น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ

16 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 3 จาก 31 ตอนของ

น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ

ปัจจุบันนี้ เรารู้กันดีว่าปัญหาในโลกมีมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงต่างๆ ซึ่งเราสังเกตเห็นเด่นชัดในสังคมไทย เพราะเราอยู่ในสังคมนี้ แต่ที่จริงปัญหาความรุนแรงนั้นแผ่กระจายไปทั่วโลก จนนับได้ว่าเป็นกระแสโลกาภิวัตน์อย่างหนึ่ง กระแสนี้จะรุนแรงแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าใครมีภูมิต้านทานมากน้อยเท่าใด ถ้าสังคมใดมีภูมิต้านทานดี ความรุนแรงก็เบาลง แต่ถ้าภูมิต้านทานอ่อน ก็จะมีปัญหาความรุนแรงประดังเข้ามามาก

อย่างไรก็ตาม การมีภูมิต้านทานเท่านั้นยังไม่พอ ภูมิต้านทานช่วยได้แค่ที่จะรับมือกับมันและป้องกันตัว แต่การที่จะแก้ปัญหาให้เรียบร้อยเพื่อบรรลุถึงสันติภาพอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาถึงขั้นมีปัญญาขึ้นไปอยู่เหนือกระแส จึงจะนำโลกหรือมวลมนุษย์ไปในทางที่ถูกต้องได้

ทั้งหมดนี้เมื่อพิจารณากันไปก็ไม่พ้นที่จะเป็นความรับผิดชอบของการศึกษา ในการที่เกิดปัญหาขึ้นมากมาย มีเรื่องความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป จนกระทั่งกลายเป็นกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เราคงจะไม่ปัดความรับผิดชอบที่จะต้องถือว่า การศึกษามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความรุนแรงหรือปัญหาการขาดสันติภาพนี้ด้วย โดยเฉพาะก็คือทำให้ต้องตั้งข้อสงสัยว่าการศึกษานั้นอาจจะผิดพลาดไปแล้วกระมัง

ถ้าการศึกษาเป็นตัวเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา ก็ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก เพราะหน้าที่โดยตรงของการศึกษานั้นเป็นตัวแก้ปัญหา ถ้าการศึกษาผิดพลาด กลายเป็นตัวก่อปัญหา เราก็ต้องมาแก้ไขปัญหาที่ตัวการศึกษา เพื่อให้ได้การศึกษาที่ถูกต้อง ให้เป็นการศึกษาที่แท้จริงที่จะเป็นตัวแก้ปัญหา

ทีนี้ การศึกษาแท้ที่ถูกต้องในความหมายที่แท้จริง คืออะไร

เวลานี้ โลกอยู่ในภาวะที่เราพูดได้ชัดเจนว่าถูกครอบงำด้วยระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ พูดง่ายๆ ว่าอยู่ในยุคของการแข่งขัน ในการแข่งขันก็มีการแย่งชิงกัน คำว่าแย่งชิงกันนี้ ก็บอกอยู่ในตัวว่าไม่มีสันติภาพ หรือเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับสันติภาพ ถ้าการศึกษาสนองระบบสังคมเช่นนี้ ซึ่งเวลานี้อาจจะถือว่าเป็นอารยธรรมของมนุษย์ไปแล้ว ก็กลายเป็นว่าการศึกษาเป็นตัวหนุนให้เกิดการสูญเสียหรือการขาดสันติภาพ และเมื่อวิเคราะห์กันไปก็มีเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การศึกษาในสังคมปัจจุบันนี้มีส่วนหนุนให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงกันอย่างไร เมื่อเราเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าการแย่งชิงเป็นการไม่มีสันติภาพ ถ้าการศึกษามาสนองระบบแย่งชิงนี้ ก็แสดงว่าการศึกษานั้นได้กลายเป็นเครื่องมือหนุนการทำลายสันติภาพ

