ชาวพุทธต้องแม่นชัดในหลักธรรมที่สำคัญ มิฉะนั้นไม่เห็นทางรักษาพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย

1 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 7 จาก 9 ตอนของ

ชาวพุทธต้องแม่นชัดในหลักธรรมที่สำคัญ
มิฉะนั้นไม่เห็นทางรักษาพระพุทธศาสนาให้ปลอดภัย

หลักพระพุทธศาสนาที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา คือไม่เป็นอัตตานั้น ได้ยกมาให้ดูข้างต้นเฉพาะส่วนที่ชี้วิธีหลอกลวงของกลุ่มคน/ทหารทุจริตพวกนี้ คือ

  • คำตรัสว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” ไม่ได้แปลว่า สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะอนัตตากว้างใหญ่กว่าทุกข์
  • หลักธรรมนิยาม ว่า สังขารเท่านั้นไม่เที่ยง-เป็นทุกข์ นิพพานไม่เป็นสังขาร นิพพานจึงเที่ยง-ไม่เป็นทุกข์ แต่ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา นิพพานก็รวมอยู่ในธรรม นิพพานจึงเป็นอนัตตา
  • พระไตรปิฎกเล่ม ๘ ระบุชัดเจนว่าหลักพระพุทธศาสนาวินิจฉัยแล้วว่า นิพพานเป็นอนัตตา

ในชั้นอรรถกถา ซึ่งเป็นมาตรฐานและเป็นเกณฑ์ตัดสินในพระพุทธศาสนารองลงมาจากพระไตรปิฎก มีหลักฐานที่ระบุชัดมากมายว่านิพพานเป็นอนัตตา (คน/นายทหารทุจริตพวกนี้ก็แสดงตัวลบหลู่ปฏิเสธอรรถกถาขึ้นมาลอยๆ ด้วย โดยไม่มีเหตุผล)

ขอแทรกข้อควรรู้ไว้นิดหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนหลักว่า อัตตาหรือตัวตนมิใช่เป็นสภาวะที่มีจริง สภาวธรรม (แปลง่ายๆ ว่า สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน) ที่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้างนั้น มันก็มีอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นตามธรรมดาของมันไม่เป็นใคร ไม่เป็นของใคร ไม่มีชื่อเรียกว่าเป็นอะไรๆ นี่คือ เป็นอนัตตา

อย่างไรก็ตาม อัตตาหรือตัวตนนั้น มีได้โดยสมมติ หรือมีในระดับสมมติ หมายความว่า สภาวธรรมที่มีอยู่จริงของมัน ไม่เป็นอะไร ไม่เป็นของใครนั้นแหละ เรามากำหนดหรือตกลงกันเรียกซ้อนขึ้นมาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นต้น อัตตาหรือตัวตนก็มีขึ้นมา เพื่อสะดวกแก่การสื่อสารเรียกขาน เป็นต้น

อัตตานั้น นอกจากไม่มีจริงแล้ว อัตตาก็ดีๆร้ายๆ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสอัตตาตามภาษาสมมติเท่านั้น เป็นอัตตาดีก็มี ชั่วก็มี และเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ในพระไตรปิฎกพบทั่วไปว่า อัตตาทำบุญ ทำบาป ทำปาณาติบาต กาเมสุมิจฉาจาร เกียจคร้าน โศกเศร้า เจ็บไข้ ฯลฯ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ต้องฝึกให้ดีจึงจะพึ่งได้ ใครว่านิพพานเป็นอัตตา ก็คือเอานิพพานเป็นของไม่จริง ไม่เที่ยง สุขๆ ทุกข์ๆ จึงผิดแน่ๆ ไม่มีแง่สงสัย

ที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตานั้น ไม่ใช่แปลว่าไม่มี แต่หมายความว่า สภาวธรรมทั้งหลาย ดำรงอยู่หรือเป็นไปตามธรรมดาของมัน เช่นถ้าเป็นสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันไม่เป็นตัวเป็นตนอะไร ของใครๆ ใครจะเรียกร้องหรือบังคับให้เป็นไปตามใจปรารถนาไม่ได้ (เรียกว่าไม่เป็นไปในอำนาจ หรือตามการสั่งบังคับของใคร)

ดูง่ายๆ แม้แต่ร่างกายที่เรียกว่าของเรา ที่จริงเราก็บังคับบัญชามันจริงๆ ไม่ได้ เราเพียงแต่ทำเหตุปัจจัยให้ตรงตามระบบความสัมพันธ์ของมัน แล้วมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น เช่น มือที่ว่าเป็นของเรา เพียงว่าเส้นประสาทเสียไป เราจะถือความเป็นเจ้าของแล้วสั่งมันอย่างไร เมื่อขาดเหตุปัจจัยนั้นแล้ว คำว่ามือของเราก็ไม่มีความหมายใดๆ

นิพพานก็เป็นสภาวธรรม ซึ่งดำรงอยู่อย่างนั้น ไม่เป็นของใคร และไม่มีใครสั่งบังคับ ไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร การที่ว่านิพพานเป็นอนัตตาจึงเป็นเรื่องธรรมดา และจึงไม่มีผู้บรรลุธรรมท่านไหนจะไปยึดถือนิพพานเป็นอัตตา มีแต่มนุษย์ปุถุชนเท่านั้นที่ท่านต้องบอกต้องย้ำไม่ให้ยึดถือโน่นนี่เป็นตัวเป็นตนเป็นอัตตา

รวมความว่า อัตตาไม่มีจริงเลยโดยสภาวะ มีแต่โดยสมมติเท่านั้น จึงเป็นธรรมดาว่า ท่านที่บรรลุธรรมตั้งแต่เป็นโสดาบันขึ้นไป ซึ่งหมดอุปาทานในทิฏฐิแล้ว จะไม่ยึดถืออะไรๆ เป็นอัตตา

ขอให้ระลึกถึงพุทธพจน์ต่อไปนี้ไว้เป็นหลัก

ก) ศาสดาที่เป็นสัมมาสัมพุทธะ จะไม่ถือว่าอัตตามีจริง

ดูกรเสนิยะ ศาสดา ๓ ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก . . .

