- สังคมเป็นอย่างไร จึงแทบไม่มีใครพูดถึงในแง่ดี
- สังคมเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ คนต้องขึ้นสู่ความเป็นโลกัตถจารี
- จะแก้ปัญหาของสังคมไทย ต้องสืบสาวให้รู้และแก้ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- ถ้าขืนอยู่กับค่านิยมเสพบริโภคและชอบพึ่งอำนาจดลบันดาล สังคมไทยจะก้าวไม่ไหว เพราะไม่มีแรงแม้แต่จะคลาน
- มัวรออำนาจดลบันดาลทำให้ พลเมืองก็ไม่พัฒนา ประชาธิปไตยก็ยิ่งถอยห่างไปไกล
- ผู้นำที่ดี ไม่ใช่ผู้ที่คอยช่วยเหลือเขา แต่ผู้นำที่ดี คือผู้ที่ทำให้เขาพึ่งตนเองได้
- แม้แต่จะปฏิบัติต่อเทวดา ก็ต้องรู้ว่าทางสายกลางอยู่ตรงไหน
- ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องถือธรรมเป็นใหญ่
- ประเทศชาติไม่มีทางพัฒนา ถ้าประชาชนไม่มีคุณภาพ
- เลิกความอ่อนแอของนักเสพบริโภค และเร่งพัฒนาความเข้มแข็งทางปัญญา สังคมไทยจึงจะก้าวไปทันและนำเขาได้
- ฝรั่งว่าอย่างไร ก็ฟังให้รู้ไว้ แต่ต้องวิเคราะห์วิจัยให้เลยจากที่ฝรั่งติดตันออกไป
- ถอนตัวขึ้นมาจากปลักเลนแห่งลัทธิรอผลดลบันดาล แล้วลืมตาขึ้นมา มองให้กว้าง-คิดให้ไกล-ใฝ่ให้สูง
- ระวัง! การศึกษาที่แท้เพื่อพัฒนาคนไทย หรือการศึกษาเทียมเพื่อลดคุณภาพคนไทย
- บทบาทสำคัญของพ่อแม่ แน่แท้คือการช่วยให้ลูกศึกษา
- พอลูกลืมตาดูโลก พ่อแม่ก็เริ่มแสดงบทบาทแรก
- ทางสองแพร่งแห่งชะตากรรมของโลก เลี้ยงลูกเพื่อสร้างโลก หรือสร้างลูกไปล้างโลก
- การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์
- การศึกษาก้าวต่อไป ทำให้คนเข้มแข็ง และความสุขอย่างใหม่ก็เพิ่มขึ้นมา
- การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
- การศึกษาได้ผล เมื่อคนเริ่มรู้วิชาจัดการ
- การศึกษาจบสมบูรณ์ เมื่อประโยชน์ตนถึงที่หมาย กลายเป็นประโยชน์สุขของสังคม
การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์
การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มรู้จักใช้อินทรีย์ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางรับรู้ติดต่อกับโลกภายนอก มนุษย์จะดำเนินชีวิตอยู่ได้ต้องมีสื่อติดต่อคือ อินทรีย์ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง
1. ใช้เสพ เช่น ตาดูสิ่งสวยงาม หูฟังเสียงไพเราะ ลิ้นลิ้มรสอร่อย เป็นต้น
2. ใช้เรียนรู้ เช่น ตาดูว่าคืออะไร เป็นอย่างไร สัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า ศึกษา
ถ้ามนุษย์ใช้อินทรีย์เพียงเพื่อเสพ ก็ถือว่าการศึกษายังไม่เริ่มต้น มนุษย์ก็จะไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ซึ่งก็มีอินทรีย์ไว้เสพ การเสพนั้นไม่นำไปสู่การพัฒนา แต่เมื่อใดมนุษย์ใช้อินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อการเรียนรู้ ก็หมายถึงว่าการศึกษาได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะการพัฒนา เช่น ความงอกงามของปัญญาจะเริ่มขึ้นในทันที ฉะนั้นจึงต้องฝึกเด็กให้หัดใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้การศึกษาเริ่มต้น และให้เขาก้าวไปในวิถีแห่งการพัฒนาชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี ไม่ใช่เรียนรู้เพียงเพราะจำเป็นที่จะให้อยู่รอด หรือเพียงเพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เสพบริโภค
ถ้าเด็กใช้อินทรีย์เพื่อเสพ เขาก็จะมัววุ่นอยู่กับการหาสิ่งที่ชอบ และมีความสุขจากการเสพสิ่งที่ชอบใจ เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบใจก็จะเป็นทุกข์ สุขและทุกข์ก็จะวนเวียนอยู่กับการพบกับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจอย่างนี้ตลอดไป ซึ่งหมายถึงการที่จะต้องได้รับการบำรุงบำเรอโดยไม่อยากทำอะไร ความสุขมีความหมายพ่วงมา คือการที่สบายไม่ต้องทำอะไร และการกระทำก็กลายเป็นความทุกข์
มนุษย์ที่ใฝ่เสพนั้น มองในแง่ของตัวเขาเองก็จะอ่อนแอลง และต้องทนทุกข์จากการที่ต้องทำอะไรๆ เพราะฝืนใจ เมื่อมองในแง่สังคม การที่จะเสพก็ต้องเอาให้ได้ จึงทำให้ต้องแย่งชิงกัน มือและสมองก็จะมารับใช้ความใฝ่เสพ ดังนั้น สังคมจึงเต็มไปด้วยการแย่งชิงเบียดเบียนและทำลายกัน
ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์เริ่มใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ คือเพื่อการศึกษา เขาจะเริ่มพัฒนาทันที ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ทัศนคติหรือท่าทีต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป ความหมายของสุขทุกข์ ก็เปลี่ยนไป ความสุขจะพัฒนามากขึ้น ความทุกข์จะน้อยลง เริ่มตั้งแต่ว่าการเรียนรู้ไม่ขึ้นต่อสิ่งชอบใจไม่ชอบใจ สิ่งชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งไม่ชอบใจก็เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจเป็นปัญหาบางครั้งกลับเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก ความสุขของเขาเกิดจากการได้เรียนรู้ เมื่อได้สนองความใฝ่รู้เขาก็มีความสุข ฉะนั้นเขาจึงมีความสุขได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
โดยนัยนี้ คนที่พัฒนาจากการใช้อินทรีย์เพื่อเสพ ขึ้นมาสู่การใช้อินทรีย์เพื่อการเรียนรู้ ก็จะพ้นจากอำนาจครอบงำของความรู้สึก (ฝ่ายตัณหา) ขึ้นมาสู่ความปลอดโปร่งชื่นบานแห่งความรู้ความเข้าใจ (ฝ่ายปัญญา) เรียกว่า พ้นจากสังสารวัฏแห่งความสุขและความทุกข์เพราะชอบใจและไม่ชอบใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ได้พบ เขาจะมองเป็นประสบการณ์ที่จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่มองแค่เพียงชอบใจหรือไม่ชอบใจ เมื่อมองในแง่ของการเรียนรู้ก็จะพัฒนาความใฝ่รู้ให้มากขึ้น พอเกิดความใฝ่รู้ก็จะได้ความสุขจากการเรียนรู้ เพราะได้สนองความต้องการคือความใฝ่รู้นั้น
No Comments
Comments are closed.