บันทึกที่ ๒ ปัญหาเกี่ยวกับ ความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์

25 พฤศจิกายน 2517
เป็นตอนที่ 11 จาก 20 ตอนของ

บันทึกที่ ๒
ปัญหาเกี่ยวกับ

ความเสื่อมโทรมของสถาบันสงฆ์

มีผู้ถามปัญหาเกี่ยวกับการปรับปรุงสถาบันสงฆ์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยสับสนยุ่งเหยิงและด้อยพัฒนา ก็เพราะทุกกลุ่มไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ต่อสังคมส่วนรวม สถาบันสงฆ์ปัจจุบันได้เสื่อมโทรมลง โดยยกตัวอย่างเช่น มีพระหมอดู เป็นต้น ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด จะแก้ไขอย่างไร

ปัญหานี้เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันสงฆ์ ผู้ถามปัญหาคงนึกถึงสภาพปัจจุบัน และมองเห็นว่าพระสงฆ์ทำบทบาทอะไรที่แปลกๆ และไม่ค่อยดี

ตอนแรกจึงจะต้องตกลงกันก่อนว่า ตามหลักแล้ว บทบาทของพระสงฆ์คืออะไร หรือพระสงฆ์ควรทำบทบาทอะไร

ได้กล่าวแต่แรกแล้วว่า บทบาทตามหน้าที่ของพระสงฆ์ ก็คือ ธรรมทาน แปลว่า การให้ธรรม

การให้ธรรมนั้นมีความหมายกว้างมาก เพราะคำว่า “ธรรม” หรือ “ธัมม” ในภาษาบาลี เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด แต่ถ้าแยกประเภทใหญ่ๆ ก็มี ๒ อย่างคือ ความจริง กับ ความดีงาม เป็นเรื่องของปัญญา อย่างหนึ่ง คุณธรรม (คุณภาพของจิตใจ) อย่างหนึ่ง

การให้ธรรม จึงหมายถึง การให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้หลักความจริง และหลักแห่งคุณความดี หรือให้หลักการที่จะให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรมและได้ประสบสิ่งที่ดีงาม คือ ทำให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง ตั้งต้นแต่ความรู้ขั้นสูงสุด เข้าใจในชีวิตนี้ว่าคืออะไร สภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร ลงมาจนถึงความเข้าใจทั่วๆ ไปเกี่ยวกับจริยธรรมในการดำรงชีวิต เป็นแง่ของสัจธรรมอย่างหนึ่ง จริยธรรมอย่างหนึ่ง

รวมความคือ ช่วยประชาชนในทางปัญญา และในทางคุณธรรม อันนี้เป็นบทบาทหลัก

อะไรก็ตามที่เข้าอยู่ในแนวนี้ จะเป็นการอบรมสั่งสอน เป็นที่ปรึกษา แนะนำอะไรต่างๆ ก็เรียกว่าไปกันได้ ถ้าออกไปจากแนวนี้ ก็นับว่าเป็นการคลาดเคลื่อน

ปัจจุบันมีการพูดกันมากว่า พระสงฆ์ทำบทบาทอย่างนั้นอย่างนี้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ตลอดจนเป็นโทษเป็นภัยแก่สังคม เรามักทำได้แค่ยกขึ้นมาติเตียน พูดได้แค่นั้น เสร็จแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น

ถ้าหากเราไม่สามารถก้าวไปถึงขั้นชี้บอกได้ว่า ทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็ได้แต่ทำอย่างที่ทำกันมากในปัจจุบัน คือ โจมตีกัน นับเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบันที่จะต้องโจมตีกัน

สภาพอะไรที่ไม่น่าพอใจ ไม่น่าชื่นชม มีอยู่มากมาย เรารู้ว่ามันไม่ดี เราไม่พอใจ เราก็โจมตี ได้แค่นั้น ก็เป็นอันจบ หมายความว่า แก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้

