ถ้าเขาทำให้ชาวพุทธเขวเรื่องนิพพานได้ งานทำลายพระพุทธศาสนาก็ถึงเป้าที่เขาหวัง

1 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 6 จาก 9 ตอนของ

ถ้าเขาทำให้ชาวพุทธเขวเรื่องนิพพานได้ งานทำลายพระพุทธศาสนาก็ถึงเป้าที่เขาหวัง

เรื่องที่ ๑ คือเรื่องสมาธิ นั้น ยังไม่สำคัญมากเท่าเรื่องที่ ๒ คือเรื่องพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมสูงสุด เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ถ้าเขาบิดเบือนเรื่องนิพพานได้ หรือทำให้ชาวพุทธฟั่นเฟือนไขว้เขวจากพระนิพพานได้ งานของเขาก็สำเร็จ

เล่ห์กลที่เขาจะทำให้สำเร็จตามเป้านี้ เขาใช้วิธีการหลายอย่าง ถ้าชาวพุทธไม่แม่นหลัก ก็จะตามเขาไม่ทัน จึงจะวิเคราะห์ให้ดู

ก) ตีตัวบุคคล ให้ส่งผลเข้าใจผิดต่อนิพพานไปด้วย

วิธีแรก เขาแต่งเติม-บิดเบือนคำพูดของพระธรรมปิฎก หรือทำให้คลุมๆ เครือๆ เหมือนว่าพระธรรมปิฎกพูดว่าอย่างนั้นๆ

ตัวอย่างก็เช่นที่ยกมาให้ดูข้างบนแล้ว ที่เขาเขียนไว้ในหนังสือ คำให้การ พ.อ. บรรจง ไชยลังกา นี้แหละว่า “พระธรรมปิฎก ได้สร้างหลักธรรมคำสอนใหม่ โดยได้เผยแพร่ว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” แปลความหมายว่า “นิพพานเป็นทุกข์”

ญาติโยมชาวพุทธต้องแม่นว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” นั้น เป็นหลักพระพุทธศาสนาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นหลักธรรมคำสอนที่สร้างขึ้นใหม่ และ

ที่ว่า “นิพพานเป็นอนัตตา แปลความหมายว่า นิพพานเป็นทุกข์” นั้น เป็นคำพูดของพวก พ.อ. บรรจง ไม่ใช่คำพูดของพระธรรมปิฎก

นายทหารทุจริตพวก พ.อ. บรรจง ไชยลังกา พยายามพูดให้คนเข้าใจพระธรรมปิฎกผิดๆ เพื่อจะได้เข้าใจหลักพระพุทธศาสนาผิดๆ ไปด้วย

ข) ใช้ตรรกะแบบหลอกลวง

นายทหารทุจริตพวก พ.อ. บรรจง ไชยลังกา พยายามพูดหลอกชาวบ้านให้หลงเข้าใจว่า ใครก็ตามพูดว่า นิพพานเป็นอนัตตา ก็เท่ากับพูดว่านิพพานเป็นทุกข์

เรื่องนี้เขาใช้วิธีที่เรียกว่า ตรรกะแบบหลอกลวง หรือตรรกลวง คือใช้เหตุผลแบบล่อหลอก ให้คนที่ตามไม่ทันมองเห็นไปตามที่เขาชักจูง ด้วยวิธีพูดของนักรบนอกแบบ (แต่คนหัวไวจะจับเท็จเขาได้ และมองเห็นวิธีหลอกลวงของเขา) เรื่องอย่างนี้ญาติโยมต้องรู้ให้ทันไว้ อย่าให้คนจำพวกเจ้าเล่ห์มาหลอกได้

นอกจากฝึกตัวให้รู้ทันเขาแล้ว ก็ต้องเล่าเรียนศึกษาหรือหาความรู้ให้แม่นชัด ในหลักข้อสำคัญๆ ของพระศาสนาของเราเองด้วย จึงจะช่วยรักษาพระศาสนา หรือเป็นชาวพุทธชนิดเป็นหูเป็นตาที่รู้ทันเขาจริง

