ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 39 จาก 41 ตอนของ

ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว
ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป

อนึ่ง ขณะนี้ เมื่อฝรั่งมองเห็นตระหนักว่าโลกถูกภัยอันตรายคุกคาม จะไปไม่รอด ดังที่ว่าแล้ว เขาเกิดความคิดใหม่ว่า การพัฒนาแบบที่ทำกันมานี้จะต้องพลิก จะต้องปฏิวัติกันใหม่ อารยธรรมของโลกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และต้องเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐานทางความคิดหรือทางภูมิปัญญา โดยจะต้องแสวงหาแนวทางปรัชญากันใหม่

ในขณะที่เขากำลังคิดเรื่องนี้กันอยู่ เขาได้รู้สึกตระหนักขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือ มองเห็นความสำคัญของจริยธรรม

จริยธรรม นั้น มีความสำคัญทั้งในทางจิตใจ ในทางสังคม และทางธรรมชาติแวดล้อม แต่ในโลกตะวันตก และสังคมที่คิดอย่างตะวันตก มักจะมองความหมายของจริยธรรมเพียงในแง่สังคมเท่านั้น ครั้นมาถึงตอนนี้ เขาได้หันมาเน้นในการที่จะเอาจริยธรรมมาใช้ในแง่ของการรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมด้วย

ทีนี้ พอฝรั่งจะยกเอาจริยธรรมขึ้นมาให้ความสำคัญ ฝรั่งก็ประสบปัญหา

แต่ก่อนจะพูดถึงปัญหา ขอพูดแทรกนิดหนึ่งว่า ขณะนี้ฝรั่งให้ความสำคัญแก่จริยธรรมมาก จนกระทั่งมีวิชาใหม่ๆ เช่น Business Ethics คือจริยธรรมธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด พร้อมทั้งมีตำรา Business Ethics เกิดขึ้น และพร้อมกันนั้น วิชาจริยธรรมอื่นที่มีอยู่ก่อน เช่น Medical Ethics คือจริยธรรมทางการแพทย์ หรือจรรยาแพทย์ ก็ได้รับความเอาใจใส่มากขึ้นด้วย

เดี๋ยวนี้ องค์กรและบริษัทใหญ่ๆ พากันว่าจ้างพวกนักปรัชญาที่ชำนาญจริยศาสตร์เข้าไปทำงาน เพื่อเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม นักจริยธรรมกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญ

ในหนังสือ Megatrends 2000 บอกว่า พวกนักศีลธรรม ที่สมัยก่อนตกงาน ไม่มีงานทำ เดี๋ยวนี้กลับเป็นที่ต้องการ เป็นที่ง้องอน นี้เป็นความเคลื่อนไหวในโลกที่พัฒนา

อย่างไรก็ตาม พอมีความสนใจในเรื่องจริยธรรม หรือ ethics ขึ้นมา ฝรั่งก็เกิดปัญหาติดขัด เพราะอะไร เพราะจริยธรรมของตะวันตกได้ถูกตีตกไปนานแล้ว พร้อมกับที่วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับภูมิหลังของจริยธรรมตะวันตกเอง

จริยธรรมตะวันตกนั้น เกิดจากคำสอนของศาสนาที่ถือว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ผู้ดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จริยธรรมตะวันตกจึงเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา

จริยธรรมเทวบัญชา คือจริยธรรมที่เป็นไปตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าหรือเทพเจ้าว่า ให้มนุษย์ทำและไม่ทำอย่างนั้นๆ มนุษย์ต้องเชื่อคำสั่งนั้น เพราะถ้าเชื่อและปฏิบัติตาม ก็จะได้รับความโปรดปราน ประทานรางวัล แต่ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกลงโทษ

ทีนี้ พอวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา วิทยาศาสตร์ก็ตีว่า ความเชื่อทางศาสนานั้นงมงาย มีที่ไหน พระเจ้าสั่ง พระเจ้าสร้าง เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีเหตุผล ทำให้ชาวตะวันตกเสื่อมจากความเชื่อถือในจริยธรรมแบบเทวบัญชา