๑. ศาสดาที่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาที่เป็น สัสสตวาท (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าเที่ยง)

๒. ศาสดาที่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ เฉพาะในปัจจุบัน ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า นี้เรียกว่า ศาสดาที่เป็น อุจเฉทวาท (ลัทธิมิจฉาทิฏฐิว่าขาดสูญ)

๓. ศาสดาที่ไม่บัญญัติ อัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาผู้ สัมมาสัมพุทธะ

(อภิ.ก. ๓๗/๑๘๘/๘๒ และ อภิ.ปุ. ๓๖/๑๐๓/๑๗๙)

ข) เพราะยึดมั่นขันธ์ ๕ จึงเกิดความเห็นผิดว่ามีอัตตา

ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดถืออะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา…

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป… เมื่อเวทนา… เมื่อสัญญา… เมื่อสังขาร… เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัย (รูป… เวทนา… สัญญา… สังขาร…) วิญญาณ เพราะยึดมั่น (รูป… เวทนา… สัญญา… สังขาร…) วิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา

(สํ.ข.๑๗/๔๑๙/๒๕๐)

ค) สิ่งที่ใครก็ตามมองเห็นเป็นอัตตา ไม่มีอะไรอื่นนอกจากขันธ์ ๕

ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลาย ก็ดี พราหมณ์ทั้งหลาย ก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ก็ตาม เมื่อจะมองเห็นอัตตา/ตัวตน แบบต่างๆ เป็นอเนก ย่อมมองเห็นอุปาทานขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่ก็มองเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาอุปาทานขันธ์เหล่านั้น

(สํ.ข.๑๗/๙๔/๕๗)

ง) เป็นไปไม่ได้ ที่ผู้ถึงธรรม จะยึดถือสิ่งใดเป็นอัตตา

อภพฺโพ ทิฏฺิสมฺปนฺโน ปุคฺคโล กญฺจิ ธมฺมํ อตฺตโต อุปคนฺตุํ

(อง.ฉกฺก. ๒๒/๓๖๔/๔๘๙)

บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (คือพระโสดาบัน) เป็นผู้ไม่อาจเป็นไปได้ ที่จะยึดถือธรรมใดๆ ว่าเป็นอัตตา

ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (พระโสดาบัน) จะพึงยึดถือสังขารใดๆ ว่าเที่ยง … จะพึงยึดถือสังขารใดๆ ว่าเป็นสุข … จะพึงยึดถือธรรมใดๆ ว่า เป็นอัตตา นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

แต่มีฐานะเป็นไปได้ที่ปุถุชน จะพึงยึดถือสังขารบางอย่างว่าเที่ยง … จะพึงยึดถือสังขารบางอย่างว่าเป็นสุข … จะพึงยึดถือธรรมบางอย่างว่าเป็นอัตตา นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้ …

(ดู ม.อุ. ๑๔/๒๔๕/๑๗๐; องฺ.เอก. ๒๐/๑๕๓/๓๔; อภิ.วิ. ๓๕/๘๓๙/๔๕๔)

จ) พระอรหันต์เป็นผู้ละอัตตา(ละการยึดถืออัตตา)แล้ว

พราหมณ์แท้(คือพระอรหันต์)… เป็นอัตตัญชหะ (ผู้ละอัตตาได้ คือละการยึดมั่นถืออัตตา/ตัวตนได้แล้ว) (ขุ.สุ. ๒๕/๔๑๑/๔๘๙)

อตฺตํ ปหาย อนุปาทิยาโน

(พระอรหันต์) ละอัตตาแล้ว (คือละการยึดมั่นถือว่าเป็นหรือมีอัตตา/ตัวตนแล้ว) ไม่ยึดติดถือมั่น(อะไรๆ) (ขุ.สุ.๒๕/๔๑๒/๔๙๑)

พุทธพจน์ และข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ เพื่อให้ญาติโยมดูไว้ จะได้สามารถวินิจฉัยอะไรๆ ได้ตามหลักพระพุทธศาสนาของเรา และจะได้ไม่หลงไปตามคำหลอกลวงของคนทุจริต

กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจว่า ชาวพุทธเรานี้จะต้องรู้จักและศึกษาพระไตรปิฎกกันบ้าง อย่างน้อยให้รู้หลักพระพุทธศาสนาที่เป็นข้อสำคัญ โดยเฉพาะพระสงฆ์ต้องสามารถเป็นหลักให้แก่ชาวบ้าน อย่าให้คนภายนอกมาหลอกลวงบิดเบือนได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าเขาทำให้ชาวพุทธเขวเรื่องนิพพานได้ งานทำลายพระพุทธศาสนาก็ถึงเป้าที่เขาหวังเพราะเจตนาร้าย บวกความเท็จทุจริต และการขาดความกล้าหาญ เขาจึงต้องแอบอ้างสถาบันสำคัญมาทำการอันน่าละอาย >>

No Comments

Comments are closed.