– ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 21 จาก 41 ตอนของ

– ๓ –
วงนอก – ชั้นใน
สภาพสังคมไทย

ถ้าเอาอย่างเขา เพื่ออวดโก้แก่พวกเราด้วยกัน
ก็คือแสดงความด้อย ให้เขาขำขัน

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยทั้งหมด ไม่เฉพาะในวงการชาวพุทธเท่านั้น ได้แก่สภาพความหลงใหลคลั่งไคล้ เลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งบางทีพระเณรเราเอง ถ้าไม่มีหลัก ก็เป็นไปด้วย ครูก็พลอยเป็นไป

บางทีครูก็แนะนำชักจูงนักเรียนให้หลงคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมตะวันตกไปด้วย โดยที่ตัวครูเองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรจริงในสิ่งที่ตนชักจูงนั้น

เดี๋ยวนี้ เรามีความนิยมที่จะตั้งชื่ออะไรต่ออะไรเป็นภาษาอังกฤษกันมาก ร้านค้า ก็ตั้งเป็นภาษาอังกฤษ สถานที่อะไรต่างๆ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษเกลื่อนไปหมด หมู่บ้านใหม่ๆ พากันลงท้ายว่าวิลล่า ถ้าไม่วิลล่า ก็วิลล์ อาจจะเรียกว่า สุขใจวิลล่า หรือสบายใจวิลล์ หรืออาจจะเป็น บลู เวิร์ลด์ (Blue World) ซีไซด์ ไวด์ วิว (Seaside Wide View) อะไรทำนองนี้

ไปไหนก็มีแต่ชื่อภาษาอังกฤษ แม้แต่อาหารก็จะหมุนไปทางอาหารตะวันตกมากยิ่งขึ้น ผ่านไปในถิ่นที่หรูหราทันสมัยก็มี เคนตักกี้ ฟรายด์ ชิกเก้น (Kentucky Fried Chicken) มีแมคโดนัลด์ (MacDonald) อะไรทำนองนี้

ร้านค้าตั้งชื่อแบบฝรั่ง อาหารก็นิยมอย่างฝรั่ง ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านี้ฝรั่งเขาเรียกว่า จังค์ ฟูด (junk food) คืออาหารขยะ เป็นอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ พวกฝรั่งกำลังกลัวกัน แต่ที่กินก็เพราะชีวิตรีบร้อน ต้องเร่งให้มันผ่านๆ ไป แล้วก็ประหยัด แต่ในเมืองไทยกลายเป็นหรูและฟุ่มเฟือย

อาหารพวกนี้ ฝรั่งกินง่าย แต่คนไทยหลายคนกินยาก เพราะกินแล้วฝืดคอ วันสองวันพอได้ เจอเข้า ๗ วัน ก็ชักจะไม่ไหว มื้อสองมื้อพอไหว สักเจ็ดมื้อทำท่าจะไปไม่รอด ต้องเรียกหาอาหารไทย

บางคนอาจลองกินหรือกินเพราะชีวิตไทยชักจะกลายเป็นเร่งรีบอย่างฝรั่ง แต่หลายคนกินโก้ไปงั้นเอง เป็นเรื่องของค่านิยม เพียงซื้อความโก้ และอร่อยในความโก้ ไม่ได้อร่อยในตัวอาหารแท้จริงเท่าไร

การโฆษณาอะไรต่างๆ ก็ต้องเป็นไปแบบตะวันตก แม้กระทั่งวันปีใหม่นี้ ผ่านไปตามห้างสรรพสินค้า เห็นโฆษณา ก็เป็นแบบตะวันตก บางร้านมีแม้กระทั่งซานตาครอส และมีคนเล่นสกี เอ เมืองไทยมีหิมะมาให้เล่นด้วยหรือ ตอนนี้ปีใหม่เป็นฤดูหนาว เมืองไทยก็ราวกะมีหิมะให้เล่นสกี อันนี้อะไรกัน

มันเป็นเรื่องของค่านิยมที่เห็นว่าฝรั่งเจริญ แล้วก็ทำท่าเจริญให้เหมือนฝรั่ง แล้วก็เห็นการกระทำนั้นเป็นการโก้ แต่มองดูให้ชัดหน่อย เป็นการโก้อะไร อ๋อ ก็โก้เพื่อมาโอ้อวดกันเอง

