ประเทศผู้ผลิตกับประเทศผู้บริโภค

9 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 10 จาก 40 ตอนของ

ประเทศผู้ผลิตกับประเทศผู้บริโภค

พระพรหมคุณาภรณ์

อย่างที่บอกมาแล้วว่า อาตมาเองก็ไม่ได้รู้เรื่องธุรกิจมากนัก แต่ก็ได้ให้ความสนใจบ้าง คุณอาจจะเห็นได้ว่า ในโลกแห่งการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจวันนี้ เรามีประเทศที่มีลักษณะแตกต่างกัน จนกระทั่งมีการแบ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา แต่อาตมาอยากจะแบ่งด้วยวิธีการอย่างอื่น เป็นประเทศผู้ผลิต (Producer) และประเทศผู้บริโภค (Consumer) ผู้ผลิตเป็นผู้ขาย (Seller) และผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อ (Buyer or Purchaser)

ประเทศไทยเป็นพวกที่สอง คือ Consumer และ Purchaser เราเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้บ่อยว่า ทำไมคนไทยไม่มีนิสัยเป็นผู้ผลิต?

ในประเทศที่มีลักษณะบริโภคนิยม (Consumerism) อย่างประเทศไทยนี้ จะเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ในธุรกิจที่ประกอบด้วยลัทธิบริโภคนิยม ผู้บริโภคคือทาสของธุรกิจประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการโฆษณา และเมื่อนักธุรกิจคิดอะไรขึ้นมาได้ใหม่ ที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ เพื่อไปสนองความต้องการของตน โดยคิดว่าถ้าได้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตนแล้วจะมีความสุข นี่ก็คือปัญหาแต่เริ่มแรก ลัทธิบริโภคนิยมจึงเป็นเหตุของปัญหา พูดได้ว่าเป็นการครอบงำ ปั่นหัว และชี้นำค่านิยมของสังคม จะเห็นได้ว่าลัทธิบริโภคนิยม ได้กลายเป็นค่านิยมของสังคม และสร้างค่านิยมของสังคม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เสริมส่งการพัฒนาของสังคมหรือแม้แต่การพัฒนาตนของปัจเจกบุคคล ทั้งภายในและภายนอก และมันได้กลายเป็นปัญหาจริยธรรม คือคนไม่รู้ว่า อะไรคือการเป็นอยู่ที่ดีอย่างแท้จริง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บุคคล ๓ กลุ่มการศึกษาควรสอนให้มนุษย์ พัฒนาความสามารถในการมีความสุข >>

No Comments

Comments are closed.