พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 19 จาก 41 ตอนของ

พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป
สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ ในการฝึกตนหรือพัฒนาตนตามหลักพระพุทธศาสนานั้น เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ซึ่งทำให้คนมีการพัฒนาในขั้นและด้านต่างๆ

คนที่อยู่ในระดับต้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าอยู่ในระดับของกาม เป็นพวกกามาวจร และหวังผลในแง่ของกามสุข อันนี้เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงยอมรับความจริงของมนุษย์ พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธ

ธรรมดามนุษย์ก็หวังในกามสุข ยังหวังรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกายที่เอร็ดอร่อยชื่นชอบ ยังปรนเปรอความสุขแก่ตา หู จมูกลิ้น และกายอยู่ ยังหวังดูของสวยงาม ดูทีวีเรื่องสนุกๆ ฟังเสียงดนตรีไพเราะ ยังอยากกินอะไรอร่อยๆ ยังอยากสัมผัสสิ่งที่อ่อนละมุนนุ่มนวลอะไรต่างๆ ซึ่งเรียกว่า กามสุข

พระพุทธศาสนาก็ยอมรับให้เขามีกามสุข แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ไม่เบียดเบียนกัน เพื่อให้ทุกคนพอจะได้สมหวังบ้างทั่วกัน ไม่ใช่แย่งชิงจนอดชวดไปด้วยกัน ท่านจึงให้มีกรอบ ได้แก่ ศีลห้า

ต่อไป เมื่อเขาพัฒนาตนเองขึ้นไป เขาจะสามารถมีความสุขที่ประณีตเพิ่มขึ้น ในระดับของจิตใจ จะมีความสุขอย่างอิสระ ที่เรียกว่านิรามิสสุขมากขึ้น

กามสุขนั้นเป็นพวกสามิสสุข เป็นความสุขที่อิงอาศัยอามิส คือต้องอาศัยวัตถุมาเป็นเครื่องปรนเปรอ พอเราพัฒนามากขึ้น เราก็มีนิรามิสสุขมากขึ้น คือสามารถมีความสุขได้ตามลำพังตนเองโดยไม่ต้องอาศัยอามิส ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก ไม่ต้องอาศัย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสกายที่ชื่นชอบมาสนอง ก็มีความสุขมาก

อย่างคนที่บำเพ็ญสมาธิภาวนา เมื่อเขาก้าวหน้าไปในการเจริญภาวนานั้น เขาก็ได้นิรามิสสุข จิตใจสงบ สดชื่น ผ่อนคลาย เอิบอิ่ม ผ่องใส ไม่เครียด ไม่ขุ่นมัว ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย มีสุขได้แม้แต่เมื่ออยู่ลำพังคนเดียวโดยไม่มีวัตถุบำรุงบำเรอ เหนือกว่านั้น เมื่อพัฒนาต่อไปอีก ก็เข้าสู่ขั้นของปัญญา

สำหรับในขั้นจิตหรือในขั้นสมาธิ นิรามิสสุขยังเป็นประเภทที่เรียกว่าสามายิกะ คือเป็นของชั่วคราว

ขณะอยู่ในสมาธิ ก็มีความสุขนั้น แต่พอออกมาจากสมาธิแล้ว รับประสบการณ์ต่างๆ กระทบโน่นกระทบนี่ กิเลสก็รบกวนตามเดิม ท่านจึงเรียกว่าเป็นนิรามิสสุขประเภทสามายิกะ คือชั่วสมัย

ทีนี้ พอพัฒนาปัญญาหรือวิปัสสนาไปจนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว จิตหลุดพ้นเป็นอิสระจากกิเลสสิ้นเชิง เพราะมีความรู้เท่าทันต่อความจริงของโลกและชีวิต เห็นความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญา

ปัญญามาแล้ว ก็ไม่ปรุงแต่งกระแสความอยากแห่งตัณหาของตนขึ้นมาฝืนทวนสวนขัดกับกระแสความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ถูกกระแสความเป็นไปที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไร้ตัวตนของธรรมชาติมาบีบคั้น จิตใจเป็นอิสระลอยตัว

ถึงตอนนี้ก็มีแต่ความเบิกบานผ่องใสสงบสบายที่เป็นปัจจุบันทุกขณะ ก็จะมีความสุขที่เป็นนิรามิสสุข ประเภทที่เรียกว่า อสามายิกะ หรือ อสมัย แปลว่า นิรามิสสุข ประเภทที่ไม่ขึ้นต่อสมัย เป็นสุขที่ไม่จำกัดกาลเวลา

รวมความว่า มีความสุขที่จำแนกได้เป็น ๓ ขั้น การพัฒนามนุษย์จะทำให้คนมีความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น

จากกามสุขที่หยาบคายร้ายแรงเต็มไปด้วยการเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิง ก็มีกามสุขที่อยู่ในกรอบของศีลธรรม มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลชุ่มชื่นด้วยไมตรี

ต่อจากนั้นก็พัฒนาด้านจิตใจให้มีนิรามิสสุข ที่ไม่ขึ้นต่อวัตถุบำรุงบำเรอภายนอก

แล้วท้ายสุด จากนิรามิสสุขชั่วคราวด้วยกำลังจิต ก็พัฒนาต่อไปสู่นิรามิสสุขที่ปลอดโปร่งสว่างโล่งเป็นอิสระด้วยปัญญา

เมื่อคนรู้จักนิรามิสสุข หรือสุขด้วยลำพังตัวเองแล้ว ก็เป็นอิสระจากวัตถุ เขามีความเป็นอิสระมากขึ้น เพราะอยู่ลำพังตัวเองก็สุขได้

แล้วเพราะเหตุที่เขามีความสุขที่ประณีตนี้แหละ มันก็กลายเป็นตัวกำกับพฤติกรรมของเขาไปในตัว ไม่ให้ทำสิ่งที่ชั่วร้าย เพราะว่าเขาสามารถมีความสุขได้แล้ว โดยไม่ต้องดิ้นรนไปเที่ยวแย่งชิงวัตถุของผู้อื่น และความสุขแบบนั้นก็เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจิตใจสงบดีงาม ไม่มีความงุ่นง่านเร่าร้อน

ฉะนั้น ในการพัฒนาทางจิตใจ การที่มีความสุขมากขึ้น จึงกลับกลายเป็นการลดการเบียดเบียนลง ทำให้มีจริยธรรมดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลักเมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต >>

No Comments

Comments are closed.