- ทันโลก ถึงธรรม (เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช)
- สังคมไทย ใกล้กึ่งพุทธกาล หันหลังให้วัด
- ถึงกึ่งพุทธกาล ในอเมริกา พระพุทธศาสนา โผล่ขึ้นมากับคนรุ่นใหม่
- ตั้งแต่ฮิปปี้โผล่ออกมา อเมริกาวุ่นวายไปนาน
- เรื่องของโลกนี้ ที่แม้ไม่ต้องสนใจ แต่ควรรู้ไว้
- บริโภคนิยมคายพิษภัยออกมา ไม่ช้าก็ชัดว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน
- ขึ้นสหัสวรรษใหม่ คนเจอโรคระบาดใหม่ รับรองโดยองค์การอนามัยโลก
- บริโภคนิยมว่า กินให้เต็มที่ จะมีสุขเหลือล้น แต่ผลโชว์ว่า คนก็ฉุ โลกก็เน่า
- ฮิปปี้เงียบหาย กระแสนิยมสมาธิขยายยืนยาวต่อมา
- กระแสถึงกัน แต่สังคมห่างกัน
- จะปฏิบัติธรรม พึงเห็นธรรมทั้งระบบ ครบกระบวน ทั้งลำดับขั้นตอน และความสัมพันธ์
- หลักรมณีย์ ที่ลืมเลือนไป ชวนกันฟื้นขึ้นใหม่ ทำทั่วถิ่นไทยให้งามรื่นรมย์
- ปฏิบัติการต้นทาง ไม่ทำ จู่ๆ มาเพียรตอนท้าย อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
- ปฏิบัติธรรมให้ครบทั้งระบบ จบถึงจุดหมายของชีวิต
- ปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ จะได้การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ปฏิบัติธรรม ครบระบบ จบกระบวน คือการศึกษา ๓ ออกเป็น ภาวนา ๔
- จุดบอดของมนุษย์อยู่นี่: มีทุกข์ภัยให้ต่อสู้ ก็เจริญขึ้นไป พอสุขสบาย ก็เฉื่อยชาหาความเพลิดเพลิน ก้าวไม่ไหว
- ถ้าความไม่ประมาทมา ไม่ต้องเถียงกันว่า จะดีกว่า หรือจะเก่งกว่า
- งานพุทธธรรม สู่การพัฒนา
- คำปรารภ
คำปรารภ
ในชีวิตของอาตมา ที่อยู่กับโรคภัยไข้เจ็บ ได้เข้าๆ ออกๆ นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเรื่อยมานั้น นับเฉพาะในช่วงเวลาใกล้ปัจจุบัน มองย้อนหลังไปตลอดเวลาหลายปีจนถึงบัดนี้ ไม่ว่าครั้งใดที่ได้เข้านอนพักใน รพ. ศิริราช ถ้ามิใช่ในวันนั้นเอง อย่างช้าในวันรุ่งขึ้น ก็ได้พบกับคุณประพัฒน์ เกษสอาดซึ่งเข้ามาเยี่ยม พร้อมกับคุณหมอกาญจนา หรือตามหลังมา
ตลอดเวลาหลายปีที่ว่านั้น คุณประพัฒน์ได้ประสบปัญหาสุขภาพทรุดโทรมลงไปมากแล้ว มีอาการไม่สบายอ่อนแอสืบเนื่องจากโรคหัวใจและปอด และประสบปัญหาในการหายใจอยู่เป็นประจำ แต่ด้วยน้ำใจเกื้อการุณย์ ก็ได้ไปเยี่ยมอาตมาทุกครั้งที่ไปไหว ยังอยู่ในความจำ เป็นภาพติดตา
ย้อนหลังไกลออกไปอีก ตั้งแต่อาตมายังอยู่ในกลางกรุง ที่วัดพระพิเรนทร์ ถิ่นที่คละคลุ้งด้วยฝุ่นควันมลพิษ ได้อาพาธเป็นวัณโรคร้ายแรง ไอเป็นเลือดมากมาย หลังจากหายโรค เนื้อปอดได้เสียไปมากแล้ว ต่อมา ได้ไปอยู่ที่กุฏิท้ายวัด มีหน้าต่างตรงกับปากท่อระบายควันพิษของน้ำยาประสานทองจากร้านทำทองอีก ๑๗ ปี เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๒๘ ระบบการหายใจและพูดจาเสื่อมทรุดมาก ถึงขั้นที่ใครมาหานั่งข้างหน้าห่าง ๒ ศอก ก็ต้องตะเบ็งพูดให้เสียงออกมา และเจ็บหน้าอก ญาติโยมผู้ใหญ่ตกลงกันว่าจะยอมให้อาตมาอยู่ที่นั่นต่อไปไม่ได้
