เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร

6 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 12 จาก 31 ตอนของ

เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร

นอกจากนั้นปัญหาก็เกิดซ้อนขึ้นอีกว่า เมื่อมีการเข้ามาประสานอย่างไม่สอดคล้องกันระหว่างระบบเศรษฐกิจกับระบบการเมืองแล้ว ระบบทั้งสองนั้นย่อมมีอิทธิพลต่อกัน หลักการของประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ สมานภาพ และภราดรภาพ ก็อาจจะถูกครอบงำหรือบิดเบนความหมายและเริ่มจะไม่บริสุทธิ์

ปัจจุบันนี้ความหมายของประชาธิปไตยยังถูกต้องตรงตามหลักการที่แท้จริงหรือไม่ หรือถูกอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าครอบงำ จะยกตัวอย่างให้เห็น เช่น ถามว่า เสรีภาพคืออะไร

ตามหลักการของประชาธิปไตย การปกครองที่ต้องการให้มีเสรีภาพก็เพื่อเปิดช่องทางให้ศักยภาพ เช่น สติปัญญาความสามารถของแต่ละบุคคลมีโอกาสที่จะออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมได้ เพราะถ้าไม่มีเสรีภาพ ช่องทางที่บุคคลจะเอาสติปัญญาความสามารถของเขาออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคมก็ไม่มีหรือถูกปิดกั้น เพราะฉะนั้น เสรีภาพจึงเป็นเครื่องมือสนองความต้องการของระบบประชาธิปไตย ที่มุ่งให้จุดหมายของการปกครองคือสันติสุขของสังคม สัมฤทธิ์ผลขึ้นด้วยความมีส่วนร่วมรวมกันของประชาชน คือการให้มีเสรีภาพเพื่อเป็นเครื่องเปิดโอกาสหรือช่องทางให้ศักยภาพของประชาชนแต่ละคนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม

แต่เมื่อมาอยู่ใต้อิทธิพลของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความหมายของเสรีภาพก็จะเริ่มเขว จนกระทั่งคนมองเน้นไปในแง่ว่า เสรีภาพก็คือ การที่ฉันจะเอาอะไร ฉันต้องได้ หรือว่าฉันจะต้องได้ตามต้องการ แล้วก็ไปจำกัดด้วยขอบเขตที่ว่าเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่อย่างนั้นก็เท่าที่ฉันจะหาทางเลี่ยงกฎหมายได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ฉันอยากได้ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็จะเอาทั้งนั้น กลายเป็นว่า สิ่งที่เป็นเป้าก็คือ สิ่งที่ฉันต้องการ โดยเฉพาะผลประโยชน์

จะเห็นได้ว่า เสรีภาพคลาดเคลื่อนจากความหมายเดิมที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ตกลงกันว่าจะได้ผลดีที่สุดในการสร้างสันติสุขให้แก่สังคม เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้มาร่วมกันปกครอง เราจึงต้องมีหลักการแห่งเสรีภาพเพื่อให้แต่ละคนได้ออกไปมีส่วนร่วมในการปกครองนั้นจริงๆ โดยมีเสรีภาพก็คือมีช่องทางหรือมีโอกาสอย่างเต็มที่ที่จะเอาสติปัญญาความสามารถของตนออกมาใช้ในการร่วมปกครองให้สังคมนั้นดีงามมีสันติสุข แต่เมื่อทุนนิยมเป็นใหญ่ก็กลายเป็นว่า ความหมายของเสรีภาพเอียงไป หรือแบนไปในแง่ของการแสวงหาผลประโยชน์ คือ การที่แต่ละคนจะหาจะได้สิ่งที่ตนต้องการให้มากที่สุด เรียกว่าเป็นเสรีภาพในเชิงสนองระบบทุนนิยม

เมื่อจุดเน้นมาอยู่ที่การจะได้ตามที่ตนปรารถนา คือฉันต้องการอะไร ฉันต้องได้ ก็เกิดความโน้มเอียงไปในทางที่จะต้องแก่งแย่งแบ่งแยกกัน เสรีภาพภายใต้ระบบทุนนิยม จึงเป็นเสรีภาพเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยก

