ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน

6 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 7 จาก 31 ตอนของ

ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน

สำหรับปัญหาเรื่องสันติภาพนั้น ขณะนี้เราพูดกันว่าโลกกว้างไกลไร้พรมแดน แต่ในขณะที่โลกยิ่งกว้างไร้พรมแดนออกไป จิตมนุษย์กลับยิ่งคับแคบและแบ่งแยก ยิ่งจำกัดขอบเขตมากขึ้น จึงเกิดปัญหาเพราะขัดแย้งอย่างชนิดสวนทางกัน

ในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า มนุษย์นี้ถ้าพัฒนาให้ดีแล้วจะมีภาวะจิตที่ท่านใช้ศัพท์ซึ่งมาตรงพอดีกับยุคนี้ คือคำว่า “วิมริยาทิกจิต” หรือคำเต็มในบาลีว่า “วิมริยาทิกเตน เจตสา” ซึ่งแปลว่า “ด้วยจิตที่ทำให้ไร้พรมแดนแล้ว” การที่เราพูดว่า โลกไร้พรมแดน จึงเป็นการกลับไปหาศัพท์เก่า ได้แก่ “มริยาท” แปลว่าพรมแดน หรือขีดคั่นขอบเขต เติม “วิ” เข้าข้างหน้าเป็น “วิมริยาท” แปลว่า ปราศจากขอบเขตขีดคั่น หรือไร้พรมแดน

ยุคนี้เราพูดว่าโลกไร้พรมแดน เป็นการมองด้านวัตถุภายนอก แต่ของพระพุทธเจ้าในที่นี้กล่าวถึงจิตใจไร้พรมแดน เป็นเรื่องภาวะทางนามธรรมภายในตัวคน

จิตมนุษย์ที่ดีงามพัฒนาถึงขั้นที่จะสร้างสรรค์สันติภาพได้ ต้องเป็นจิตที่ถึงภาวะไร้พรมแดน คือ หลุดพ้นจากขอบเขตของสิ่งกีดกั้น แต่จิตจะไร้พรมแดนได้อย่างไร จิตจะไร้พรมแดนขึ้นมาเองไม่ได้ ทางพุทธศาสนากล่าวว่าจะต้องมีปัญญาไร้พรมแดน คือรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย แต่คนเราจะรู้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ เราจะไปรู้ใบไม้ทุกใบ ไปรู้ต้นไม้ทุกต้น ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ว่ารู้นี้ คือรู้ความจริงของโลกและชีวิต รู้เข้าใจระบบความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รู้อาการที่สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน อิงอาศัยกันในระบบแห่งความสัมพันธ์ ถ้าปัญญาหยั่งรู้เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังโลกและชีวิตนี้ ก็จะเกิดเป็นปัญญาที่ไร้พรมแดน เมื่อปัญญาไร้พรมแดนแล้ว ก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากขอบเขตที่จำกัด แล้วก็เป็นจิตที่ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีปัญญารู้ความจริง

ความจริงนั้นไร้พรมแดนอยู่แล้ว เมื่อปัญญารู้ความจริงที่ไร้พรมแดน ปัญญาก็ไร้พรมแดน เมื่อปัญญาไร้พรมแดน ก็เปิดจิตให้เป็นอิสระไร้พรมแดน เมื่อจิตไร้พรมแดนแล้ว ภาวะอย่างหนึ่งจะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คือเกิดท่าทีของจิตใจที่มองเห็นมนุษย์สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นมิตร แล้วก็มีความปรารถนาดีต่อกัน คุณธรรมที่เรียกว่า เมตตาหรือไมตรีที่แท้ก็เกิดขึ้น เป็นเมตตาที่ไร้พรมแดน พอเมตตาไร้พรมแดนในจิตที่ไร้พรมแดน ด้วยปัญญาที่ไร้พรมแดน ก็มองมนุษย์เป็นส่วนร่วมอยู่ในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติร่วมโลกอันเดียวกัน ที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์ความดีงามและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในโลกแห่งสันติสุข

