ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์

6 สิงหาคม 2539
เป็นตอนที่ 24 จาก 31 ตอนของ

ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ
กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์

ในทางตรงข้าม ถ้าคนพัฒนาอย่างถูกต้อง เมื่อการศึกษาเริ่มต้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้ประสบการณ์ ความสุขจากการเรียนรู้หรือความสุขจากการศึกษาก็เกิดขึ้น แล้วเดินหน้าไปสู่การมีความสุขจากการกระทำ หรือการสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะสุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องนี้จะเดินหน้าไปสู่สันติภาพโดยตัวของมันเองเลยโดยไม่ต้องไปทำอะไร แต่การศึกษา(ที่แท้)ขณะนี้ได้เริ่มหรือยัง

เวลานี้ปัญหาอยู่ที่ว่า เราไม่รู้ตัวว่าเราได้เอาการศึกษาไปสนองระบบหาความสุขจากการเสพ คือการมุ่งที่จะสนองค่านิยมบริโภคในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมของมนุษย์ที่แสวงหาความสุขจากการเสพ

ต่อจากนั้น ซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ระบบหาความสุขจากการเสพ จะเป็นตัวหนุนวิถีชีวิตและระบบสังคมที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ และโดยไม่รู้ตัว เราก็เอาการศึกษาไปสนองรับใช้ระบบแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งมาด้วยกันกับระบบการแข่งขันแย่งชิง ที่มนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างไร้สันติภาพตลอดเวลา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นระบบสังคมที่มีภาวะไร้สันติภาพเป็นวิถีชีวิต

เมื่อการศึกษาสนองระบบแสวงหาผลประโยชน์ การศึกษาก็มีความหมายว่าเป็นการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพมาบำเรอความสุข หรือพูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาที่พัฒนาคนให้เป็นนักหาความสุข ในขณะที่การศึกษาที่แท้ แม้จะไม่ละเลยการพัฒนาความสามารถในการแสวงหาปัจจัย ๔ เป็นต้น เพื่อการดำรงชีวิต แต่จะไม่ลืมพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข หรือพูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาที่พัฒนาคนให้เป็นผู้มีความสุข

เมื่อมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมที่อยู่ในระบบแข่งขันหาผลประโยชน์ โดยเปรียบเทียบกันดู สังคมที่เคยมีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมมาก่อน แม้จะเริ่มเปลี่ยนมาเป็นสังคมบริโภค ก็จะยังมีการปลูกฝังนิสัยรักงาน เข้มแข็ง บากบั่น ขยัน อดทน เรียกสั้นๆ ว่า การศึกษาที่พัฒนาความสามารถในการผลิต ชนิดที่ไม่เป็นทางการ ติดค้างอยู่ในวิถีชีวิตที่สืบกันมา ทำให้ประชาชนมีความเป็นนักผลิต ควบคู่อยู่ด้วยกันกับความเป็นนักบริโภค

ส่วนในสังคมที่ไม่เคยมีวิถีชีวิตแบบอุตสาหกรรมมาก่อน เมื่อมาเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม การศึกษาที่สนองระบบหาความสุขจากการเสพ และสนองระบบหาผลประโยชน์ โดยขาดการพัฒนาความสามารถในการผลิต ก็จะทำให้ได้คนที่ไม่เป็นนักผลิต แต่เป็นนักบริโภค ซึ่งอ่อนแอ เป็นนักธุรกิจที่ฉาบฉวย อย่างดีก็จะได้คนฉลาดแบบศรีธนญชัย นำไปสู่การสร้างสภาพเศรษฐกิจแบบข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง ง่อนแง่น เพราะขาดฐานคือความสามารถในการผลิต หรือความเป็นนักผลิต และเมื่ออยู่ในระบบแข่งขันเชิงธุรกิจของโลก ก็ต้องตกอยู่ในภาวะเป็นผู้ตาม เป็นผู้รับ และเป็นเหยื่อ

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพูดโดยรวม กล่าวได้ว่า ระบบทั้งหลายของสังคมโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบชื่นชมการแข่งขันเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะการเมือง และการศึกษา เช่น การเมืองในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มองหลักการต่างๆ แห่งประชาธิปไตยในความหมายเชิงเศรษฐกิจ และการศึกษาที่พัฒนานักเสพ นักหาความสุข และผลิตบุคลากรมาสนองความต้องการของระบบแสวงหาผลประโยชน์

ในภาวะเช่นนี้ มนุษย์จะต้องยอมรับความจริงว่า การสร้างสรรค์สันติภาพเป็นการสวนทางกับวิถีของสังคมอยู่ในตัวเลยทีเดียว เพราะระบบสังคมที่แข่งขันมุ่งหาผลประโยชน์ มีการขัดแย้งเป็นเครื่องดำรงรักษาตัวมัน หรือเป็นฐานรองรับวิถีชีวิตแบบนั้น

ในวิถีชีวิตแบบที่ว่านี้ ระบบต่างๆ ที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นในทางสังคม รวมทั้งการศึกษา แทนที่จะช่วยขัดเกลาความขัดแย้งที่เป็นธรรมชาติเดิมของมนุษย์ ก็กลับส่งเสริมให้ความขัดแย้งพัฒนาขึ้นเป็นระบบและเป็นสถาบัน ไม่ต้องพูดถึงปัญหาความขัดแย้งภายนอกในสังคม ความขัดแย้งที่กลายเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ไปแล้วนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ภายในจิตใจของบุคคล โดยแสดงผลเป็นความเครียดความเร่าร้อน กระวนกระวาย และความรู้สึกแปลกแยก เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่า เป็นภาวะแห่งความบีบคั้น คือทุกข์ที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเป็นโรคจิตโรคประสาท

ในสังคมที่มีภูมิหลังแห่งวัฒนธรรมอุตสาหกรรม และผ่านการต่อสู้ดิ้นรนห้ำหั่นบีฑามามาก ซึ่งทำให้คนมีลักษณะเข้มแข็ง บุกฝ่า ก้าวร้าว ความเครียดที่เกิดจากภาวะขัดแย้งนี้ ก่อให้เกิดพลังขับดันที่จะก้าวไปในการแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง หรือไม่ก็หันออกไปแสดงออกในรูปของความรุนแรงแบบต่างๆ

ส่วนในสังคมที่คนเคยมีชีวิตแบบสบายๆ อ่อนแอ ความเครียด หรือความทุกข์นี้ ด้านหนึ่งก็นำไปสู่ภาวะทนไม่ได้และการทำลายตนเอง แต่อาจจะเบนออกด้วยการระบายหรือชดเชยแบบต่างๆ เช่น การพึ่งพาสิ่งกล่อมประเภทต่างๆ รวมทั้งลัทธิรอผลดลบันดาล ลัทธิคอยโชค และการปลงใจปล่อยวางในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งรวมลงที่การตกอยู่ในความประมาท

เรื่องที่พูดอยู่นี้ ที่จริงมีความซับซ้อนมาก เกี่ยวด้วยปัจจัยหลายอย่าง ยังมีข้อที่ต้องวิเคราะห์กันอีกมาก ขอยุติไว้ในส่วนที่ต้องการพูดถึง ณ ที่นี้เพียงเท่านี้ก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี >>

No Comments

Comments are closed.