ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ

6 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 9 จาก 31 ตอนของ

ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ มนุษย์มีจิตคับแคบลงเพราะอะไร ถ้าตอบอย่างง่ายๆ ก็บอกว่าเพราะความเห็นแก่ตัว ที่ท่านระบุไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ซึ่งท่านเรียกว่าเป็นตัวปั่น คือปั่นให้สับสนยุ่งเหยิง และยืดเยื้อไปหมด เรื่องที่ไม่ควรเป็นปัญหาก็เป็นปัญหา เรื่องที่ควรจะแก้ไขได้ง่ายก็แก้ไม่ได้ คือ

๑. ตัณหา ความอยากได้ อยากเสพ อยากได้รับการบำรุงบำเรอ ซึ่งปรากฏเด่นในรูปของความอยากได้ผลประโยชน์
๒. มานะ ความอยากใหญ่ ความต้องการอำนาจ ความปรารถนา จะครอบงำมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น
๓. ทิฏฐิ ความติดยึดในความเห็น ความเชื่อถือ ลัทธินิยม อุดมการณ์ แม้แต่ศาสนาต่างๆ ที่ว่าต้องของฉันเท่านั้น

มนุษย์ตกอยู่ใต้อำนาจชักจูงครอบงำของกิเลส ๓ อย่างนี้ แล้วก็ขัดแย้งกัน ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำให้ก้าวล้ำออกไปรุกรานแย่งชิงเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงบังคับครอบงำกัน

เมื่ออยากได้ผลประโยชน์ ก็แย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน ตั้งแต่ระดับระหว่างบุคคลไปจนถึงระหว่างกลุ่ม ระหว่างประเทศ จนกระทั่งเป็นปัญหาระดับโลก และสงครามโลก สงครามระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์มากมาย ได้เกิดขึ้นจากการแย่งชิงผลประโยชน์กัน นี่คือแรงขับดันของตัณหา

ต้นตออีกอย่างหนึ่งของความขัดแย้ง มาจากการแย่งชิงอำนาจ ต้องการเป็นใหญ่เหนือผู้อื่นคือ มานะ เช่น กษัตริย์ที่ต้องการเป็นอธิราชผู้ยิ่งใหญ่ในโลก ที่มีชื่อว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อให้บรรลุจุดหมายนี้จะทำอย่างไรก็ได้ แม้คนจะตายไปเท่าไรก็ช่าง ฉะนั้นการทำสงครามรบราฆ่าฟันแย่งชิงกันจึงได้เกิดขึ้นมากมายจากความมักใหญ่ใฝ่อำนาจ ยิ่งกว่านั้นอำนาจกับผลประโยชน์ยังมาผนวกกันเข้าอีก การได้ผลประโยชน์ก็สนับสนุนการมีอำนาจ การได้อำนาจก็หมายถึงการที่จะหาผลประโยชน์ได้มากด้วย เพราะฉะนั้นผลประโยชน์กับอำนาจจึงเป็นสาเหตุใหญ่ของการรบราฆ่าฟัน แย่งชิง เบียดเบียนกันในหมู่มนุษย์ตลอดมา

อย่างไรก็ตาม อีกข้อหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ทิฏฐิ เมื่อมนุษย์ถือทิฎฐิก็แบ่งแยกกันเป็นพวกเป็นเหล่าและยึดถือในความแบ่งแยกนั้น แล้วความเป็นสากลก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากความยึดถือนั้น มนุษย์ก็กีดกันกัน รังเกียจกัน เกลียดชังกัน รบราฆ่าฟันกัน ความเชื่อ การยึดถือพวก ถือเหล่า ถือเผ่า ถือผิว ถือศาสนา ลัทธินิยม อุดมการณ์ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์มาตลอด อย่างสงครามอุดมการณ์ก็เป็นสงครามระดับโลก บางทียิ่งใหญ่กว่าสงครามตัณหาและมานะ คือใหญ่ยิ่งกว่าสงครามแย่งผลประโยชน์และชิงอำนาจด้วยซ้ำ

จะเห็นว่า แท้ที่จริง ตัณหา มานะ และทิฏฐินี้เองที่แบ่งแยกมนุษย์ แล้วทำให้เกิดปัญหา ทำอย่างไรจะให้มนุษย์ก้าวพ้นความจำกัดแบ่งแยกเหล่านี้ออกไปได้ สิ่งที่เราต้องการคือ ปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริง ที่จะปลดปล่อยจิตของตนให้เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำของตัณหา มานะ และทิฏฐินั้น พร้อมทั้งทำให้มนุษย์เข้าใจกัน รู้จักใส่ใจสุขทุกข์ของกันและกัน ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลกอย่างเป็นสากล ไม่จำกัดขอบเขต ไม่ใช่เป็นปัญญาที่เพียงมารู้วิธีที่จะได้จะเอาเพื่อสนองตัณหามานะทิฏฐิ

เวลานี้ปัญญามักจะมีความหมายคับแคบแค่นั้น คือปัญญารู้วิธีการที่ว่าทำอย่างไรจะสนองความต้องการในเชิงตัณหามานะทิฏฐิ เพื่อเอาให้ได้ เพื่อข่มขี่ครอบงำบังคับเขาได้ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการบนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ >>

No Comments

Comments are closed.