การรบนอกแบบนั้น นายทหารปกติเขาใช้กับศัตรู แต่นายทหารทุจริตพวก พ.อ. บรรจง เอามาใช้กับชาวพุทธและพระพุทธศาสนา นี่ก็แสดงว่า นายทหารทุจริต พวก พ.อ. บรรจง นี้ มองพระพุทธศาสนาและชาวพุทธว่าเป็นศัตรูของเขา

ได้บอกแล้วว่า พระนิพพานเป็นธรรมสูงสุด เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา จึงเป็นเป้าที่แท้ที่คน/นายทหารทุจริตพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจงมุ่งบิดเบือนหรือทำให้สับสน เพราะถ้าเขาทำตรงนี้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าเขาทำลายแกนกลางของพระพุทธศาสนาลงได้ เพราะฉะนั้น จึงจะยกเอาวิธีที่คนพวกนี้ทำลายหลักพระนิพพานมาชี้ให้ดู

ขอให้ญาติโยมชาวพุทธผู้รักพระพุทธศาสนา พยายามพิจารณาทำความเข้าใจสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ ถ้าอ่านแล้วเข้าใจชัดเจน ก็จะรู้ทันว่าคน/นายทหารทุจริตพวกนี้ทำการร้ายทุจริตต่อพระพุทธศาสนาและต่อชาวพุทธทั้งหลายอย่างไร

วิธีตรรกลวงที่คน/นายทหารทุจริตพวกนี้ใช้หลอกชาวบ้านในเรื่องนิพพาน คือ เขาจะหลอกให้เข้าใจผิดว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่านิพพานเป็นอัตตา เขาก็อ้างว่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็น อนัตตา”

คนพวกนี้ก็ถือโอกาสสรุปเอาเองว่า เพราะฉะนั้น “สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นทุกข์” ถ้าใครว่านิพพานเป็นอนัตตาก็คือบอกว่านิพพานเป็นทุกข์ แต่ตรงนี้เป็นคำพูดของคนพวกนี้เอง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสอย่างนี้

ขอให้สังเกตวิธีหลอกของเขา และดูให้ทัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” คนพวกนี้ก็สรุปย้อนกลับว่า เพราะฉะนั้น “สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นทุกข์”

ตรงนี้ ถ้าใครคิดไม่ทัน ก็ทำท่าชักจะเห็นคล้อยไปตามเขา

แต่ที่จริงจะสรุปย้อนกลับอย่างนั้นไม่ได้ ขอให้ดูตัวอย่างที่เป็นความจริงง่ายๆ เช่น

เมื่อเราพูดว่า “สัตว์ใดร้องเหมียวๆ สัตว์นั้นเป็นแมว, สัตว์ใดเป็นแมว สัตว์นั้นเกิดจากท้องแม่ (=เกิดจากครรภ์)” แล้วใครจะมาสรุปย้อนกลับว่า เพราะฉะนั้น “สัตว์ใดเกิดจากท้องแม่ สัตว์นั้นเป็นแมว”

อย่างนี้ญาติโยมย่อมรู้ทันว่าคนนั้นสรุปผิด หรือไม่เขาก็จะพยายามหลอกเรา “สัตว์ใดเป็นแมว สัตว์นั้นเกิดจากท้องแม่” นี้จริง

แต่ “สัตว์ใดเกิดจากท้องแม่ สัตว์นั้นเป็นแมว” อันนี้ไม่จริง ม้าก็เกิดจากท้องแม่ แต่ม้าก็ไม่เป็นแมว คนก็เกิดจากท้องแม่ แต่คนก็ไม่ได้เป็นแมว

ความจริงที่สรุปย้อนกลับไม่ได้อย่างนี้มีทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา เพราะอะไร? เพราะว่าข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของข้อความข้างหลัง ขณะที่ข้อความข้างหลังบอกความจริงกว้างกว่า หรือเป็นความจริงที่ครอบคลุมเรื่องข้างต้นไว้

ญาติโยมก็ยกตัวอย่างได้ เช่น “สัตว์ใดเป็นลูกแหง่ สัตว์นั้นเป็นวัว, สัตว์ใดเป็นวัว สัตว์นั้นเกิดจากท้องแม่” ตอนนี้ถูก แต่จะพูดย้อนกลับแบบพวก พ.อ. บรรจง ว่า “ใครเกิดจากท้องแม่ คนนั้นเป็นวัว” นี้ไม่ได้แล้ว คนก็เกิดจากท้องแม่ แต่คนก็ไม่ใช่วัว