ยิ่งเมื่อมีการตื่นตัวกันขึ้น ก็ดูจะยิ่งโจมตีกันมาก การตื่นตัวนั้นไม่ใช่ไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดี แต่การตื่นตัวที่ไม่นำไปสู่การกระทำที่ลึกซึ้งกว่านั้น อาจนำไปสู่ผลเสียก็ได้

เกี่ยวกับสถาบันสงฆ์นั้น ความจริงเดี๋ยวนี้ประชาชนมีความสงสัยอยู่ไม่น้อย แต่บางทีไม่กล้าพูด ยิ่งต่อหน้าพระ ยิ่งไม่กล้าพูด ไปพูดลับหลังพระเสีย อะไรทำนองนี้ ถ้าหากจะแก้ปัญหากันจริงๆ ก็ต้องเผชิญหน้า ยกมาพูดกัน

ปัญหาสังคมต่างๆ ที่ยกมาพูดและโจมตีกันนั้น เป็นเหมือนอาการของโรค คือ สังคมป่วยเป็นโรค มีอาการเกิดขึ้นให้มองเห็น เราก็ยกเอาอาการนั้นขึ้นมาพูดกัน โจมตีกัน พูดหรือโจมตีนั้นไม่ยากเลย แต่ถ้าทำแค่นั้น แก้ปัญหาไม่ได้ เป็นการกระทำที่ผิวเผิน

จะแก้ปัญหาได้ ก็ต้องวิเคราะห์ลงไปให้เห็นสมุฏฐาน ว่าอาการอย่างนั้นเกิดจากโรคอะไร มีอะไรเป็นสมุฏฐาน เช่นตัวอย่างที่ยกขึ้นมาถามนั้นว่า พระเป็นหมอดู จะต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมท่านต้องเป็นหมอดู อาจจะตอบอย่างง่ายที่สุด ตอบไปก่อน ถูกไม่ถูกไม่ทราบว่า เพราะท่านอยากได้ลาภสักการะ

วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ทำไมอยากได้ลาภสักการะ ได้ความว่า เพราะลาภสักการะนี้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของท่าน วิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ยังมีเหตุอะไรที่ลึกซึ้งกว่านี้หรือไม่ ตอบว่ามี มีอย่างไร พระต้องมีความสัมพันธ์ทางสังคม

ลักษณะชีวิตของพระนั้น มีบทบัญญัติทางธรรมวินัย กำหนดไว้ว่า ต้องมีความผูกพันกับสังคม คือตามหลักว่าพระต้องพึ่งอามิสทาน ได้แก่ปัจจัย ๔ จากคฤหัสถ์ แล้วตอบแทนด้วยธรรมทาน

ทีนี้มีปัญหาว่า พระมีความสามารถที่จะตอบแทนด้วยธรรมทานหรือไม่ ถึงไม่สามารถ ท่านก็ยังต้องมีความสัมพันธ์กับประชาชน ทั้งเพื่ออามิสทานด้วย ทั้งเพื่อรักษาระบบแห่งความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนด้วย

การที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้นั้น ข้อสำคัญ ต้องมีน้ำใจเมตตาช่วยประชาชนในรูปใดรูปหนึ่ง ถ้าจะช่วยในแง่ธรรมทานตามหน้าที่ที่แท้จริง ช่วยได้ไหม น่าสงสัยเสียแล้ว ถ้าไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาดีพอ ไม่รู้ธรรมลึกจริง ไม่เข้าใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคน ก็ช่วยไม่ได้ แต่ก็ต้องช่วยในรูปใดรูปหนึ่ง

เขามาปรึกษา มาระบายทุกข์ พระไม่รู้ว่าจะแนะนำ หรือแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร สภาพสังคมก็ไม่เข้าใจ ธรรมะก็ไม่เข้าใจ จะเอาธรรมข้อไหนออกมาใช้และอธิบายให้สัมพันธ์กับชีวิตของเขาในสภาพสังคมปัจจุบันอย่างไร ก็ไม่เข้าใจ วิธีอะไรดีที่สุด ก็ต้องปลอบ ปลอบโยนแล้วยังไม่พอ ก็หาทางช่วยให้มากขึ้น ให้สบายใจมากขึ้น

