ลัทธิบริโภคนิยมมาจากตัณหาของมนุษย์

9 มิถุนายน 2547
เป็นตอนที่ 17 จาก 40 ตอนของ

ลัทธิบริโภคนิยมมาจากตัณหาของมนุษย์

พระพรหมคุณาภรณ์

ลัทธิบริโภคนิยมนั้นมันมาจากธรรมชาติของมนุษย์ อาตมาคิดว่า ขั้นแรกเราต้องยอมรับว่า นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สามารถทำให้พอใจได้อย่างแท้จริง แต่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในปริมาณและระดับขั้น นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องให้การศึกษาแก่คน เพื่อที่ว่าเราจะได้มีบางสิ่งที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ตัณหาเกิดความสมดุล

แต่ปัจจุบันปัญหาคือ การศึกษาดูเหมือนว่า จะไม่ได้พัฒนาคุณภาพดังกล่าว เมื่อเราให้การศึกษาอะไรก็ตามแก่คน เขาก็จะเกิดความรู้บางอย่าง ตัวอย่างเช่น เขาสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง เขาสามารถแยกแยะได้ระหว่าง “การหาความสุข” กับ “การมีความสุข” ว่าต่างกันอย่างไร

ทุกวันนี้เราพูดกันแต่ว่า “การหาความสุข” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนไม่มีความสุขจึงต้องหาความสุข แต่เราก็มีมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสว่า พระองค์มีความสุขแล้ว ไม่ต้องไปหาความสุขที่ไหน คนต้องแยกแยะความสุขทั้งสองอย่างนี้ คือ “การหาความสุข” กับ “การมีความสุข” และคนควรได้รับกระตุ้นหรือทำให้เขารู้ว่า เขาสามารถมีความสุขได้ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความสุข และมีความสุขด้วยการทำให้การแสวงหาความสุขนั้นสมดุล

ลัทธิบริโภคนิยม คือ วิธีการของผู้ที่แสวงหาความสุขและวิธีของการมีความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอก นี่คือความสุขที่ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุธรรมภายนอก และเนื่องจากตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเพิ่มมากขึ้นๆ และขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม ลัทธิบริโภคนิยมนั้นไม่เพียงแต่ทำให้คนพอใจ แต่มันสร้างค่านิยมทางสังคมขึ้นมาด้วย หรือธุรกิจในปัจจุบันทำให้เกิดลัทธิบริโภคนิยมและเป็นไปเพื่อสนองลัทธิบริโภคนิยม เพราะว่าลัทธิบริโภคนิยมทำให้เกิดค่านิยมทางสังคม

ตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคคนไทยไม่แข่งขันกับนักธุรกิจ แต่แข่งขันกันเอง เขาแข่งขันกันในแง่ว่า เธอมีนี่ ฉันก็มีเหมือนกัน ฉันมีสิ่งใหม่ๆ แต่เธอยังไม่มี เธอไม่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ เราต้องให้การศึกษาแก่พวกเขา เพื่อที่ว่าเขาจะได้เปลี่ยนสถานะ แทนที่จะแข่งขันกันเอง ก็ไปแข่งขันกับผู้ผลิต หรือนักธุรกิจ

นายมิวเซนเบิร์ก

ท่านคิดว่า การศึกษาที่ปราศจากการสอนสมาธิภาวนาจะช่วยได้หรือไม่ ดูเหมือนว่ากิเลสตัณหาของมนุษย์ที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ถ่ายถอนได้ยาก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ความสำเร็จที่แท้จริงของนักธุรกิจMeditation in Form/Meditation in Substance >>

No Comments

Comments are closed.