แต่พอตีจริยธรรมเทวบัญชาตกไปแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ให้หลักอะไรมาแทน

วิทยาศาสตร์เพียงแต่ทำให้คนตะวันตกหันไปมองใหม่ว่า จริยธรรมนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์คิดกันขึ้นเอง เพื่อหาทางที่จะอยู่กันด้วยดี เป็นเรื่องสมมติเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ตามทัศนะเชิงวิทยาศาสตร์ (แบบปฏิกิริยา) สิ่งที่เรียกว่าความดีและความชั่วในแต่ละสังคม จึงไม่เหมือนกัน ในสังคมนี้บอกว่าทำอย่างนี้ดี แต่อีกสังคมหนึ่งบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ดี ในสังคมนี้บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ดี แต่อีกสังคมหนึ่งบอกว่าทำอย่างนั้นดี มันก็ขัดแย้งกัน เพราะฉะนั้น จริยธรรมจึงไม่มีจริง ไม่เป็นสัจธรรม เป็นเรื่องที่มนุษย์กำหนดกันขึ้นเอง

เมื่อวิทยาศาสตร์ตีจริยธรรมตกไปแล้ว และไม่สนใจ ไม่ได้ให้หลักอะไรในเรื่องนี้ ฝรั่งก็คว้าง จริยธรรมก็เลื่อนลอย คนทั่วไปไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญแก่จริยธรรม

ครั้นมาถึงบัดนี้ เมื่อจริยธรรมกลับมีความสำคัญขึ้นมาอีก เพราะความจำเป็นที่ถูกภัยคุกคาม ฝรั่งก็ไม่รู้จะยึดจริยธรรมที่ไหน

พวกหนึ่งก็หันกลับไปหาจริยธรรมของศาสนาเทวบัญชานั่นแหละ แต่ก็เจอปัญหาหนักถึงสองประการ คือ นอกจากจริยธรรมเทวบัญชานั้นจะถูกวิทยาศาสตร์ตีตกไปแล้ว ก็มีปัญหาในวงการศาสนาเอง ที่ไม่มีเอกภาพ มีความขัดแย้งกันมาก

นั่นเพราะว่า ศาสนาของฝรั่งนั้น แม้จะเป็นศาสนาเดียวกัน แต่ก็แตกแยกกันเป็นร้อยๆ นิกาย แต่ละนิกายก็สอนไม่เหมือนกัน จะเอาของนิกายไหนก็ลงตัวไม่ได้ จึงเกิดการถกเถียงขัดแย้งกันอยู่

อีกพวกหนึ่งก็หันไปเอาจริยธรรมแบบของนักปรัชญา หรือนักคิดทางการศึกษา เอา Kohlberg บ้าง เอา Simon บ้าง มาอ้าง ซึ่งที่จริง จริยธรรมพวกนี้ ก็คือการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่ว่าไม่มีจริยธรรมที่จะเอามาใช้

ในแง่นี้ก็น่านิยมที่เขาใฝ่แสวงปัญญา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะน่าภูมิใจ

ตกลงว่า ในเรื่องจริยธรรมนี้ ปัจจุบัน เมื่อเกิดความต้องการจริยธรรมอย่างสูง และจำเป็นจะต้องส่งเสริมจริยธรรม ฝรั่งก็เกิดมีปัญหาขึ้นสองชั้น ปัญหาที่หนึ่งคือ ทำอย่างไรจะให้คนมีจริยธรรม และปัญหาที่สองคือ จะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องแก้ปัญหาจริยธรรม แต่ไม่มีจริยธรรมที่จะเอามาใช้แก้ปัญหา จริยธรรมที่เอามาพิจารณาก็หลากหลาย ลงตัวกันไม่ได้