เนื่องจากเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน ต้องให้ทันก่อนเข้าพรรษา ปี ๒๕๒๙ ก่อนจะหาวัดหรือสำนักที่เหมาะจะไปอยู่ประจำได้ ครั้งนั้น โดยการประสานของคุณหมอกาญจนา และคุณประพัฒน์หนุน ก็ได้รับนิมนต์จากคุณบุญเจิด และคุณสายใจ หลิมสุนทร ไปพักที่ศาลากลางสระ อ.ลำลูกกา เป็นสถานพำนักสงฆ์ชั่วคราว
ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๙ เป็นเวลายาวนานที่โยมยุคสร้างวัดได้ช่วยกันสืบเสาะเที่ยวหาถิ่นสัปปายะที่จะนิมนต์พระไปอยู่ประจำ บางแห่งก็นิมนต์พระเดินทางไปดู จนกระทั่งในที่สุด คุณหมอกาญจนา โดยการร่วมพิจารณาในสายตาสถาปนิกของคุณประพัฒน์ และคุณยงยุทธ์ ได้พบถิ่นทุ่งนาชนบทที่เหมาะ ด้านหลังพุทธมณฑล แล้วคุณยงยุทธ์ และคุณชุติมาจึงได้ติดต่อและเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงแรกที่ใช้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งเกิดเป็นวัดญาณเวศกวันใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ดังที่ทราบกันแล้ว
วัดญาณเวศกวันเป็นวัดใหม่ มีกุฏิเพียง ๒ หลัง และหลังจากจำพรรษาแรกที่วัดญาณเวศกวัน ในปี ๒๕๓๒ แล้ว ต่อจากนั้น พระสงฆ์ได้ไปจำพรรษา ที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรม บนเขาดงยาง ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ถึง ๒๕๓๗ รวม ๕ พรรษา
พอขึ้นปีใหม่ ๒๕๓๘ งานก่อสร้างเสนาสนะครั้งใหญ่ของวัดญาณเวศกวัน ก็เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๘ ม.ค. โดยให้เริ่มตอกเสาเข็มกุฏิชุด ซึ่งเป็นเสนาสนะหลักของวัดนี้ ที่คุณประพัฒน์ เกษสอาด ทั้งเป็นผู้ออกแบบ และดูแลการก่อสร้างมาจนเสร็จ
ครั้งนั้น พระครูปลัดฯ (คือท่านเจ้าคุณพระมงคลธีรคุณในบัดนี้) และพระป่าชาวสวิส Āsabho ได้แยกจากหลวงลุงพระครูสังฆรักษ์ฉาย ย้ายขึ้นไปอยู่บนกุฏิชุดที่เสร็จใหม่นั้น เป็นประเดิม ในวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๓๙
ปีต่อมา ๒๕๔๐ พอขึ้นปีใหม่ไปหน่อยหนึ่ง ถึง ๑๒ ม.ค. โยมผู้ใหญ่ทั้งหลายก็มีมติตกลงซื้อที่ดินข้างวัดด้าน ต.ตก ถวายวัดราว ๘ ไร่ เพื่อใช้เป็นที่สร้างโบสถ์ ให้เด่นมีบริเวณเป็นเอกเทศ โดยคุณหมอกาญจนาได้เป็นผู้ชักนำญาติโยมในการซื้อที่ดิน และคุณประพัฒน์ ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัด และเป็นสถาปนิกด้านสถาปัตยกรรมไทย นอกจากร่างแบบ sketch design แล้ว ก็ได้ร่วมดูแลแก้ไขงานสร้างโบสถ์ในระยะสุดท้าย โดยมีพระครูปลัดฯ เป็นผู้ชี้แนะ จนได้โบสถ์ออกมางามสง่าหมดจด