บางคนอาจพูดว่า “ตัวใดเป็นนก ตัวนั้นเป็นสัตว์ปีก, ตัวใดเป็นสัตว์ปีก ตัวนั้นเกิดจากไข่” แต่จะพูดย้อนกลับไม่ได้ว่า “ตัวใดเกิดจากไข่ ตัวนั้นเป็นสัตว์ปีก” งูก็เกิดจากไข่ เต่าก็เกิดจากไข่ จระเข้ก็เกิดจากไข่ แต่งู เต่าและจระเข้ก็ไม่เป็นสัตว์ปีก

เด็กก็พูดได้ว่า “สัตว์ใดเป็นช้าง สัตว์นั้นมีสี่ขา, สัตว์ใดมีสี่ขา สัตว์นั้นต้องหายใจ” นี่ถูกต้อง แต่จะพูดสรุปย้อนกลับว่า “สัตว์ใดต้องหายใจ สัตว์นั้นมีสี่ขา” อย่างนี้ไม่ถูก คนก็หายใจ ปลาก็หายใจ แต่คนและปลาก็ไม่ได้มีสี่ขา

ข้อความที่ลึกลงไปกว่านี้ก็เช่นว่า “ส่วนใดของชีวิตคนแตกสลายไปได้ด้วยปัจจัยภายนอกที่ขัดแย้งเช่นอุณหภูมิ เป็นต้น ส่วนนั้นเป็นรูปกาย, สิ่งใดเป็นรูปกายของคน สิ่งนั้นเกิดจากธาตุทั้งหลายประกอบกัน” ตอนนี้ถูก

แต่จะพูดสรุปย้อนกลับแบบพวก พ.อ. บรรจงว่า “สิ่งใดเกิดจากธาตุทั้งหลายประกอบกัน สิ่งนั้นเป็นรูปกายของคน” อย่างนี้ไม่ได้ โต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา ยาทา ยากิน อาหาร ฯลฯ ก็เกิดจากธาตุทั้งหลายประกอบกัน แต่สิ่งเหล่านั้นก็มิใช่เป็นรูปกายของคน

ง่ายกว่านั้นอีกว่า “สิ่งใดเป็นสนิม สิ่งนั้นเป็นโลหะ, สิ่งใดเป็นโลหะ สิ่งนั้นเกิดจากธาตุ” ตอนนี้ถูก แต่ย้อนว่า “สิ่งใดเกิดจากธาตุ สิ่งนั้นเป็นโลหะ”=ไม่ถูก

อากาศที่เราหายใจก็เกิดจากธาตุ แต่อากาศไม่เป็นโลหะ ต่างกับโลหะลิบลับ

ที่ยกตัวอย่างมานี้ฉันใด พุทธดำรัสเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ฉันนั้น “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” นั้นเป็นพุทธพจน์ เป็นจริงแท้

แต่คำว่า “สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นทุกข์” อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสที่ไหนเลย เป็นคำพูดของพวก พ.อ. บรรจง แต่งขึ้นเอง ตามวิธีตรรกลวงที่ว่าแล้ว

“สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” ใช่ แต่จะพูดย้อนกลับว่า “สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นทุกข์” ไม่ได้ เพราะเรื่องอนัตตากว้างกว่าเรื่องไม่เที่ยงและเรื่องเป็นทุกข์ อนัตตาคลุมหมด

เหมือนข้อเปรียบเทียบเมื่อกี้ว่า

“สิ่งใดเป็นโลหะ สิ่งนั้นเกิดจากธาตุ”=ถูก “สิ่งใดเกิดจากธาตุ สิ่งนั้นเป็นโลหะ”=ไม่ถูก

“สัตว์ใดเป็นวัว สัตว์นั้นเกิดจากท้องแม่”=ถูก “สัตว์ใดเกิดจากท้องแม่ สัตว์นั้นเป็นวัว”=ไม่ถูก

“สัตว์ใดมีสี่เท้า สัตว์นั้นต้องหายใจ”=ถูก “สัตว์ใดต้องหายใจ สัตว์นั้นมีสี่เท้า”=ไม่ถูก

