เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ

16 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 17 จาก 31 ตอนของ

เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ

ทิฏฐินี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผลกว้างไกล อยู่เบื้องหลังและเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของบุคคล วิถีของสังคม ตลอดจนอารยธรรมทั้งหมด ขณะนี้ปัญหาก็อยู่ที่เรื่องทิฏฐินี้มาก ยกตัวอย่างเช่นอารยธรรมตะวันตกเชื่อว่ามนุษย์จะประสบความสุขสมบูรณ์ต่อเมื่อพิชิตธรรมชาติได้ ทิฏฐินี้ได้เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตกมา ๒๐๐๐ กว่าปีแล้ว และทำให้มนุษย์เจริญก้าวหน้า แต่ในที่สุดก็กลับทำให้มนุษย์ไม่สามารถมีสันติสุขที่แท้จริง เพราะว่าแนวคิดนี้ทำให้มนุษย์ทำลายธรรมชาติ จึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มนุษย์สูญเสียสันติภาพ เพราะเมื่อทำให้ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม มนุษย์ก็เดือดร้อนวุ่นวายจะพลอยพินาศไปด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือทิฏฐิที่เห็นว่าความสุขของมนุษย์อยู่ที่การเสพวัตถุ ยิ่งมีวัตถุเสพมากพรั่งพร้อมก็ยิ่งมีความสุขมาก จากทิฏฐินี้มนุษย์ก็จัดตั้งวางระบบสังคมซึ่งส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่เป้าหมายทางวัตถุ วิถีของสังคมก็ดำเนินไปตามทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้นทิฏฐิจึงเป็นสิ่งที่ครอบงำและกำหนดสังคม

อย่างเช่นสังคมยุคนี้เป็นสังคมที่มุ่งความสำเร็จทางวัตถุ แต่ละคนมุ่งความสำเร็จของชีวิตของตนในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจเกียรติและผลประโยชน์ ความสำเร็จนี้อยู่ในระบบแข่งขัน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันแย่งชิงแสวงหาผลประโยชน์ ความสำเร็จก็คือการชนะการแข่งขัน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด กิจกรรมต่างๆ ทางสังคมของมนุษย์แต่ละคนก็ตาม ที่เป็นส่วนรวมจับกลุ่มกันทำก็ตาม กลายเป็นกิจกรรมเพื่อมุ่งความสำเร็จที่จะได้ผลประโยชน์ให้มากที่สุด หรือกำไรสูงสุด แนวโน้มของสังคมก็จึงเป็นอย่างนี้ คือเป็นสังคมแห่งธุรกิจในระบบแข่งขันเพื่อกำไรสูงสุด บนฐานแห่งทิฏฐิที่มองความสำเร็จทางวัตถุเป็นจุดหมายของชีวิตและสังคม

ทีนี้ ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร ถ้าพิจารณาให้กว้างและมองในขั้นพื้นฐาน แน่นอนว่ามนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดีงาม ต้องการสังคมที่มีสันติสุข และต้องการให้โลกนี้รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย มนุษย์จะยอมตกลงกันได้หรือไม่ว่า ถ้าเรายังไม่สามารถวางทิฏฐิพื้นฐานอย่างนี้ได้ เราก็แก้ปัญหาในเรื่องการสร้างสันติภาพไม่ได้ เพราะถ้าเรายึดถืออยู่ว่าความสำเร็จคือการได้ผลประโยชน์สูงสุดด้วยชัยชนะในการแข่งขัน ทิฏฐินี้ก็จะครอบงำการดำเนินชีวิตของเราแต่ละคน และกำหนดวิถีของสังคมทั้งหมด ระบบทุกอย่างของสังคมแม้แต่การปกครองก็จะดำเนินไปตามนี้ด้วย ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว เมื่อคนมุ่งเตรียมตัวที่จะมาแก่งแย่งช่วงชิงกัน แล้วจะเกิดสันติภาพได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ทั้งๆที่ก็น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว เราก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้สำนึกตระหนักชัดลงไปว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร การได้ผลประโยชน์สูงสุดเป็นความสำเร็จที่แท้จริงและถูกต้องหรือไม่ เรายอมรับหรือไม่ว่าความสำเร็จที่แท้ของมนุษย์ซึ่งเราทุกคนต้องการคือ การมีชีวิตที่ดีงาม มีสังคมที่มีสันติสุข และโลกที่รื่นรมย์น่าอยู่อาศัย

ถ้าเราตั้งทิฏฐิในเรื่องจุดหมายนี้ไม่ได้ เราก็จะวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ แล้วจะไปสร้างสันติภาพได้อย่างไร เพราะว่าทิฏฐิที่บ่งชี้จุดหมายสุดท้ายนั้น เป็นเป้าหมายที่บังคับมนุษย์ทั้งสังคมอยู่ในตัวว่า จะต้องแก่งแย่งและทะเลาะวิวาทกัน

ขณะนี้เรามาแก้ปัญหากันอยู่เพียงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และมาหาความคิดเห็นกันแค่เรื่องปลีกย่อย แล้วจะไปสร้างโลกให้มีสันติภาพได้อย่างไร เราต้องมองแยกขยายให้เห็นความสัมพันธ์ในระดับที่กว้างขวาง ครอบคลุม และเห็นภาพรวมอย่างทั่วถึงตลอดทั้งหมด นี้เป็นเรื่องตัวอย่างที่ขอนำมากล่าว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก >>

No Comments

Comments are closed.