สรุป

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 40 จาก 41 ตอนของ

สรุป

เราก็ได้มองสถานการณ์พระพุทธศาสนากันในวันนี้ ตั้งแต่วงแคบ คือวงการคณะสงฆ์ ออกไปสู่วงการพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ แล้วขยายออกไปถึงสังคมของประเทศไทยทั้งหมด แล้วก็ออกไปทั่วโลก โดยเน้นประเทศผู้นำ คือประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในฐานะที่เป็นครูวิชาพุทธศาสนา ต้องถือตนว่าเป็นผู้นำทางปัญญา รู้ทัน รู้ธรรม ไม่ใช่เป็นผู้นำทางความประพฤติอย่างเดียว

การสอนจริยธรรมในปัจจุบันจะได้ผล ต้องมีปัญญารองรับ และมีความเป็นผู้นำทางปัญญามาสร้างศรัทธาให้เกิดความเชื่อถือ แล้วความประพฤติที่ดีจึงจะไปได้

มิฉะนั้นจะถูกอิทธิพลของค่านิยมแห่งยุคสมัยเข้ามาขัดขวาง กล่าวคือ เวลานี้ เราอยู่ในยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศไทยนี้ แม้โลกเขาจะหักเลี้ยว หันกลับมาทบทวนแนวทางพัฒนากันใหม่ แต่ไทยเรายังวิ่งตามเขาอยู่ในอดีต เพราะฉะนั้น ค่านิยมทางวัตถุแบบอุตสาหกรรม และค่านิยมแบบเทคโนโลยี ก็จะยังครอบงำสังคมไทยอยู่ต่อไปอีกนาน

ในสังคมแบบนี้ เขามีค่านิยมที่ไม่ยกย่องผู้มีความประพฤติดี ถ้าหากว่าคนนั้นไม่มีวัตถุ และไม่มีปัญญา

ในแง่ของการมีวัตถุนั้น เราไม่ต้องการ เพราะเราไม่อยากให้คนมาวัดกันด้วยความมีวัตถุพรั่งพร้อม แต่เราต้องเอาปัญญามาเป็นตัวนำ ถ้าเรามีความเป็นผู้นำทางปัญญาแล้ว ความประพฤติของเราก็จะได้รับการยอมรับเชื่อถือได้

นอกจากนั้น ความเป็นผู้นำทางปัญญานี้ จะเป็นตัวกลับมาช่วยแก้ปัญหาได้ด้วย ทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาความประพฤติ และช่วยชี้แนะแนวทางของการพัฒนาแบบใหม่

อนึ่ง เราต้องรู้ตระหนักว่า ปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง แต่เป็นปัญหาทั่วทั้งโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อกัน โดยเฉพาะก็คือ ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมอย่างที่ว่ามาแล้ว

ปัจจุบันนี้ เขานิยมใช้คำว่า global อะไรต่ออะไรก็ต้องเป็น global คือเป็นเรื่องของทั้งโลก

เวลานี้ สิ่งที่มนุษย์ทำแม้ในที่ใดที่หนึ่ง ก็มีผลกระทบไปทั่วโลก และความคิดสำคัญๆ ในโลก โดยเฉพาะในส่วนที่นำทางการพัฒนานั้น เป็นสิ่งที่เราจะต้องตามให้ทัน

เราจะต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตะวันตก ต้องรู้ว่า ปัจจุบันนี้ตะวันตกไปถึงไหน ติดตันอย่างไร มีปัญหาอย่างไร และเขากำลังหาทางออกอย่างไร ตลอดกระทั่งว่าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาได้บ้าง

ถึงตอนนี้ ก็จะต้องกลับมาย้ำเน้นเรื่องสำคัญที่พูดมาแล้วว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การแก้ไขสภาพจิตที่ฝังรากลึกมาในสังคมไทยประมาณหนึ่งศตวรรษ คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตาม และเป็นผู้รับ โดยสร้างจิตสำนึกของความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ ขึ้นมาแทน

ท่านอาจารย์และครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาทุกท่าน ทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ กำลังทำหน้าที่ที่สำคัญ ขออย่าได้ท้อถอย

แต่เราจะต้องจับจุดให้ถูกว่า ในพระพุทธศาสนาของเรานี้ ตัวหลักการอยู่ที่ไหน ปัญหาในบ้าน ในเมือง ในสังคมของเรา แม้แต่ในหมู่ชาวพุทธ หรือชุมชนชาวพุทธนั้น คืออะไร จุดที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ที่ไหน และจะทำอย่างไร

ถ้าเรารู้หลักการของเรา เราจะแก้ปัญหาได้ง่าย แต่ถ้าจับหลักการ จับจุด จับประเด็นไม่ถูกแล้ว การแก้ปัญหาก็จะนัวเนีย วุ่นวาย สับสน

นอกจากในหมู่ของเราเองแล้ว เราต้องมองปัญหากว้างออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของประเทศอื่นๆ ในโลกทั้งหมด เพราะประเทศไทยเรากำลังเดินตามวิถีทางการพัฒนาตามแบบของตะวันตก และเราจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น จะต้องมองกว้างทั่วโลก อย่ามองแคบๆ เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น ไม่เพียงพอ

เป็นอันว่า ทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา ท่านมีภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งวิชาอื่นๆ ไม่สามารถจะทำได้ หรือไม่สนใจที่จะทำ

อย่างที่กล่าวแล้วว่า วิชาการส่วนมากนั้น ถ้าพูดว่าเป็นการศึกษา ก็ไม่ได้เป็นตัวการศึกษาที่แท้จริง เพราะวิชาการส่วนมากที่เราศึกษาในปัจจุบันนั้น เป็นวิชาที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นการศึกษาประเภทสนองสังคมเท่านั้น

การศึกษาที่แท้ ไม่ใช่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อสนองสังคมเท่านั้น การศึกษาที่แท้จริงนั้น เป็นเนื้อตัวของการพัฒนาสังคม เป็นตัวแก้ไขปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาของสังคม และเป็นผู้นำทางให้แก่สังคม เราจะต้องตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบอันนี้

จากสถานะที่มีอยู่อย่างชัดเจนนี้ เราก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำทางปัญญาอย่างแท้จริง

ฉะนั้น ถ้าครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาจับจุดจับหลักของตนได้ถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นผู้นำทางให้แก่วงการของวิชาการและการศึกษาอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้น จึงขอให้ท่านมีความภูมิใจในตัวเองอย่างนี้ แล้วก็สร้างความภูมิใจนี้ให้ถูกหลักถูกเรื่องกัน

ไม่ใช่มีแต่ความภูมิใจเลื่อนลอย ที่เป็นมานะ อันแฝงด้วยโมหะ แต่จงเป็นมานะที่แม้จะมีส่วนเป็นกิเลสอยู่บ้าง แต่ประกอบด้วยปัญญา แล้วเราก็จะพัฒนาไปสู่ความมีปัญญามากยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งไม่ต้องอาศัยมานะอีกต่อไป

อาตมภาพได้กล่าวมา บัดนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการบรรยายธรรม เรื่อง สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน เพียงแค่นี้

ขออนุโมทนาทุกท่าน และขอให้ทุกท่าน ทั้งที่เป็นพระสงฆ์ และอาจารย์ ครูในโรงเรียน และในวงการวิชาการทุกท่าน จงเจริญพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา ที่จะปฏิบัติภารกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม ประเทศชาติ และอารยธรรมของมนุษยชาติ ให้ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยทั่วกันทุกท่าน เทอญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไปบันทึกท้ายเล่ม >>

No Comments

Comments are closed.