สัตว์ใดเป็นวัว สัตว์นั้นเกิดจากท้องแม่ สัตว์ใดมีสี่เท้า สัตว์นั้นต้องหายใจ แต่สัตว์ใดเกิดจากท้องแม่ และสัตว์ใดต้องหายใจ สัตว์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นวัวและไม่จำเป็นต้องมีสี่ขา คนก็เกิดจากท้องแม่ คนก็ต้องหายใจ แต่คนก็ไม่เป็นวัว และคนก็ไม่เป็นสัตว์สี่เท้า

สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ นิพพานเป็นอนัตตา แต่นิพพานเป็นสุข นิพพานไม่เป็นทุกข์เลย

ญาติโยมเข้าใจเรื่องอย่างนี้แล้ว ก็รู้ทันตรรกสวงของนายทหารทุจริตนักรบนอกแบบพวก พ.อ. บรรจง แล้วจะไม่หลงกลของเขาที่เที่ยวพูดว่า “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ถ้านิพพานเป็นอนัตตา นิพพานก็เป็นทุกข์” อันนี้เป็นเรื่องของเขา ถึงเราจะอธิบาย เขาก็ไม่ฟัง เพราะเขามีเจตนาร้าย ก็ต้องปล่อยเขาไป แต่อย่าให้หลอกเราได้ก็แล้วกัน

อนัตตามีขอบเขตกว้างขวางกว่าเรื่องไม่เที่ยงและเรื่องเป็นทุกข์ เรื่องอนัตตาครอบคลุมไปหมด นิพพานเป็นอนัตตา แต่นิพพานไม่เป็นทุกข์

เรื่องนี้ดูกันต่อไป จะยิ่งชัดมากขึ้นอีก

ค) ใช้วิธีพูดโมเมเหมาเอาเอง

ตรรกะแท้ที่ถูกต้อง จะบอกเราให้เห็นชัดว่า นิพพานเป็นอนัตตา แต่นิพพานไม่เป็นทุกข์ และตรรกะแท้นี้ตรงตามหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ซึ่งเรียกว่าหลัก “ธรรมนิยาม” (แปลง่ายๆ ว่า กฎธรรมชาติ)

ความเป็นอนิจจัง-ไม่เที่ยง ทุกขัง อนัตตา นี้ เรียกง่ายๆ ว่าไตรลักษณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักธรรมนิยามนี้เอง

ในหลักธรรมนิยามนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๗๖ หน้า ๓๖๘) ว่า

สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง

สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์

ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา

ชาวพุทธจำพุทธพจน์นี้กันไว้ให้แม่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” แต่สุดท้ายตรัสว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ขอให้สังเกตความแตกต่าง

ข้อ ๑ และ ที่ว่า ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะ “สังขาร” ทั้งปวง

แต่ ข้อ ๓ ที่ว่า เป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรม” ทั้งปวง นี้หมายความว่าอย่างไร

ต้องรู้ก่อนว่า สังขาร ในข้อ ๑ และ ๒ กับ ธรรม ในข้อ ๓ คืออะไร

พูดง่ายๆ ว่า สังขาร เป็นส่วนหนึ่งของธรรม

แต่ธรรมนั้นรวมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นสังขาร และที่ไม่เป็นสังขาร

อธิบายอีกหน่อยว่า ธรรม ได้แก่อะไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่าง

ธรรม นั้นแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ธรรม ที่ปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขตะ ได้แก่ สังขาร

๒. ธรรม ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอสังขตะ ได้แก่ วิสังขาร

นิพพานเป็นธรรมในข้อ ๒ คือเป็นวิสังขาร ซึ่งเป็นอสังขตะ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

นิพพานเป็นธรรม แต่ไม่เป็นสังขาร เพราะนิพพานเป็นธรรมประเภทวิสังขาร

⭘ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา

นิพพานเป็นธรรม เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นอนัตตา

◉ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์”

นิพพานไม่เป็นสังขาร เพราะฉะนั้น นิพพานจึงพ้นจากความไม่เที่ยง และ นิพพานจึงไม่เป็นทุกข์

นี่แหละจะเห็นว่า เรื่องอนัตตากว้างกว่าเรื่องอนิจจังและทุกขัง

⬧ สิ่งใดเป็นอนิจจังและทุกขัง สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