ตอนนี้ก็ต้องมาแสวงหาการศึกษาที่จะสร้างเสริมสันติภาพ หรือเป็นไปเพื่อสันติภาพ ที่จะไม่ให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิงนั้นขึ้นมา ซึ่งในแง่หนึ่งก็เหมือนกับเป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ ที่เราถือว่าเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งได้ดำเนินมา ๒ วัน และได้มาระดมความคิดช่วยกันให้สติปัญญาความรู้ความเห็นต่างๆ ซึ่งมีทั้งการเสนอปัญหา และแนวทางวิธีแก้ไข ทั้งการแก้ไขปัญหาจากภายในและภายนอก ทั้งการแก้ปัญหาระดับบุคคลและระดับสังคม ทั้งการแก้ปัญหาตามแนวความคิดของพระพุทธศาสนา และแนวความคิดของตะวันตก

เริ่มด้วยคุณหมอประเวศ วะสี มาให้ความรู้ความเข้าใจ เสนอแนวความคิดที่ทำให้เกิดปัญญา ต่อจากนั้นอาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็มาให้ปัญญาในอีกแง่มุมหนึ่ง และยังมีคณะอภิปรายอีก ๒ คณะ ซึ่งดำเนินการโดยคุณธรรมเกียรติ กันอริ คณะหนึ่ง และคุณจักรภพ เพ็ญแข อีกคณะหนึ่ง

พอมาถึงวันนี้ ก็มีเสนอการศึกษางานของอาตมภาพเอง โดยอาจารย์จิตรกร ตั้งเกษมสุข ซึ่งได้ตั้งคำถามไว้ให้อาตมภาพมาตอบในที่นี้ แต่อาตมภาพอาจจะพูดตอบได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ คงไม่มีเวลาที่จะพูดเจาะให้ละเอียดในเรื่องที่อาจารย์จิตรกรได้ตั้งคำถาม และยังมี รศ.ดร. ทิพาวดี เอมะวรรธนะ ซึ่งได้มาเผื่อแผ่ประสบการณ์ของท่าน ในการที่ได้วิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการที่จะให้เกิดสันติภาพภายใน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างสันติภาพโดยใช้หลักปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าวิปัสสนา และในที่สุดเราก็มีการประชุมกลุ่มกัน ซึ่งทุกท่านมีส่วนร่วมในการที่จะให้แง่คิดความเห็น ทั้งจากพระเถรานุเถระฝ่ายบรรพชิต และจากญาติโยม ครูอาจารย์ฝ่ายคฤหัสถ์ โดยที่ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ได้มาดำเนินการ

ทั้งหมดนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันในกิจการใหญ่อย่างหนึ่งของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม ที่ประชุมนี้อาจจะมีผู้มาไม่มากมายนัก แต่สิ่งที่ทำเป็นงานใหญ่ และเป็นงานระยะยาว ซึ่งจะต้องมีต่อไปอีก และเป็นงานของส่วนรวม แต่เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงมาถึงตัวอาตมภาพด้วย ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเครื่องเตือนตนเองให้ระลึกว่า ท่านผู้เข้าร่วมประชุมและท่านผู้จัดดำเนินงานต่างๆ ได้สละเวลาและแรงงานกันมากมาย จนกระทั่งมาร่วมคิดร่วมพิจารณาร่วมให้ปัญญากันในการประชุมนี้แล้ว ตัวเราเองจะทำอะไรที่จะเป็นส่วนช่วยให้การเสียสละของทุกท่านที่มาร่วมงานนี้ได้มีผลคุ้มค่า ทั้งในแง่ของเวลา แรงงาน และทุนรอน ในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อาตมภาพเองยังไม่แน่ใจ ว่าตัวเองจะทำได้แค่ไหน แต่จะอย่างไรก็ตามก็เป็นเครื่องเตือนใจไว้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสานปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด >>

No Comments

Comments are closed.