ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 22 จาก 41 ตอนของ

ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย
ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้

อีกอย่างหนึ่งที่ขอพูดกันไว้ในที่นี้ ก็คือ สภาพสังคมไทยที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันตกนั้น เกิดมาจากการสั่งสมสภาพจิตที่เป็นความเคยชินมาตลอดเวลาราวศตวรรษหนึ่งแล้ว

คนไทยเรานี้มีสภาพจิตที่เรียกได้ว่าเป็นสภาพจิตของผู้ตามและผู้รับ ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งไม่รู้สึกตัวเลยว่าเรามีสภาพจิตอย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อมองอะไร ในเวลาที่มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันตก เช่นในเวลาที่มีการสัมผัสข่าวสารข้อมูล เป็นต้น สภาพจิตนี้จะขึ้นมาทันที โดยไม่รู้ตัวเลย คือสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ ซึ่งมองในแง่ที่คอยแต่จะรับจากเขา คิดแต่ว่าเขามีอะไรจะให้เรารับ เมื่อจะเป็นผู้รับ ก็ต้องเป็นผู้ตาม

เมื่อคอยรอรับเอา ก็ต้องคอยตามเขาอยู่เรื่อยว่า เขาจะมีอะไรให้ สภาพจิตนี้ฝังลึกลงไปจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวเลย เวลามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามาใหม่ สภาพจิตนี้ก็แสดงอิทธิพลครอบงำขึ้นมานำทางพฤติกรรมทันที

ถ้ายังไม่มีอะไรเข้ามาให้รับให้เอา ก็คอยมองรอว่าเขาจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้ สภาพจิตนี้เกิดขึ้นมาในราวหนึ่งศตวรรษ

ตอนแรกนั้น สังคมไทยก็สัมผัสกับอารยธรรมตะวันตกในทางลบแบบเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย คือถูกคุกคามจากลัทธิอาณานิคม

ขยายความว่า เมื่อศตวรรษก่อน ประเทศไทยถูกคุกคามจากประเทศตะวันตกที่เป็นนักล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับประเทศพม่า ลังกา ลาว เขมร จีน อินเดีย แต่ประเทศไทยนี้รอดมาได้

สภาพจิตที่เกิดขึ้นในการถูกคุกคามเป็นอย่างไร ก็พูดได้ว่าคือการฮึดขึ้นมาต่อสู้ รวมทั้งความรู้สึกที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาตนเองขึ้นมาให้เทียมทันเขา เพื่อจะยืนหยัดรักษาตัวให้ได้

สภาพจิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในยุคแรก ที่อารยธรรมตะวันตกเข้ามาพร้อมกับลัทธิอาณานิคมใหม่ๆ นั้น ก็คือการที่คนไทยมีจิตสำนึกอันแรงกล้า ที่จะเร่งรัดพัฒนาตัวเองให้เจริญเทียมทันเขา อย่างที่เรียกว่าสร้างความเจริญให้เทียมทันอารยประเทศ จึงทำให้เกิดมีกำลังใจ เกิดเป็นศูนย์รวมและเป็นแกนนำจิตใจในการที่จะเร่งรัดตัวเองขึ้นไป

แต่ประเทศไทยนั้น โชคไม่ดี เรามองว่าโชคดี โชคดีก็คือ พ้นจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม แล้วทำไมจึงว่าโชคไม่ดี แต่โชคไม่ดีก็คือถูกภัยคุกคามสั้นไป ไม่นานเลย ไม่กี่สิบปี คนไทยก็พ้นภัยคุกคาม

พอไม่มีภัยคุกคาม คนไทยก็เลิกเร่งรัดตัวเอง หันมามองว่าประเทศตะวันตกเจริญแล้ว ก็อยากเจริญอย่างเขา เห็นเขามีของใช้ของบริโภคใหม่ๆ แปลกๆ สะดวกสบาย ก็อยากจะมีอะไรอย่างเขา มองความเจริญของฝรั่งในแง่ที่จะมีของใช้ของบริโภคอย่างเขา จนกระทั่งเกิดความหมายของความเจริญแบบใหม่ขึ้นมา

ความเจริญนั้น มีความหมายสองแบบ คนไทยนึกถึงความเจริญอย่างตะวันตก หรืออย่างฝรั่งแล้ว เข้าใจความหมายอย่างไร ลองวิเคราะห์กันดู

คนมองความเจริญในความหมายที่หนึ่ง ก็จะคิดว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง”

คนที่มองความเจริญในความหมายที่สอง บอกว่า “เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง”

ทีนี้ คนไทยนั้นอยากเจริญอย่างฝรั่ง ขอให้พิจารณาวิเคราะห์ความหมายว่า คนไทยนี่มองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่งว่าอย่างไร เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง หรือเจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง ขอทิ้งไว้ให้วิเคราะห์กันดู

แต่เท่าที่อาตมาสัมผัสได้ คิดว่า คนไทยเรามองความหมายของความเจริญอย่างฝรั่ง ในแง่ที่ว่าเป็นการมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ฝรั่งมีอะไร ใช้อะไร ฉันก็มีกินมีใช้อย่างนั้น ฝรั่งมีรถเก๋งอะไรอย่างไร ฉันก็มีอย่างนั้น อย่างนี้แหละเรียกว่าฉันเจริญอย่างฝรั่ง

แต่ประเทศที่เป็นนักผลิต เขาไม่มองอย่างนั้น เขามองว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรได้ ฉันก็ทำได้ และจะต้องทำให้ดีกว่านั้นด้วย

สองแบบนี้เรียกว่า มองความหมายของความเจริญแบบนักผลิต กับ มองความหมายของความเจริญแบบนักบริโภค

ถ้าคนไทยมองความเจริญแบบนักบริโภค คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ก็จะนำไปสู่การรักษาสถานะของความเป็นผู้ด้อยและล้าหลังต่อไป และจะมีสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับอยู่เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนาประเทศให้สำเร็จ ก็จะต้องจัดการกันให้ลึกลงไปถึงพื้นฐานของความคิดจิตใจทีเดียว ไม่ใช่มองแต่สภาพภายนอกแค่วัตถุ

การที่จะพัฒนาอะไรต่อไป ถ้าพื้นจิตไม่ไปแล้ว มันก็ไม่รอด แม้แต่การมองความหมาย มันก็พลาดไปแล้ว ผิดแล้ว

เพราะฉะนั้น จะต้องพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะนักเรียนของเรานี้ จะต้องมองความหมายของความเจริญใหม่ ต้องมองว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือ ทำได้อย่างฝรั่ง ไม่ใช่แค่มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทยจะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง >>

No Comments

Comments are closed.