สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 1 จาก 41 ตอนของ

สถานการณ์พระพุทธศาสนา
พลิกหายนะ เป็นพัฒนา1

เรื่องสถานการณ์และสภาวการณ์พระพุทธศาสนานี้ เรามีวิธีพูดได้หลายอย่าง อาจจะแบ่งเป็นส่วนๆ ตามกลุ่มของพุทธบริษัท เพราะสถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ถ้ามองในวงของความรับผิดชอบ เจ้าตัวผู้รับผิดชอบ ก็คือพุทธบริษัท เพราะฉะนั้น จึงจะต้องพูดโดยจับเอาพุทธบริษัทเป็นหลัก หรือเป็นแกนกลาง

พุทธบริษัทมี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายบรรพชิต กับฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายพระสงฆ์ กับฝ่ายญาติโยม เมื่อแบ่งอย่างนี้แล้ว ก็พูดไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่พุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต คือฝ่ายพระสงฆ์ก่อน เพราะถือว่าเป็นจุดศูนย์กลาง หรือเป็นวงในของพระพุทธศาสนา ได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นผู้ที่สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

ส่วนพุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์นั้น ถึงจะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเดียวกัน เพราะพระพุทธเจ้าได้ฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ ถือว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาด้วยกัน แต่เวลาเรามองกันโดยทั่วไป ก็มักจะมองว่าพระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริง แม้ว่าการมองอย่างนี้บางทีจะทำให้เกิดอันตราย คือทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมองตามความเข้าใจของคนทั่วไปก่อน

เอาเป็นว่า เราแบ่งพุทธบริษัทเป็น ๒ ฝ่าย และเริ่มจากฝ่ายบรรพชิต หรือฝ่ายพระสงฆ์ก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป– ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์ >>

เชิงอรรถ

  1. ปาฐกถาธรรม เรื่อง “สถานการณ์พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน” ในการสัมมนาเรื่อง ปัญหาและแนวทางการปรับปรุงการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ณ หอประชุมพุทธมณฑล ๒๒ มกราคม ๒๕๓๖

No Comments

Comments are closed.