บุคคล ๓ กลุ่ม

9 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 9 จาก 40 ตอนของ

บุคคล ๓ กลุ่ม

ในเรื่องนี้ เราอาจแบ่งประเภทของคนออกได้เป็น ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง คือ บุคคลประเภทที่พูดว่า เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่โดยปราศจากโน่น ปราศจากนี่ และเราก็มี

กลุ่มที่สอง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มแรก ที่พูดว่า การมีโน่นมีนี่ก็ดี แต่ถ้าไม่มี ก็ได้

กลุ่มที่สาม เป็นผู้มีอิสรภาพ แม้ว่าไม่มี หรือไม่ได้ ไม่พบสิ่งกระตุ้นเร้าจากภายนอก ก็กลับยิ่งดี เพราะเขารู้สึกโล่งสบาย ไม่รู้สึกทุกข์ กลุ่มนี้จะรู้สึกว่า ทำไมความสุขของเราจะต้องไปขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่เป็นอิสระ ถึงแม้เราไม่มี หรือไม่ได้สิ่งเหล่านั้น เราก็สามารถมีความสุขได้ บางทีการมีอะไรมากเกินไป จะทำให้เราทุกข์และมีความสุขน้อยลงด้วยซ้ำไป ดังนั้น การไม่ต้องอาศัยวัตถุธรรมมาเป็นเครื่องล่อเครื่องเร้าให้เกิดความสุข จึงเป็นความสุขที่สูงกว่า เพราะประกอบด้วยอิสรภาพ อันบุคคลควรพัฒนาให้เกิดมีความสุขชนิดนี้ขึ้นในตน

นิรามิสสุข หรือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอก ที่ละเอียดขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นอิสระจากความอยาก หรือตัณหา เราอาจเป็นอิสระจากวัตถุธรรม แต่ในใจของเรายังคงมีตัณหา เราอยากได้แม้แต่บางสิ่งข้างในภายในใจของเรา เช่น อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากประสบความสำเร็จในสังคม ถ้าเราสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง จนกระทั่งเข้าถึงปัญญาบริสุทธิ์ ที่จะทำให้มองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราจะมีความเป็นอิสระจากโลก ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเป็นได้ เพราะว่าเขาไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง เมื่อเขารู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง จิตใจเขาก็จะเป็นอิสระ เขารู้สึกเบาสบาย ไม่มีความเครียด และเขาก็จะเข้าถึงความสุขจากความเข้าใจนั้น เป็นอิสระจากตัณหา

เมื่อเรามองดูมนุษย์ตามลำดับขั้นของการพัฒนา เราก็จะสามารถประยุกต์ใช้หลักการอันนี้เข้ากับเศรษฐศาสตร์ เราสามารถเรียนรู้ในการจัดเป้าหมายของคนหลายระดับนี้ได้อย่างกลมกลืน ถ้าเราไม่เข้าใจหลักการอันนี้ ความขัดแย้งก็จะดำรงคงอยู่ต่อไปตลอดกาล

ตอนนี้ เราก็มาถึงคำถามของคำว่า อิสรภาพ อิสรภาพในที่นี้ สัมพันธ์กับความสุข อาตมาอยากทราบว่า คุณมีคำถามอะไรไหมตรงนี้

นายมิวเซนเบิร์ก

ครับ…ครั้งแรกที่ผมมาประเทศไทย เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า ถ้าท่านดาไลลามะไม่สามารถคุยกับคุณในเรื่องธุรกิจ บางทีคุณอาจไปคุยกับนักธุรกิจที่นับถือพระพุทธศาสนา แล้วถามเขาว่า ศาสนาพุทธมีอิทธิพลกับเขาหรือไม่ ถ้ามี มีอย่างไร ในประเทศไทยมีนายธนาคาร (banker) ที่เขาอาจจะช่วยคุณได้ในเรื่องนี้ ผมจึงมาประเทศไทย แล้วก็โชคดี ได้พบกับคุณฐิตินาถ (ณ พัทลุง) และคุณศิริธร (รัตนิน) ซึ่งเป็นนักธุรกิจ ผมได้สนทนากับเธอ และนักธุรกิจคนอื่นๆ ผมจึงเห็นได้ชัดว่า พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อพวกเขาในการทำธุรกิจ แต่ทั้งหมดพูดเหมือนกันว่า พระพุทธศาสนาจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าคุณไม่ปฏิบัติ

ผมพบว่า การปฏิบัติที่พวกเขาหมายถึง คือ การปฏิบัติสมาธิภาวนา และเขาก็แนะนำให้ผมไปเข้าปฏิบัติสมาธิภาวนา ผมก็ไม่อยากจะเขียนถึงการปฏิบัติโดยไม่ปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้น ผมจึงไปเข้ารับการอบรมสมาธิภาวนาตามที่เขาจัดให้ และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมกลับมา ผมรู้สึกมีความสุขมากขึ้น และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลื่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างช้าๆ อาจเป็นเพราะว่าผมเริ่มเมื่อเกือบจะสายไปแล้ว เพราะแก่แล้ว

ผมเข้าใจมากขึ้น แต่ก็เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีชีวิตอยู่กับศีลแปด ไม่ใช่เพราะวิธีการปฏิบัติยาก แต่เพราะมนุษย์เรามีมิจฉาทิฏฐิติดตัวมาแต่เดิม อีกทั้งจิตใจของมนุษย์ยังเต็มไปด้วยกิเลสต่างๆ ที่หนาแน่นอยู่ภายใน เป็นงานใหญ่และยาก ผมไม่คิดว่าเราจะรอได้ เพราะเราอาจต้องรอจนพวกนักธุรกิจพวกนั้นแก่ชรา จึงพอจะเข้าใจ เราต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับที่ท่านพูดมาทั้งหมด แต่ปัญหาคือ เราจะจูงใจพวกนักธุรกิจอย่างไร จากประสบการณ์ของผม ผมคิดว่า การปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่อาจช่วยได้

พระพรหมคุณาภรณ์

อาตมาคิดว่า ไม่ใช่แต่เพียงจูงใจพวกนักธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถใช้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะให้การศึกษากับคนทั่วไป แต่ต้องให้พวกเขารู้ว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไร

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เราควรหาเวลาพูดกันถึงเรื่องธุรกิจ เท่าที่เมืองไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศีล ๕ : หลักการพื้นฐานของสังคม – ศีล ๘ : ศีลเพื่อการพัฒนาสู่อิสรภาพประเทศผู้ผลิตกับประเทศผู้บริโภค >>

No Comments

Comments are closed.