- นำเรื่อง
- – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน
- น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ
- ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด
- ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ
- ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน
- ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน
- ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ
- ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ
- บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
- บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน
- เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร
- ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย
- ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
- – ๒ – ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์
- ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
- เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก
- การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน
- ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น
- จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ
- การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
- สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้
- ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์
- ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี
- ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ
- ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป
- การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
- เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน
- สรุป
การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
เมื่อยังไม่พัฒนา ความสุขมาจากช่องทางเดียว คือเสพ เพื่อสนองความต้องการทางด้านความรู้สึก แต่การสนองความต้องการด้านความรู้สึกนี้มีปัญหา เพราะมีด้านบวกกับด้านลบ คือ เมื่อได้เสพสิ่งที่ชอบใจเขามีความสุข แต่เมื่อพบสิ่งที่ไม่ชอบใจเขาจะเป็นทุกข์ ฉะนั้นคนที่ใช้ ตา หู จมูก ลิ้นเพื่อเสพ ชีวิตจะวนเวียนอยู่กับสุขและทุกข์ จากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ถ้าชอบใจก็สุข ไม่ชอบใจก็ทุกข์ วนอยู่อย่างนี้ตลอดไป โดยที่ตัวคนไม่มีการพัฒนา
ในทางตรงข้าม เมื่อคนเริ่มศึกษาเพื่อสนองความต้องการที่จะเรียนรู้นั้น การเรียนรู้ไม่ขึ้นต่อความชอบใจหรือไม่ชอบใจ ประสบการณ์หรือสถานการณ์ทุกอย่าง ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ล้วนเป็นสิ่งที่จะให้เกิดการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นเขาจึงเรียนรู้ได้ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ และเขาก็จึงมีความสุขได้ ทั้งจากสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ถึงตอนนี้จะเห็นว่ามนุษย์เริ่มพัฒนาแล้ว มิติของความสุขเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และบุคคลนั้นก็เริ่มพ้นจากสังสารวัฏแห่งสุขและทุกข์จากการพบสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
เพียงเริ่มต้นศึกษา เริ่มเรียนรู้ เขาก็มีความทุกข์น้อยลง และได้ความสุขชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่เป็นโทษแก่ใคร และมาพร้อมกับการพัฒนาชีวิตของตนด้วย
ขั้นต่อไป คนจะก้าวไปสู่ความตระหนักรู้ว่า จากสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือยากลำบากเรามักได้เรียนรู้มากกว่าสิ่งที่ง่ายหรือชอบใจ จากสิ่งที่เป็นปัญหาเราจะได้เรียนรู้มาก ความตระหนักรู้นี้จะทำให้เกิดความสุขจากการพบสิ่งที่ยากซึ่งเป็นปัญหาหรือไม่น่าชอบใจ เพราะต้องการจะได้เรียนรู้ให้มาก
จะเห็นว่าช่วงที่กล่าวมานี้เป็นจุดแยกที่การศึกษาเริ่มต้น และการศึกษาเริ่มต้นเมื่อใดคนก็เริ่มมีความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อนั้น และได้พบมิติใหม่แห่งความสุขด้วย และบุคคลนั้นก็ก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาชีวิตที่ตรงออกไปข้างหน้าเหมือนไม่รู้จบ เพราะการเรียนรู้จะพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคนหาความสุขจากการสนองความต้องการเสพ เขาก็จะหมุนวนอยู่กับสุขจากการได้สนองความรู้สึกชอบใจ และมีทุกข์จากการพบสิ่งไม่ชอบใจ เวียนหมกจมอยู่นั่น ไม่ไปไหน เป็นวงกลมอย่างที่เรียกว่า สังสารวัฏ เป็นอันว่าไม่มีการพัฒนา
เมื่อเรียนรู้และได้ความรู้มา ก็จะมีการก้าวต่อไปเรื่อยว่า นี่คืออะไร นี่เป็นอะไร ทำไมเป็นอย่างนี้ เป็นเพราะอะไร เป็นมาอย่างไร โยงสัมพันธ์ไปถึงอะไร เอาไปใช้ทำอะไร และเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขยายออกไป
เมื่อเรียนรู้หลายอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็เห็นความแตกต่าง ต่อไปก็จะเห็นว่าสิ่งนี้ควรเป็นอย่างนี้ สิ่งนั้นควรเป็นอย่างนั้น ภาวะที่ดีที่สมบูรณ์ควรจะเป็นอย่างนั้น การเรียนรู้จะโยงต่อไปสู่การมองเห็นว่า อะไรควรจะเป็นอย่างไร ภาวะที่ดีที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นภาวะที่ดีที่ควรจะเป็น เราก็จะมีความอยากความต้องการชนิดใหม่ตามมา คือความอยากให้สิ่งนั้นอยู่ในภาวะอย่างหนึ่งที่ดี ที่เราเห็นด้วยปัญญาว่ามันควรจะเป็น
เมื่อเราอยากคือต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น แต่มันยังไม่เป็น เราก็เกิดความต้องการต่อไปอีก คือต้องการทำให้มันเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ความอยากทำให้มันดี แล้วก็จะมีการสนองความต้องการด้วยการทำให้เป็นอย่างนั้น พร้อมทั้งเกิดความสุขในการได้สนองความต้องการด้วยการกระทำ นี่คือขั้นตอนที่สำคัญมากของการพัฒนาคน คือการเกิดความสุขจากการกระทำ
การทำให้ดี ให้ภาวะที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นนี้ เรียกว่า การสร้างสรรค์ ถึงตอนนี้คนก็จะพัฒนาจากความเป็นนักศึกษา มาเป็นนักสร้างสรรค์ด้วย และเขาก็จะมีความสุขจากการสร้างสรรค์ คือความสุขจากการทำ ซึ่งหมายถึงการทำให้มันดี เขาก้าวไปไกลและจะต่อไปเรื่อยๆ ในการพัฒนา ในขณะที่มนุษย์ที่ใช้ตา หู เพื่อเสพ ก็จะมีแต่สุขทุกข์ที่วนเวียนอยู่กับสิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ พบสิ่งที่ชอบใจก็สุข พบสิ่งที่ไม่ชอบใจก็ทุกข์ จมอยู่ที่เก่า
No Comments
Comments are closed.