ดูหมอให้ ก็เป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยปลอบประโลมทางจิตใจ ช่วยให้เขามีความหวัง เป็นการอนุเคราะห์ไปทางหนึ่ง แต่ทีนี้ ดูไปๆ ได้ลาภผล ชักติดใจ เลยกลายเป็นหลงลาภสักการะไป อย่างนี้เป็นต้น

รวมความแล้ว ตำแหน่งของปัญหามันอยู่ลึกซึ้งลงไปถึงว่า เป็นเพราะพระไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของท่านได้ ทำไมท่านจึงทำไม่ได้ เพราะอะไร ก็เพราะเราให้การศึกษาท่านไม่พอ การให้การศึกษาแก่พระ เป็นความรับผิดชอบของสังคมด้วยหรือไม่ สังคมได้เอาใจใส่ในเรื่องนี้แล้วหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น เป็นปัญหาที่พันถึงกันไปหมด

จะแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะต้องมองย้อนลึกลงไปถึงการศึกษาของพระด้วย เสร็จแล้วลองสำรวจสภาพการศึกษาของพระดู แล้วก็จะรู้เห็นเข้าใจได้พอสมควร เรียกว่าเข้าใจปัญหาดีขึ้น

การที่พระพุทธศาสนาบัญญัติให้ชีวิตพระต้องขึ้นกับประชาชน ไม่ให้ปลูกผักขุดเผือกมันฉันเองนั้น ก็เพื่อประโยชน์ระยะยาว ทำให้พระต้องผูกพันอยู่กับสังคม ต้องคอยคิดสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชนในรูปใดรูปหนึ่ง แต่เมื่อการตอบแทนหรือการสงเคราะห์ไม่เป็นไปตามหลักที่ตั้งไว้ มันก็ต้องไขว้เขวไป

พูดง่ายๆ ว่า เมื่อท่านไม่สามารถให้ธรรมทาน แต่ท่านยังต้องอนุเคราะห์ประชาชน ท่านก็ทำออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง

แม้แต่คำโจมตีที่ว่า ทำไมพระสร้างโบสถ์กันนัก ไม่เป็นประโยชน์ เสียเศรษฐกิจ เราไม่ได้วิเคราะห์ต่อไปเลยว่า ทำไมท่านจึงทำเช่นนั้น และจะแก้ได้อย่างไร ท่านไม่รู้แน่ว่าในสภาพสังคมปัจจุบัน ท่านควรทำอะไร จึงจะเป็นบทบาทที่เหมาะที่ควรเป็นประโยชน์แท้จริง แต่มีค่านิยมอันหนึ่งที่ยึดถือมาแต่โบราณว่า สร้างถาวรวัตถุให้วัดเป็นบุญเป็นกุศล อันนี้ท่านรู้ บทบาทอื่นไม่รู้จะทำอะไร เช่นการศึกษาสำหรับลูกหลานชาวบ้านเป็นต้น ก็ไม่ใช่งานของพระมานานแล้ว (ถึงเดี๋ยวนี้จะให้ทำ ส่วนมากก็ไม่รู้จะทำได้อย่าไร) เมื่อเป็นอย่างนี้ มันก็ออกมาในรูปนี้ จะอยู่เฉยๆ ทำไม

ไม่ใช่ท่านไม่ดี แต่ท่านไม่รู้จะทำอะไรดี เราจะต้องช่วยกันหาทางออก ให้ท่านสามารถทำบทบาทที่เป็นประโยชน์ได้ เช่นชี้แนะช่องทางให้ท่านเข้าใจสภาพของสังคมปัจจุบัน และแนวทางที่ท่านจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือได้สมกับภาวะและฐานะของท่าน อาจจะเป็นการจัดการศึกษาช่วยลูกหลานชาวบ้านก็ได้ ทั้งนี้สถาบันอื่นของสังคมจะต้องยอมรับด้วย เช่นรัฐต้องยินยอม เป็นต้น