เป็นอันว่า ปัญญาที่ไร้พรมแดนสร้างสภาพจิตไร้พรมแดน และในจิตที่ไร้พรมแดนก็มีเมตตาไร้พรมแดน เมื่อมีเมตตาไร้พรมแดน ก็เป็นสันติภาพไปในตัว จากนั้นก็มาจัดตั้งวางระบบสังคมมนุษย์ให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันด้วยปัญญาและจิตที่ไร้พรมแดนอย่างนี้ ตลอดจนเอื้อต่อการที่จะฝึกฝนมนุษย์ที่จะเกิดมาใหม่ให้เข้าสู่ระบบชีวิตที่เอื้อเกื้อกูลกัน เมื่อทำอย่างนี้ก็จะเกิดความประสานสอดคล้องกันระหว่างธรรมกับวินัย หรือระหว่างภาวะความจริงในธรรมชาติและคุณธรรมที่เป็นคุณสมบัติในจิตใจ กับรูปแบบระบบโครงสร้างองค์กรภายนอก ซึ่งต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยแก่กัน

ถึงตอนนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงปัญหาที่พูดไปข้างต้นว่า ปัจจุบันโลกไร้พรมแดน แต่ใจคนกลับยิ่งคับแคบ ซึ่งขยายความได้ว่า มนุษย์มีปัญญาชนิดที่ทำให้สามารถพัฒนาวัตถุ โดยเฉพาะเทคโนโลยีมาทำให้โลกไร้พรมแดน แต่เขาไม่มีปัญญาแท้จริงที่จะพัฒนาตัวเองให้มีจิตใจที่ไร้พรมแดน

เมื่อจิตใจที่คับแคบ เป็นสาเหตุแห่งการแก่งแย่งแบ่งแยก เบียดเบียนข่มเหงกัน ในขณะที่โลกยังแคบ เขาก็ขัดแย้ง ทะเลาะวิวาททำสงครามกันได้ในขอบเขตจำกัด การที่เขาทำลายขอบเขตทางรูปธรรมที่แบ่งกั้นออกไปให้โลกไร้พรมแดน ในขณะที่จิตใจของเขายังคับแคบอยู่ ก็ยิ่งกลายเป็นการขยายขอบเขตของการขัดแย้งเบียดเบียนให้กว้างขวางออกไป ถ้าอย่างนี้โลกที่ไร้พรมแดนก็อาจจะกลายเป็นโลกแห่งการขัดแย้งเบียดเบียน สงครามและการทำลายล้างอย่างไร้พรมแดน

แท้จริงนั้น แม้คำว่า “โลกไร้พรมแดน” นั้นเอง ก็เป็นเพียงสำนวนพูดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความหมายจำกัด ในแง่หนึ่ง โลกนี้เองโดยธรรมชาติก็ไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่มนุษย์นั่นแหละมาทำการแบ่งแยก โดยกำหนดเขตแดนกันขึ้นเป็นต้น และในอีกแง่หนึ่ง ที่ว่าปัจจุบันโลกไร้พรมแดน ก็เป็นการมองที่เน้นในด้านการสื่อสารคมนาคมและขนส่ง ซึ่งทำให้กิจกรรมของมนุษย์เคลื่อนไปได้ทั่วถึงเร็วไวไม่มีเขตจำกัด

เมื่อพูดให้ตรงจุดแท้ๆ จึงต้องว่า กิจกรรมของมนุษย์นี่แหละ เป็นตัวการหรือปัจจัยหลักที่จะทำให้ไร้พรมแดนหรือจำกัดพรมแดน และที่จะทำให้ภาวะไร้พรมแดนนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษ และเบื้องหลังกิจกรรมของมนุษย์นั้น ตัวการที่ขับเคลื่อนกิจกรรมให้ดีให้ร้ายหรือเป็นอย่างไร ก็คือเจตจำนงหรือความตั้งจิตคิดหมายที่อยู่ในจิตใจของคนนั้นเอง

นี้เป็นการพูดสำทับให้เห็นว่า ถ้าจะให้โลกที่ไร้พรมแดน เป็นโลกแห่งสันติสุข ก็จะต้องพัฒนาคนให้มีจิตใจที่ไร้พรมแดน ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์จะต้องมีปัญญาที่ไร้พรมแดน ในความหมายว่าเป็นปัญญาที่รู้เข้าใจถึงความจริงของโลกและชีวิต ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกทั้งหมด จนมีจิตใจร่วมกันด้วยเมตตาไมตรี นี่ก็คือ การที่ปัญญาไร้พรมแดน ทำให้เกิดเมตตาหรือไมตรีที่ไร้พรมแดน เมื่อเมตตาไร้พรมแดนเกิดขึ้นในใจ คนก็มีจิตใจที่ไร้พรมแดน ถ้าคนมีจิตใจที่ไร้พรมแดน ก็จะทำให้โลกที่ไร้พรมแดนนั้นเป็นโลกแห่งสันติสุข โดยมีสันติภาพที่ยั่งยืน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วนถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ >>

No Comments

Comments are closed.