เรารู้สึกโก้เมื่อได้ทำอย่างนั้น เราหลง เราสนุก เราเพลิดเพลินว่าทำอย่างนั้นโก้ แต่ลองหยุดหวนคิดสักนิดว่า ถ้าฝรั่งดูเรา ฝรั่งจะรู้สึกอย่างไร ถ้าฝรั่งมาเห็นคนไทย กำลังมีอาการแสดงออกอวดโก้อย่างนั้น เขาจะรู้สึกน่าหัวเราะหรือสมเพชไหม เขาสมเพชเพราะเราทำแบบเขา แต่ก็ไม่ได้อย่างเขา และที่สำคัญ มันไม่สมจริง

รวมแล้ว ความรู้สึกของฝรั่งเป็นไปได้ ๒ ประการ คือ

หนึ่ง ความรู้สึกหยามหยัน และ

สอง ความรู้สึกว่าดีแล้ว ที่ชาวโลกที่สาม มีประเทศไทยเป็นต้น จะเป็นทาสทางวัฒนธรรมของเขาไปเรื่อยๆ ไม่ยอมโงศีรษะ

อันนี้เป็นเรื่องที่เราน่าจะใช้ปัญญาพิจารณากันให้มาก อย่ามองแค่ว่าสนุกสนานโก้เก๋ เราทำตามอย่างเขา เพื่อจะอวดโก้กับพวกเราด้วยกันเท่านั้นใช่ไหม นี่เป็นการยอมรับความด้อยของเราหรือเปล่า เราต้องเอาอย่างเขามาอวดพวกเรากันเอง เราไม่มีอะไรดีที่จะให้เขาเห็นคุณค่าของเราอย่างนั้นหรือ

ในเรื่องนี้ ครู หรือผู้นำทางสังคม จะต้องเป็นผู้นำที่ถูกต้อง อย่านำอย่างมอมเมานักเรียนให้ลุ่มหลงจนเกิดความรู้สึกโก้เก๋ภายใต้ความด้อยหรือล้าหลัง เพราะการที่เราเพลิดเพลินกับวัฒนธรรมตะวันตกด้วยความรู้สึกว่าโก้นี้ ก็คือการยอมรับความด้อย และความล้าหลังของเราเอง คือยอมรับว่าตัวเรานี้มีความด้อย เรามองเห็นว่าเขาเจริญกว่า การเอาอย่างเขามาอวดโก้กันเองนั้น เป็นการลุ่มหลงอยู่กับความด้อยและความล้าหลังนั้น

โดยเฉพาะครูวิชาพุทธศาสนา ต้องเป็นผู้นำทางปัญญา นอกจากนำในทางความประพฤติแล้ว ต้องนำในทางปัญญาด้วย

สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน การที่จะนำความประพฤติได้ จะต้องนำทางปัญญาด้วย เพราะถ้าเราไม่นำทางปัญญา เขาจะไม่เชื่อถือ

คนสมัยนี้เห็นครูพระพุทธศาสนาประพฤติดี ดีไม่ดีเขาอาจจะดูถูกว่าโง่ แต่ถ้าครูพระพุทธศาสนามีปัญญาเหนือกว่าเขา แล้วยังประพฤติดีปฏิบัติดีด้วย ก็น้อมหัวเขาได้ เขาพร้อมที่จะเชื่อ

คนแม้ประพฤติดี แต่ค่านิยมในยุคปัจจุบันนี้ ก็ไม่ยอมรับ คนสมัยนี้มีค่านิยมทางวัตถุสูง วัดกันด้วยวัตถุหรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เราไม่เห็นด้วยกับการวัดคนด้วยวัตถุ

เพราะฉะนั้น ครูเราจะไม่เอาดีเด่นด้านวัตถุ แต่มีอีกทางหนึ่งที่จะทำให้เขาต้องยอมรับ คือ ปัญญา

ครูไม่มีวัตถุที่จะให้เขานิยม ถึงจะประพฤติดี เขาก็ไม่ชื่นชมถ้าไม่มีปัญญานำเขา เพราะฉะนั้น ต้องนำทางปัญญาด้วย

ในยุคก่อนไม่นานนี้ ครูเป็นที่นับถือโดดเด่นของสังคม เพราะครูเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง ทั้งทางปัญญา และความประพฤติ คือทั้งวิชา และจรรยา

สองอย่างนี้ต้องสัมพันธ์กัน เพื่อให้การนำทางความประพฤติได้ผลดี จะต้องนำทางปัญญาด้วย ให้เขารู้ว่า เรานี้รู้เท่าทัน หรือรู้ดีกว่าเขา แล้วการสอนวิชาพระพุทธศาสนาจึงจะได้ผล

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริตด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้ >>

No Comments

Comments are closed.