การศึกษาควรสอนให้มนุษย์ พัฒนาความสามารถในการมีความสุข

9 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 11 จาก 40 ตอนของ

การศึกษาควรสอนให้มนุษย์
พัฒนาความสามารถในการมีความสุข

เราอาจพูดได้ว่า เราสามารถแก้ปัญหาสังคมด้วยการศึกษา การศึกษาคือการพัฒนาคน แต่การศึกษาชนิดใดที่เป็นที่ต้องการในที่นี้ เพราะการศึกษาในปัจจุบันนี้ อาจหมายถึงการพัฒนาความสามารถในการแสวงหาสิ่งภายนอก เพื่อมาสนองตัณหา เพื่อให้ตนมีความสุข อาตมาคิดว่าการศึกษาปัจจุบันนี้ จะมีลักษณะอย่างนี้แอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว

การศึกษาสมัยใหม่บางทีก็ไม่ได้คิดว่า การศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ รวมไปถึงการพัฒนาความสามารถในการมีความสุขด้วย ความสนใจในการมีความสุขของมนุษย์ ควรเป็นปัจจัยที่แท้จริง หรือปัจจัยที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนามนุษย์ เราต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แม้ในการศึกษา

นายมิวเซนเบิร์ก

ผมชอบแนวความคิดนี้มาก ที่ว่าคนควรถูกสอนว่าจะมีความสุขได้อย่างไร และการศึกษาปัจจุบันก็มีประเด็นน่าสงสัยในเรื่องนี้ ผมเห็นด้วย แต่ผมอยากย้อนกลับไปที่คำถามถึงคำว่า อิสรภาพ และกลับไปถึง ลัทธิบริโภคนิยม

ท่านบอกว่า อิสรภาพมี ๔ ระดับ1 คือ Physical Freedom, Social Freedom, Emotional Freedom, Intellectual Freedom ซึ่งผมชอบมาก และได้ใช้เป็นโครงสร้างของความคิดในเรื่องอิสรภาพ และบ่งชี้ว่า คนมีหลายลักษณะ ซึ่งต้องพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอยู่ในรัฐบาล

คำถามหนึ่งในเรื่อง อิสรภาพ คืออะไร อะไรควรเป็นข้อจำกัดของอิสรภาพ และหนึ่งในอิสรภาพซึ่งเกี่ยวข้องกับคำถามนี้ในเรื่องลัทธิบริโภคนิยม คืออิสรภาพของประชาชนในการซื้อในสิ่งที่ตนเองปรารถนา ซื้อจากผู้ผลิตที่เขาพอใจจะซื้อสินค้าด้วย และในธุรกิจที่ขายในสิ่งที่เขาจะขายได้ ให้กับคนที่เขาต้องการจะขาย และมันชัดที่ว่า ถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องอิสรภาพในความหมายนี้ มันอาจจะเป็นความหายนะ ดังนั้น เราควรกำหนดอิสรภาพในเรื่องนี้ แต่ความสุดโต่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ไม่ให้มีอิสรภาพเลย เหมือนเช่นในประเทศคอมมิวนิสต์ได้พยายามทำมาแล้ว รัฐจะกำหนดว่าใครควรทำอะไร ทำแค่ไหน และประชาชนก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อในสิ่งที่มี ผมเห็นว่า ต้องมีข้อจำกัดให้กับอิสรภาพทั้งในธุรกิจ และกับผู้บริโภค

คำถามคือ ท่านยอมรับหรือไม่ว่า เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ที่จะจำกัดอิสรภาพของผู้คน ในการซื้อสิ่งของที่เขาอยากจะซื้อ จากที่ที่เขาต้องการจะซื้อ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ประเทศผู้ผลิตกับประเทศผู้บริโภคดุลยภาพของอิสรภาพทั้ง ๔ >>

เชิงอรรถ

  1. ประเด็นเรื่องอิสรภาพ ๔ ระดับนี้ อ่านเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจเรื่องนี้ได้จากหนังสือ Freedom, Individual & Social (เรื่องที่ ๑ คือ Buddhism & Peace หน้า ๑-๕๕) ปาฐกถาภาษาอังกฤษของพระเทพเวที ปัจจุบันคือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พิมพ์แจกเป็นธรรมทานโดย คุณวาณี ล่ำซำ ตุลาคม ๒๕๓๓

No Comments

Comments are closed.