ถ้าเป็นเสรีภาพแท้จริงตามความมุ่งหมายของประชาธิปไตย ที่ว่าเราจัดตั้งระบบประชาธิปไตย เพื่อจะได้มีการปกครองแบบที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติสุขให้แก่สังคม โดยให้แต่ละคนมีโอกาสมาร่วมสร้างสรรค์ เสรีภาพก็สนองความมุ่งหมายของการปกครองโดยตรงอย่างชัดเจน คือ เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละคนเอาความรู้ความสามารถสติปัญญาออกมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเสรีภาพเชิงให้ เป็นการร่วมกันสร้างสรรค์ และนำไปสู่สันติภาพ ไม่ใช่แก่งแย่งแบ่งแยกกัน ซึ่งไม่มีทางจะให้เกิดสันติภาพ

เวลานี้จะเห็นว่า แนวคิดทางเศรษฐกิจได้มีอิทธิพลครอบงำความคิดด้านการเมือง จนกระทั่งบางทีเราแยกไม่ออกว่าหลักการของประชาธิปไตยมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร ขณะนี้ หลักการของ ประชาธิปไตยจะมีความหมายไปในเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยกหมด ไม่เฉพาะเสรีภาพ แม้แต่ความเสมอภาคก็เหมือนกัน

ความเสมอภาคคืออย่างไร คือเขาได้สิบ ฉันก็ต้องได้สิบ เขาได้พัน ฉันก็ต้องได้พัน เขาได้หมื่น ฉันก็ต้องได้หมื่น ซึ่งเป็นความหมายเชิงแก่งแย่งและแบ่งแยก แต่ความเสมอภาคตามความหมายเดิมในการปกครองประชาธิปไตยเพื่อจะสร้างสรรค์สังคมที่ดีนั้น เขาเน้นในแง่ของความเสมอภาคโดยมีส่วนร่วมเสมอกันในสุขและทุกข์ เขาสุขเราก็สุขด้วย เขาทุกข์เราก็ทุกข์ด้วย ร่วมกันเผชิญและแก้ปัญหา ไม่เลือกที่รัก ไม่ผลักที่ชัง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ซึ่งเป็นความเสมอภาคในเชิงประสานที่จะต้องมาร่วมกันทำ และในเชิงสมานที่จะทำให้เกิดความพร้อมเพรียงสามัคคี

ฉะนั้น ขณะนี้หลักการของประชาธิปไตย ได้มีความหมายที่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของแนวคิดทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นหลักการของประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นเสรีภาพและความเสมอภาคแบบแก่งแย่งและแบ่งแยก ก็แน่นอนว่าจะไม่มีความเป็นพี่เป็นน้อง ขณะนี้จึงไม่ต้องพูดถึงภราดรภาพ ทั้งๆ ที่นักสร้างสรรค์ประชาธิปไตยยุคเดิมถือกันว่าต้องมี ๓ อย่าง คือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ คือมีทั้ง liberty equality และ fraternity แต่เดี๋ยวนี้หลักการที่ ๓ แทบไม่มีใครพูดถึงแล้ว คนพูดอ้างกันแต่ ๒ อย่างแรก คือ เสรีภาพและเสมอภาคโดยมีนัยแห่งความหมายในเชิงแบ่งแยกหรือแก่งแย่งอย่างที่บอกเมื่อกี้ ซึ่งไม่อาจจะนำไปสู่ภราดรภาพ คือความเป็นพี่น้องกัน ที่จะทำให้สังคมมีสันติสุข

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ดูกันเอาเองว่ารูปแบบของประชาธิปไตยสื่อสาระที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าสาระที่มันสื่อไม่ใช่ตัวแท้ตัวจริง มันจะทำให้เกิดสันติภาพได้อย่างไร

ในยุคเริ่มประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน หลักการทั้งสาม คือ เสรีภาพ (liberty) สมานภาพ (ความเสมอภาค = equality ) และภราดรภาพ (fraternity) นี้ เป็นคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นจุดเริ่มของกระแสประชาธิปไตยสมัยใหม่