ในกระบวนงานสร้างเสนาสนะและอาคารต่างๆ ของวัดนั้น เมื่อคุณประพัฒน์เป็นสถาปนิก ก็มีวิศวกรร่วมงานด้วย วิศวกรที่ทำงานยืนโรงตลอดมาจนถึงบัดนี้ ก็คือ คุณสุรพงศ์ ศิริวิชยกุล ซึ่งทำงานอยู่เงียบๆ ไม่แสดงตัว น้อยคนนักจะได้เห็นได้รู้จัก ควรจะพูดว่า สถาปนิก คือคุณประพัฒน์ เกษสอาด และวิศวกร คือคุณสุรพงศ์ ศิริวิชยกุล สองท่านนี้ นับว่าเป็นคู่บุญในการสร้างวัดญาณเวศกวันมาถึงปัจจุบันนี้
งานสร้างวัดดำเนินมาในบรรยากาศสงบสงัดของวัดที่ยังมีพระสงฆ์เพียงน้อยรูป พระก็อยู่กับศาสนกิจศึกษาเล่าเรียนเผยแผ่ธรรม โดยมีโยมผู้เฒ่าผู้แก่ผู้ใหญ่ผู้น้อยมากหลายศรัทธามาเป็นกำลังพาให้การสร้างวัดก้าวผ่านกาลเวลายาวนานมากกว่า ๓๐ ปี มาถึงความพรั่งพร้อมในสภาพที่อุดมในความเป็นรมณีย์อย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน
งานก่อสร้างใหญ่น้อยยังมีอีกมากหลาย เช่นอย่างเสาอโศก ที่ตั้งเด่นอยู่ท้ายวัด ซึ่งเมื่อได้ตกลงสร้างขึ้นเป็นจุดบรรจบของที่ดินวัด ๓ แปลง คุณหมอกาญจนาก็รับเรื่อง และคุณประพัฒน์ได้ดำเนินการจนสำเร็จ ดังนี้เป็นต้น แต่ขอเล่าไว้เท่านี้เป็นนิทัศน์
บัดนี้ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ได้ล่วงลับจากไปแล้ว แม้จะพูดได้ว่า กระแสความคิดจิตปัญญาของคุณประพัฒน์ ยังซึมซ่านอยู่ในงานสร้างสรรค์ที่ได้ทำไว้ทั่ววัดญาณเวศกวันนี้ แต่เห็นว่าควรจัดพิมพ์หนังสือสื่อธรรมเป็นที่ระลึกให้ปรากฏยืนนานไว้ ซึ่งจะเป็นการได้เล่าความเป็นมาของวัดญาณเวศกวันนี้พร้อมไปด้วย
พอดีได้จังหวะประจวบกันว่า อาตมาได้รับนิมนต์ให้เขียนธรรมบรรยายเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า พัฒนาพุทธธรรมศิริราช เมื่อเขียนเสร็จแล้ว เห็นว่าเหมาะที่จะเป็นอนุสรณ์สื่อธรรมครั้งนี้ โดยคุณหมอกาญจนา เกษสอาด ก็มีฉันทานุวรรตด้วย จึงพิมพ์ธรรมบรรยายเรื่องนั้น ในชื่อใหม่สั้นๆ ว่า ทันโลก ถึงธรรม พร้อมกับขออนุโมทนาคณะกรรมการจัดทำหนังสือ “6 ทศวรรษ ชุมนุมพุทธธรรมศิริราช” ที่ได้พร้อมใจให้โอกาสในวาระนี้ด้วย
งานหนังสือนี้ต้องอาศัยการติดต่อสื่อสารมาก ซึ่งพระครู สังฆวิจารณ์ (พงศธรณ์ เกตุญาโณ) ได้ช่วยทำให้ทั้งหมด และได้รวบรวมภาพถ่ายซึ่งหาได้ยากจากแหล่งต่างๆ กับทั้งได้นำข้อมูลจากหนังสือและข้อเขียนต่างๆ มากทีเดียว มาแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ช่วยผ่อนเบางานลงไปมากมาย ขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้
ขอให้ธรรมทานอันอุทิศ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ไวยาวัจกรวัดญาณเวศกวัน ในวาระนี้ จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้กัลยาณธรรมงอกงามแพร่หลาย เพื่อให้ชีวิตและสังคมอุดมทั้งด้วยอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ นำมาซึ่งความเจริญเพิ่มพูนแห่งประโยชน์สุขของมหาชน อำนวยผลตลอดกาลยั่งยืนนานสืบไป
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต)
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔
No Comments
Comments are closed.