ที่ว่ามานี้ ก็เป็นข้อเสียเปรียบของฝรั่งที่ว่า พอจะแก้ปัญหาขึ้นมา ก็เกิดความเคว้งคว้างขึ้น เริ่มตั้งแต่ปัญหาว่าจะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้ ตอนนี้ก็ยังเถียงกันอยู่ เป็นปัญหามากในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องรู้เท่าทันสภาพความเป็นไปในโลก

สำหรับสังคมไทยเรานี้ นับว่าโชคดีทั้งสองประการ คือ ทั้งในแง่ที่เรามีเอกภาพในเรื่องของคำสอนในทางพระศาสนา และในแง่ของหลักการที่ว่า จริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นจริยธรรมตามธรรมชาติ เป็นจริยธรรมแห่งสัจธรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะมาโค่นล้มได้ เพราะจริยธรรมนี้เป็นเรื่องของความเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

กฎแห่งจริยธรรมนั้น เป็นกฎธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมดาของมัน ไม่มีใครสั่ง ไม่มีใครสร้าง พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงไม่มีความวิตกหรือหวั่นไหวในเรื่องนี้

นี่คือสภาพที่โยงมาจากความเป็นไปในตะวันตกปัจจุบัน ที่ตะวันตกกำลังขาดความมั่นใจ ที่เราจะต้องรู้เท่าทัน

แต่มองย้อนกลับอีกที ตะวันตกเห็นปัญหาและความขาดพร่องของตน เขายอมรับและหาหลักทางปัญญาเพื่อจะแก้ปัญหา

ระหว่างนั้น ในทางปฏิบัติ หลายประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสังคมที่ประชาชนมีวินัยและเคารพกฎหมายหลักเกณฑ์กติกา ซึ่งได้ฝึกปฏิบัติกันมาเป็นประเพณี อะไรที่ชัดว่าต้องทำ เขาจึงทำได้

วินัย แสดงถึงการบังคับควบคุมปกครองตนเองได้ เป็นฐานให้จริยธรรมตั้งอยู่ได้ และให้ประชาธิปไตยเป็นจริง เช่น เมื่อรู้ว่า ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะเป็นองค์สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง เขาก็ตรากฎหมายออกมา และมีการปฏิบัติได้จริงจัง จึงช่วยผ่อนเบาปัญหาไปได้บ้าง

หันมาดูสังคมไทย ที่ว่ามีหลักจริยธรรมที่ดีเป็นความจริง แต่คนไทยน้อยนักจะรู้จักหรือสนใจจริยธรรมที่ว่านั้น และไม่เป็นคนมีวินัยที่จะทำให้ปฏิบัติจริยธรรมและถือกฎหมายได้จริง เมื่อการทำจริงไม่มี คำกล่าวข้างต้นจึงเหมือนบอกความภูมิใจที่เลื่อนลอย

ในที่สุด เรื่องของเขาก็รู้เท่าทันไว้ แต่ภารกิจที่ตรงแท้ คืออะไรดีอะไรถูกต้อง ก็ต้องจัดการกับตัวเองให้ได้จริง

มิใช่ว่า จะทำอะไร ก็ไม่เอาจริง ทำได้ไม่จริง

สังคมไทยมีทุนดี แต่ทุนนั้นจะมีความหมาย ต่อเมื่อคนไทยมีสำนึกที่จะรู้เข้าใจ และมีวินัยที่จะทำให้ได้จริง

ถ้าคนไทยเป็นคนจริง เมื่อมีทุนดีอยู่แล้ว คนไทยรู้จริง ทำจริง ก็ลุกขึ้นเดินนำหน้า พาอารยธรรมมนุษย์ให้พัฒนาถูกทางได้

ครูอาจารย์วิชาพระพุทธศาสนานี่แหละ คือผู้นำที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย โดยถือเป็นงานอันท้าทายข้อแรกที่จะต้องฝึกสอนพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนมีวินัย เคารพกฎหมาย เพื่อให้จริยธรรมมีฐานที่จะตั้งต้น และมีหลักประกันให้มั่นคงต่อไปได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่สรุป >>

No Comments

Comments are closed.