- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ
กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ใหญ่จริงๆ ถึงขั้นที่เรียกว่าจะต้องปฏิวัติประวัติศาสตร์กันทีเดียว เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องกินลึกลงไปถึงรากฐานทางความคิดทีเดียว เพราะในที่สุดแล้ว การพัฒนาทางวัตถุหรือทางเทคโนโลยีที่ก้าวดำเนินมาทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากตัวนำคือความคิดก่อน
แนวทางการพัฒนาและวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่นี้ สืบเนื่องมาจากค่านิยม แล้วก็สืบสาวลงไปถึงความคิด ที่เป็นเรื่องของภูมิปัญญา
ตอนนี้ ฝรั่งจึงกลับไปทบทวนรากฐานทางความคิดในภูมิปัญญาของตนเอง ก่อนที่จะมาพัฒนาแบบนี้ ว่าอะไรกันที่ทำให้เดินเข้าสู่การพัฒนาที่ผิดพลาด
นี่หมายความว่า การที่ได้เอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารับใช้วัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจในแนวนี้นั้น จะต้องมีความเชื่อ มีค่านิยม มีแนวความคิดที่อยู่เบื้องหลัง เป็นรากฐาน ตอนนี้เขากำลังคิดค้นไปจนถึงจุดนี้
เพราะฉะนั้น จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่หยั่งลึกลงไปจนกระทั่งถึงการเปลี่ยนแปลงในจิตใจของมนุษย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นภูมิปัญญา
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ฝรั่ง ผู้นำในการเดินทางผิดนั้น จึงบอกว่า โลกนี้จะต้องมีการปฏิวัติครั้งใหม่ และเป็นครั้งใหญ่ที่สุด เป็นการปฏิวัติทีเดียวพร้อมกันทั่วทั้งโลก และในเวลาที่สั้นฉับพลันที่สุด
โลกนี้ได้มีการปฏิวัติที่เป็นเรื่องของอารยธรรมมาก่อนแล้ว ๒ ครั้ง แต่เป็นการปฏิวัติในถิ่นหนึ่งแห่งหนึ่งก่อน ไม่พร้อมกัน และต้องใช้เวลานานกว่าการปฏิวัตินั้นๆ จะเสร็จสิ้นไปทั่ว กล่าวคือ
การปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง เรียกว่า Agricultural Revolution คือการปฏิวัติทางการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว โดยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือมนุษย์ได้ตั้งถิ่นฐานแน่นอนแล้วจึงเกิดอารยธรรมขึ้น
แต่ก่อนนี้มนุษย์เที่ยววิ่งล่าสัตว์ แล้วก็เก็บอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติมากิน ไม่มีอารยธรรม จนกระทั่งเมื่อประมาณหมื่นปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักอยู่กับที่ รู้จักปลูกพืชขึ้นมาเอง และเอาสัตว์มาเลี้ยง มีการทำคอกเก็บรักษาและมีที่เลี้ยงสัตว์
พออยู่กับที่แล้ว ก็สร้างบ้านสร้างเมือง เกิดมีกิจกรรม และกิจการต่างๆ เช่น การค้าขาย การช่างฝีมือ ศิลปวิทยา มีความเจริญขึ้นมา อารยธรรมมนุษย์ก็เกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติอารยธรรมครั้งที่ ๑ เรียกว่า Agricultural Revolution
ต่อมา เมื่อมนุษย์เจริญขึ้น มีอารยธรรรม มีความเจริญทางกิจการต่างๆ มากมาย ศิลปวัฒนธรรมพัฒนาขึ้นมาในยุคเกษตรกรรม ก็มีปัญหาอีก เพราะมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น ประชากรเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ในระยะสองล้านปีก่อน ในโลกนี้มีมนุษย์เพียง ๒-๓ ล้านคน ต่อมา พอถึงยุคปฏิวัติเกษตรกรรม ประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น ๒,๐๐๐ ล้านคน
เมื่อประชากรเพิ่มมาก อาหารการกินที่ผลิตด้วยวิธีการเกษตรก็ไม่เพียงพอ และการทำมาหากินของมนุษย์ได้ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในธรรมชาติด้วย ที่ดินทำกินก็น้อยลง มีคุณภาพลดลง มนุษย์จึงหาวิธีการใหม่ที่จะผลิตให้พอบริโภค ที่จะแก้ไขความขาดแคลน
มนุษย์ดิ้นรนกันไป ในที่สุดก็เกิดการปฏิวัติยุคที่สอง เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแค่ประมาณ ๒๕๐ ปีนี้เอง (ถือกันว่า ในอังกฤษมีในช่วงประมาณ ค.ศ. ๑๗๕๐ ถึง ๑๘๕๐) และเริ่มขึ้นในเขตยุโรปตะวันตกเท่านั้น แล้วจึงขยายออกจนขณะนี้ก็ยังไม่ทั่วโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ แม้ว่าจะยังไปไม่ทั่ว ก็ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ในระบบสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการผลิตที่เพิ่มอย่างมหาศาล และประชากรก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับต่อจากยุคปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ จากสองพันล้าน เป็นห้าพันห้าร้อยล้านคน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้โลกเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน และโดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบที่ใช้ในตะวันตกปัจจุบัน ที่ชี้นัยว่า ผลิตให้มากที่สุด จะเจริญที่สุด และบริโภคได้มากที่สุด ก็คือมีความสุขมากที่สุด
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งแนวความคิดตามนัยเศรษฐศาสตร์ตะวันตก แบบที่ว่านี้ ได้ครอบงำวิถีการพัฒนาของตะวันตกตลอดมา และเมื่อตะวันตกขยายอิทธิพลมาสู่ตะวันออก เราก็ตามวิถีการพัฒนาแบบนั้นไปด้วย
วิถีการพัฒนาแบบตะวันตกนั้น จึงได้เป็นวิถีการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ที่บอกว่าได้นำมาสู่ปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว
No Comments
Comments are closed.