- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย
บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
พูดมาถึงเรื่องนี้แล้ว ก็เลยขอแทรกความหมายของคำว่า “มานะ” เสียหน่อย
ความถือตัว หรือความสำคัญตัวยิ่งใหญ่ ตลอดจนการสำคัญตัวเองว่าด้อยนี้ ทางพระเรียกว่ามานะ
เห็นตัวเองยิ่งใหญ่กว่าเขา ก็เป็นมานะ ถือตัวว่า เขาแค่ไหน ฉันก็แค่นั้น ก็เป็นมานะ ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา ก็เป็นมานะ คือถือตัวทั้งนั้น เป็นการมองตัวเองโดยเทียบกับคนอื่น
มานะนี้ ภาษาไทยนำมาใช้กลายเป็นศัพท์ดีไป ที่จริงมานะเป็นกิเลส คือความถือตัว อยากเด่น อยากยิ่งใหญ่ พระอริยบุคคลต้องละกิเลสเหล่านี้ แต่ละยากมาก เพราะเป็นกิเลสละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่พระอนาคามีก็ยังมี ต้องพระอรหันต์เท่านั้นจึงละได้หมด
แต่พระอริยบุคคลท่านมีมานะนี้เหลืออยู่เพียงในลักษณะที่ละเอียดอ่อน คือยังมีความรู้สึกถือตัวอยู่บ้าง ยังภูมิใจ แต่ไม่พอง ส่วนมานะอย่างต่ำ ที่หยาบ ที่จะเป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน ก่อความเสียหาย จนเกิดทุกข์โทษ ต้องละได้หมด
คนไทยเรานี้ได้เอามานะมาใช้ในความหมายที่ดี อันนี้ก็เป็นเรื่องของความเคลื่อนคลาดในความรู้เข้าใจหลักของพระศาสนาอย่างหนึ่ง ที่เตือนเราว่า จะต้องสำรวจวัฒนธรรมของเราเองด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่บางทีสอนเด็กให้ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ โดยบอกว่า เออ ตั้งใจเล่าเรียนขยันหมั่นเพียรไปนะ ต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโต หรือบอกว่าให้มานะพากเพียรเรียนไปเถิด ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน นี้เป็นคำพูดที่ค่อนข้างติดปากในสังคมไทย
คำที่ใช้ในความหมายอย่างนี้ ยังไม่ได้สืบให้ชัดว่าเกิดขึ้นมานานแค่ไหน อาจจะในช่วงศตวรรษเดียว หรือมีมาก่อนก็ได้ แต่มันส่อแสดงถึงการที่คนไทยเราได้เอากิเลสตัวมานะนี้มาใช้ปลุกเร้าคนให้เพียรพยายามทำความดี และเป็นการเร้ากิเลสที่ได้ผล
เราจะได้ยินคนพูดทำนองว่า โน่น ดูซิ เขาแค่นั้น ทำได้ เธอแค่นี้ ทำไมทำไม่ได้
เศรษฐีอาจจะบอกลูกว่า โน่นเขาลูกคนกระจอก โน่นลูกคนยากคนจน เขายังทำได้ เธอหรือแกเป็นถึงลูกเศรษฐี ทำไมทำไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าปลุกเร้ามานะ ปลุกเร้าแล้ว ฮึดขึ้นมา ทำให้ทำการอะไรก็ได้ มีความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า หรืออาจจะถึงกับรุนแรงที่สุด
อย่างคำเก่าว่า ขัตติยมานะ ก็บอกถึงตัวเร้าที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเกิดขัตติยมานะขึ้นมาแล้ว ก็จะพยายามทำจนสำเร็จให้ได้
มานะนี้เป็นตัวปลุกเร้าที่สำคัญ แต่ในทางพระพุทธศาสนาท่านไม่สรรเสริญ เพราะเป็นการเอากิเลสมาใช้ปลุกเร้า แม้จะให้ทำความดี ก็จะมีโทษแฝงอยู่ด้วย เพราะเป็นการทำดีอย่างเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวเองจะได้จะเป็น ทำให้ไม่คำนึงถึงคนอื่น อาจก่อความเบียดเบียนได้มาก
จะให้ขยันหมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียน ก็เอามานะมาปลุกเร้า กระตุ้นให้อยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคน เป็นนายคน ทางพระเรียกว่า เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล ท่านแสดงไว้ในหลักอภิธรรม ใช้ได้ เป็นไปได้จริง แต่มีโทษ
ปัจจุบันนี้เปลี่ยนจากการเอามานะเป็นตัวเร้า หันไปเอาตัณหามาเร้า เอาตัณหามาเร้า คือกระตุ้นให้อยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินทอง ว่าต่อไปจะได้ร่ำรวยมีเงินทองใช้มากๆ ให้ขยันเล่าเรียนไป จะได้ปริญญาไปประกอบอาชีพ ได้งานดี มีเงินเดือนแพง หรือได้ค่าตอบแทนมากๆ
บางทีก็เอาทั้งสองอย่างประกอบกัน ว่าจะได้มียศตำแหน่งใหญ่โต แล้วจะได้มีเงินทองใช้มาก การที่อยากจะได้มีเงินทองใช้มาก เป็นตัณหา อยากได้เป็นใหญ่เป็นโตมีฐานะตำแหน่งสูง ก็เป็นมานะ เอาสองอย่างนี้มาเร้าทำให้คนเพียรพยายามทำความดี แต่มีอันตราย เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตัวทั้งนั้น
No Comments
Comments are closed.