⬨ แต่สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่จำต้องเป็นอนิจจังและทุกขัง (บางอย่างเป็น แต่บางอย่างไม่เป็น)

ธรรมนั้น กว้างกว่าสังขาร “ธรรมทั้งปวง” หมายถึงทั้งสังขารธรรม และวิสังขารธรรมคือนิพพานด้วย ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา จึงรวมทั้งนิพพานด้วย

ธรรมทั้งสิ้นทั้งปวงหมดทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ธรรมที่เป็นสังขารเท่านั้นเป็นอนิจจังและทุกขัง นิพพานจึงเป็นอนัตตา แต่ไม่เป็นอนิจจัง-ทุกขัง เพราะนิพพานเป็นธรรมที่ไม่เป็นสังขาร

คน/นายทหารทุจริตกลุ่มพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง มาเจอพุทธพจน์แสดงธรรมนิยามหลักใหญ่นี้เข้า ก็ไม่มีทางไป ได้แต่หลบเลี่ยงไปมา แล้วก็ใช้วิธีคลุมๆ เครือๆ เหมาโมเมให้เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าตรัสทั้ง ๓ ข้อนั้นเป็นเรื่องสังขารทั้งหมด

ถ้าถูกทักท้วงว่าในข้อ ๓ พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรม ไม่ใช่ตรัสแค่สังขาร เขาก็จะพูดอ้อมไปอ้อมมาเหมาโมเมคลุมๆ เครือๆ เอาว่าธรรมก็สังขารนั้นแหละ อะไรทำนองนี้ คือจะไม่ยอมแตะตรงนี้ให้ชัดเด็ดขาดลงไป

ขอให้สังเกตดู พวกที่จะเอานิพพานเป็นอัตตา จะต้องทำตีคลุมและตีขลุม แบบเดียวกับคน/นายทหารทุจริตกลุ่มพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง นี้แหละ

ที่จริงก็เรื่องง่ายๆ ถ้าสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือสิ่งจำพวกเดียวกันทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สังขารทั้งปวง” มา ๒ ข้อแล้ว พอถึงข้อ ๓ จะทรงเปลี่ยนให้ต่างออกไปทำไมว่า “ธรรมทั้งปวง”

ถ้าเท่ากันเหมือนกัน พระองค์ก็ตรัสคำเดิมเท่านั้น แต่ที่ทรงเปลี่ยนข้อ ๓ เป็น “ธรรมทั้งปวง” ก็เพราะข้ออนัตตากว้างกว่า อย่างที่ว่ามานี้

ง) บิดเบือนหลักฐาน ทำพระไตรปิฎกให้ฟั่นเฟือน

แท้จริงนั้น คำวินิจฉัยว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” ก็มีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์ปริวาร พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ ๘ ข้อ ๘๒๖ หน้า ๒๒๔ ที่กล่าวว่า

อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตาจ สงฺขตา

นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา ฯ

แปลว่า: “สังขารทั้งปวง อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพาน และบัญญัติ เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้”

ชาวพุทธย่อมรู้ดีว่า พระไตรปิฎกเป็นที่รักษาพระธรรมวินัยซึ่งเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า และเป็นเนื้อเป็นตัวเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เรารู้จักพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์ก็ด้วยมีพระไตรปิฎกมาถึงเรานี่แหละ

พระไตรปิฎกนั้น แม้ว่าบางส่วนจะเกิดหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เช่นเล่ม ๓๗ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕ นิพนธ์ขึ้นสำหรับการสังคายนาครั้งนั้น ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่รวมแล้วทั้งหมดนั้น ซึ่งนับจำนวนได้ ๔๕ เล่ม เป็นของสืบมาในสายแห่งการรักษาพระธรรมวินัย ที่พระสังฆเถราจารย์ร่วมรู้ดูแลยอมรับร่วมกันถือเป็นหลักกลางของพระพุทธศาสนา และยุติลงตัวแน่นอนมานานนักแล้วก่อนสมัยที่เรียกว่ายุคอรรถกถา ดำรงอยู่อย่างเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐานตัดสินความเชื่อคำสอน และการปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