แม้สีทั้งสาม หรือไตรรงค์ ในธงชาติของประเทศฝรั่งเศส กับหลายประเทศในยุโรป และอเมริกา ทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ตั้งให้ไว้สื่อถึงความหมาย คือ อุดมคติที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยทั้งสามประการนี้

ว่าที่จริง แม้ในปัจจุบัน หลักการหรือองค์ประกอบข้อที่ ๓ ของประชาธิปไตย คือ ภราดรภาพนั้น สังคมมนุษย์ก็ยังต้องการมาก แต่บางทีก็เอาไปแอบๆ แฝงๆ ไว้ ไม่ค่อยปรากฏเด่น เพราะไม่ค่อยมีใครยกขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องเหมือนอีกสองอย่าง คือ เสรีภาพและความเสมอภาค หรือไม่ก็แยกออกไปพูดไว้ต่างหากเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน และมักใช้คำเรียกอย่างอื่น

ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นประเทศที่เกิดจากคนต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมมากหลายมารวมกัน ก็เคยภูมิใจในสังคมของตนว่าเป็นเบ้าหลอม (melting pot) ซึ่งพึ่งมาแตกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แล้วกลายเป็นโมเสค (mosaic) หรือเดี๋ยวนี้อาจจะเป็นได้แค่ชามสลัด (salad bowl)

ถึงแม้เบ้าหลอมที่เคยภูมิใจจะไม่เป็นจริง แต่อเมริกาในฐานะที่เกิดจากประชาชนหลายรัฐ เริ่มแต่ ๑๓ รัฐแรกมารวมกัน ก็ยังมีอุดมคติของชาติที่ประกาศไว้ในตราแผ่นดิน (The Great Seal of the United States) ว่า “E pluribus unum” ซึ่งแปลว่า “จากมากหลายมากลายเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งหมายถึง unity คือ เอกภาพ

คำว่า “เบ้าหลอม” ก็ดี “เอกภาพ” ก็ดี เป็นคำที่ใช้เพื่อสื่อถึงความหมายแห่งหลักการอันเดียวกัน คือ ภราดรภาพ หรือความสามัคคี

เป็นอันว่าเรื่องประชาธิปไตยเวลานี้ต้องมาทบทวนกัน เริ่มตั้งแต่ความหมายของหลักการพื้นฐาน เช่น เสรีภาพ และความเสมอภาค ถ้าเสรีภาพมีความหมายเชิงเศรษฐกิจทุนนิยมว่า อยากได้อยากเอาอะไร ก็หาเอาทำเอาตามปรารถนา เราก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาคน หรือว่าพัฒนาแต่เพียงความสามารถในการแสวงหาความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์ แต่ถ้าเสรีภาพหมายถึงการเปิดช่องทางให้มีโอกาสนำเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม เราก็จะต้องเน้นกันเต็มที่ในเรื่องการพัฒนาคน เพื่อให้ประชาชนมีสติปัญญาความดีงามความสามารถที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ให้การปกครองของตนได้ผลดีในการที่จะสร้างสังคมให้เจริญพัฒนามีสันติสุข

แน่นอนว่าประชาธิปไตยที่แท้จะต้องเกิดจากปัญญามนุษย์แต่ละคนได้พัฒนาตนเอง ให้รู้เข้าใจความจริง มีเหตุผล และสามารถดำเนินวิธีการต่างๆ ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีสันติสุข นอกจากมีปัญญาความสามารถแล้ว แต่ละคนต้องมีจิตที่ปรารถนาดีต่อกัน มองกันเป็นเพื่อนมนุษย์ จึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ ฉะนั้นเสรีภาพและความเสมอภาคก็ไปประสานกันกับภราดรภาพ เกิดเป็นเอกภาพหรือความสามัคคีอย่างที่ว่ามาแล้ว

ถ้าพัฒนาคนได้ถึงขั้นนี้ ประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบภายนอกก็จะไปประสานกับเนื้อหาสาระที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตยในตัวบุคคล

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสานถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย >>

No Comments

Comments are closed.