แล้วทีนี้ มองไปอีกด้านหนึ่ง ที่ท่านสร้างโรงเรียนประชาบาลในชนบทกันเท่าไรๆ ทำไมเราไม่มองและยกขึ้นมาพูดบ้าง

ผู้ที่ได้แต่ด่าว่าโจมตีเขานี้ เท่ากับทำความผิดและสร้างความไม่เป็นธรรมถึง ๒ ทาง คือ ด้านที่ท่านทำดีทำเหมาะสมอยู่แล้ว ทำไมไม่ยกขึ้นมาสนับสนุนแสดงความยอมรับ และในแง่ที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง ในเมื่อตนอยู่ในสังคมส่วนที่เจริญกว่า มีหูตากว้างกว่า รู้เข้าใจอะไรๆ ดีกว่า ตนจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขาก่อน จึงจะมีสิทธิด่าว่าติเตียนเขาได้

การด่าว่าโจมตีผู้ที่มีพื้นฐานด้อยกว่าตน โดยยังไม่แนะนำให้ความรู้ความเข้าใจแก่เขาก่อนนั้น ย่อมเป็นการกระทำโดยไม่ชอบธรรม หรืออาจถึงกับเป็นการเอาแต่ได้ เรียกร้องแต่จะให้ผู้อื่นทำ โดยที่ตนเองมิได้ทำอะไรที่เป็นการเสริมสร้างเลย นอกจากเรียกร้องกันเสียจนในที่สุดการเรียกร้องนั้นกลายเป็นตัวปัญหาขึ้นมา และกลายเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญก้าวหน้าเสียเอง

ปัจจุบันนี้ แม้จะมีการตื่นตัวทางสังคม แต่อาการที่แสดงออกก็ยังบอกถึงลักษณะที่ขาดความรับผิดชอบอยู่นั่นเอง คือมีแต่การเรียกร้องจากผู้อื่นว่าทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ลืมมองดูความรับผิดชอบของตนที่เป็นเหตุปัจจัยในเรื่องนั้นด้วย

เรื่องของสถาบันสงฆ์นี้ ก็กล่าวได้ว่าถูกสังคมทอดทิ้ง สังคมไม่รับผิดชอบ สังคมได้แต่เรียกร้องจากท่านจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมเองยังมีลักษณะและอาการอย่างนี้ ยังสับสนขาดความรับผิดชอบเช่นนี้ ผู้ใดที่ตั้งตัวเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม หรือว่าตนมีสำนึกทางสังคม ผู้นั้นจะต้องรับผิดชอบ จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน

ส่วนพระสงฆ์เองนั้น แน่นอนว่าย่อมมีความรับผิดชอบใกล้ชิดที่สุด เพราะเป็นเรื่องของตนเอง มิใช่เรื่องที่จะรอให้ผู้อื่นมารับผิดชอบก่อน และจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่สำรวจตนเองไปทีเดียวว่า อะไรเป็นหน้าที่รับผิดชอบของตน มีพุทธภาษิตเตือนอยู่แล้วว่า

ยญฺหิ กิจจํ ตทปวิธํ อกิจฺจํ ปน กยิรติ
อุนฺนฬานํ ปมตฺตานํ เตสํ วฑฺฒนฺติ อาสวา

สิ่งใดเป็นหน้าที่ กลับทอดทิ้งเสีย ไพล่ไปทำสิ่งที่มิใช่หน้าที่
คนเหล่านั้นมัวชูตัวพองประมาทอยู่ อาสวะของเขาก็พอกพูนยิ่งขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< — รัฐ สถาบันสงฆ์ พระเณร และสังคมไทย ควรให้ความรู้ พาออกมาอยู่กันในความสว่างบันทึกที่ ๓ ปัญหาเกี่ยวกับ ค่านิยมคลาดเคลื่อน >>

No Comments

Comments are closed.