ใครมีความคิดเห็นในหลักธรรมอย่างไรๆ ก็แสดงอัตโนมติของตนได้ แต่ต้องทำอย่างซื่อตรง แยกให้ชัดว่าหลักกลางเป็นอย่างนี้ ความเห็นของตนเป็นอย่างนี้

แต่ทั้งที่หลักฐานในพระไตรปิฎกบอกอยู่ชัดเจนว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” ซึ่งชาวพุทธต้องถือเป็นหลักตัดสิน และต้องมีความเคารพ แต่คน/นายทหารทุจริตกลุ่มพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง ได้ทำทุกอย่างที่จะให้งานบิดเบือนพระธรรมวินัยสำเร็จตามเป้าหมายของเขา โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายใดๆ

ขอให้ดูกรรมบาปทุจริตของคนกลุ่มพวกนี้

● เขาบิดเบือนบอกว่าปริวารเป็นคัมภีร์ชั้นพวกอรรถกถา เพื่อให้คนที่ไม่รู้เกิดความไม่เชื่อถือหลักฐานที่แสดงไว้ในคัมภีร์นั้น เป็นการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดว่าคัมภีร์ปริวารไม่ใช่พระไตรปิฎก (ที่วัดใด หรือใครก็ได้ ที่มีพระไตรปิฎก ควรจะลองไปเปิดตู้ดู ก็จะพบคัมภีร์ปริวารนี้ เป็นเล่มที่ ๘ อยู่ในพระไตรปิฎกชุดนั้น)

ยิ่งกว่านั้น ด้วยความไม่รู้จริง หรือความไม่รอบคอบในการทำทุจริต เขาเรียกชื่อคัมภีร์นี้ผิดๆ เป็น “ปริวารวัคค์”

(ดูหนังสือของคนนายทหารทุจริตกลุ่มพวกนี้ เล่มที่ชื่อว่า พระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ หน้า ๙๓ และ ๑๒๑; คัมภีร์หรือหมวดตอนในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่ในรุ่นหลัง ชั้นอรรถกถา และฎีกา ไม่มีอันใดเลยที่มีชื่อว่าปริวารวัคค์ นอกจากที่เรียกเผลอไป)

● นอกจากบิดเบือนชื่อและฐานะของคัมภีร์แล้ว เมื่อเขายกเอาเนื้อความแม้แต่ในพระไตรปิฎกมาอ้าง เขาก็จะบิดเบือนแต่งเติมข้อความให้เป็นไปตามที่เขาต้องการ เหมือนอย่างที่เขาทำกับหนังสือของพระธรรมปิฎก

(เช่น ในหนังสือพระพุทธศาสนา ชะตาของชาติ ที่พูดถึงข้างบน ใกล้ๆ กับ เรื่องคัมภีร์ปริวารนั้นเอง หน้า ๑๒๓ เขาจะสร้างเรื่องบิดเบือนหลักพระพุทธศาสนาให้เป็นไปว่า พระพุทธเจ้านิพพานแล้วไปชุมนุมอยู่ในที่เดียวกัน เขาก็ยกข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง คือ เล่ม ๒๑ ข้อ ๒๑ หน้า ๒๕ มาอ้าง แต่ข้อความที่แท้จริงเป็นเรื่องว่าพระพุทธเจ้าทรงอยู่อาศัยธรรม โดยทรงเคารพธรรม ไม่ใช่เรื่องสถานที่ เขาก็เติมคำว่า “ณ ที่นั้น” เข้ามาดื้อๆ อย่างไม่ละอายเลย)

● แม้แต่กับพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักพระศาสนา เป็นที่เคารพอย่างสูงของชาวพุทธ เขายังทำได้ถึงอย่างนี้ ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นเจตนาที่แท้ของคนพวกนี้ และความรู้สึกนึกคิดของเขาต่อพระพุทธศาสนา คือเขาไม่เพียงไม่จริงใจ ไม่เคารพเท่านั้น แต่เขาจะทำลายได้แน่นอน และที่เขาทำอย่างนี้ก็คือเขากำลังทำลายอยู่แล้ว

การที่เขาทำอย่างนี้ ไม่เพียงไม่จริงใจต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่พวกเขาไม่เคารพสัจจะ ไม่รักความจริงใดๆ เลย

