่า การฝึก หรือการนำไปให้วิเศษ และโดยนัยนี้ ตามความหมายในพระพุทธศาสนา กฎหมายจึงเป็นเครื่องฝึกมนุษย์หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต

ถ้าเราไม่มองวินัยและกฎหมายเป็นเครื่องฝึก แล้วคนจะมองกฎหมายและวินัยในความหมายอย่างไร อย่างแรกที่จะมองคือ มองเป็นเครื่องบังคับหรือบังคับควบคุม

ถ้าพลเมืองมองกฎหมายเป็นเครื่องบังคับเมื่อไร ก็เรียกว่าฐานเสียเมื่อนั้น เพราะคนจะมีความรู้สึกขัดแย้ง (เช่นขัดแย้งต่อความสะดวกสบาย ขัดแย้งต่อความพอใจชอบใจส่วนตัว ตลอดจนขัดขวางผลประโยชน์ของตัว) ฝืนใจ และจึงมีความคิดโน้มไปสู่การที่จะละเมิดอยู่เสมอ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทนำ นิติศาสตร์กับ ธรรมศาสตร์– ๒ – หลักแห่งปฏิบัติการ >>

หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12

No Comments

Comments are closed.