ที่แน่นอนที่สุดก็คือ การกระทำทุจริตผิดวิสัยของชาวพุทธถึงขั้นนี้ เป็นการประกาศตัวเองว่าเขามิได้นับถือพระพุทธศาสนา มิใช่เป็นพุทธศาสนิกชน

จ) ใส่ร้ายผู้อื่นให้เป็นคริสต์ เพื่อให้ตัวได้ช่องเอาคริสต์เข้ามา

หลักฐานมีอยู่ชัดเจนว่า ทางองค์กรคริสต์ และนักเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ได้พยายามที่จะเอานิพพานของพระพุทธศาสนาไปเทียบให้เป็นอัตตา คือให้เป็นอย่างพระผู้เป็นเจ้าของเขา ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ ตอน ๒ หน้า ๖๕ ได้เอาหลักฐานมาให้ดูแล้วว่า ทางองค์กรคริสต์และนักบวชคริสต์ได้พยายามอย่างไร ที่จะเอานิพพานเป็นอัตตาให้ได้

เรื่องนี้ขอให้สังเกตให้ดีว่า คน/นายทหารทุจริตกลุ่มพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง ได้ปั้นแต่งเรื่องเท็จขึ้นมามากมาย เพื่อใส่ร้ายพระธรรมปิฎกให้เป็นคนของคริสต์ หรือได้รับจ้างเอาเงินของคริสต์มาทำงานทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้น่าสงสัยว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม คือ ทำไมเขาจึงพยายามแต่งเรื่องให้พระธรรมปิฎกเป็นคริสต์ ในขณะที่เขาเองนั้นซ่อนตัวมาเพื่อจะเอานิพพานไปเป็นอัตตาแบบคริสต์ แต่ถึงตอนนี้เราจับจุดได้แล้ว ก็มองเห็นต้นเห็นปลายชัดแจ้งว่า

๑. เขาจะทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นคริสต์หรือเป็นอย่างคริสต์ โดยจัดการกับธรรมข้อสูงสุดคือพระนิพพานเลยทีเดียว ให้นิพพานเป็นไปตามหลักของคริสต์ คือให้นิพพานเป็นอัตตา (ตามหลักคริสต์ถือว่ามีพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับพรหมัน หรือปรมาตมันของศาสนาพราหมณ์ คือเป็นอาตมันใหญ่ หรืออัตตาใหญ่ แล้วให้เราทุกคนนี้เป็นอาตมันย่อยๆ หรือเป็นอัตตาตัวน้อยๆ)

๒. แต่เขาจะบิดเบือนอย่างนี้ได้สำเร็จ ก็ต้องทำลายผู้แสดงหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ คือหลักอนัตตาลงให้ได้ก่อน และวิธีทำลายอย่างหนึ่งก็คือ เอาคนที่แสดงหลักพุทธแท้นั้นมาปั้นแต่งใส่ร้ายให้ถูกมองเป็นคริสต์ไปเสีย คนก็จะกลับเอาถูกเป็นผิด และเอาผิดเป็นถูกไปเอง แล้วชาวพุทธนั่นแหละก็จะเปิดทางให้เขาเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาโดยง่าย

อย่างไรก็ตาม กลวิธีนี้ของเขากลายเป็นจุดพลาดที่เขาจะถูกจับได้ง่าย เพราะศาสนาคริสต์ถือหลักอัตตาหรืออาตมันอย่างชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว พิสูจน์ได้ง่ายอย่างยิ่ง และหลักฐานที่ว่าบาทหลวงและนักเผยแพร่ของคริสต์ได้พยายามเอานิพพานไปเป็นอัตตา ก็มีอยู่มากเพียงพอ เพียงแต่ขอให้ชาวพุทธเราเป็นนักตรวจสอบชอบหาหลักฐานกันหน่อยเท่านั้น ก็จะจับเท็จทุจริตของคน/นายทหารทุจริตกลุ่มพวก ดร. เบญจ์-พ.อ. บรรจง นี้ได้ไม่ยากเลย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๒ – แต่เรื่องที่เขาบิดเบือนพระธรรมวินัย ต้องให้ชาวบ้านเข้าใจชัดแจ้งชาวพุทธต้องแม่นชัดในหลักธรรมที่สำคัญ มิฉะนั้นไม่เห็นทางรักษาพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย >>

No Comments

Comments are closed.