คำนำ

23 เมษายน 2535
เป็นตอนที่ 1 จาก 37 ตอนของ

คำนำ

ผมได้ทราบมาว่า เมื่อข่าวการนิมนต์พระมาแสดงปาฐกถาสำคัญในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เริ่มแพร่ออกไปนั้น ได้เกิดปฏิกิริยาในทางลบทันที มีเสียงค้านว่า พระจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวิทยา­ศาสตร์ เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ผู้จัดมีศรัทธาในองค์ปาฐกที่มุ่งหมาย คือ ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที จึงยืนยันดำเนินการจัดให้มีขึ้นจนได้ สำหรับผมเองนั้นเมื่อได้รับบัตรเชิญ ไม่ได้สงสัยหรือประหลาดใจแต่ประการใด เพราะรู้จักและตระหนักในปัญญาคุณของท่านเจ้าคุณฯ ผมโชคดีที่มีโอกาสแวะพักเชียงใหม่ เพียงเพื่อจะฟังปาฐกถาครั้งนั้น ในช่วงที่พาเพื่อนชาวต่างประเทศเที่ยวเมืองเหนือ จึงสามารถเป็นพยานในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของปาฐกถาครั้งนั้นได้อย่างแน่นอน

ท่านเจ้าคุณฯ ใช้เวลาสี่ชั่วโมงครึ่งเพื่อบรรยายเนื้อหาที่ท่านเตรียมมาแต่ก็ไม่จบสิ้นกระบวนความที่ท่านประสงค์จะแสดง ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่ คือมากกว่า ๙๐% อยู่ฟังต่อจนจบหลังจากพักครึ่งเวลา ห้องประชุมใหญ่ซึ่งจุคน ๓๐๐ คน แน่นจนต้องเปิดห้องอื่นต่อโทรทัศน์วงจรปิดให้เข้าไปนั่งฟัง ขณะเดียวกันก็มีการถ่ายทอดสดจากสถานีวิทยุของมหาวิทยาลัยด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ยากที่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมฟังปาฐกถาวิชาการสาขาใดในงานใดก็ตาม สำหรับเนื้อความจะเป็นอย่างไรนั้นปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือเล่มนี้เพื่อให้ท่านผู้มีวิจารณญาณพินิจพิเคราะห์ด้วยสติปัญญาของท่านเองแล้ว ผมได้รับฉันทานุมัติทั้งจากฝ่ายท่านผู้แสดงปาฐกถา และฝ่ายท่านผู้จัดงานให้เขียนคำนำสำหรับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมก็ได้ตอบรับด้วยความยินดี และเต็มใจ ผมคิดจะถือโอกาสอันนี้ไม่เพียงแต่จะเชิญชวนให้ท่านผู้หยิบหนังสือนี้ขึ้นเริ่มอ่านเกิดฉันทะยิ่งขึ้น แต่จะได้หยิบยกบางประเด็นที่ผมเองสนใจ ขึ้นมาอภิปรายตามที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ผู้อ่านบางท่านอาจข้องใจสงสัยว่า ท่านเจ้าคุณเทพเวทีรู้วิทยา­ศาสตร์ เพียงพอที่จะวิเคราะห์วิจารณ์หลักการของวิทยาศาสตร์ละหรือ ท่านเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาจากสถาบันไหน เมื่อผมได้ฟังการบรรยายของท่านแล้ว ผมก็แน่ใจว่าท่านไม่ได้ศึกษามาอย่างที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางสาขาใดของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ท่านไม่เคยได้รับแม้แต่ปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ ข้อนั้นผมถือว่าเป็นการดีที่จะได้ไม่มีเจ้าสำนักสถาบันวิทยาศาสตร์ใดอ้างได้ว่าเคยเป็นอาจารย์ของท่านมา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ท่านอ้างอิงถึงนั้นผู้รักเรียนทั่วไปสามารถแสวงหาได้ โดยอุตสาหะวิริยะของตนเอง ปัญหามีอยู่ว่าโดยทั่วไปแม้ในหมู่ผู้ที่ถือว่าตนเป็นนักวิชาการนั้น มีความสนใจที่จะเรียนกว้างไกลออกไปจากวงแคบของความรู้เชี่ยวชาญพิเศษของตนหรือเปล่า ผมมีความเห็นว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยได้เรียนรู้พุทธศาสนาอย่างถูกต้องในระดับอันเทียบเท่ากับที่ท่านเจ้าคุณฯ รู้วิทยาศาสตร์แล้ว ก็คงจะมีทัศนคติที่ช่วยให้ท่านทำประโยชน์แก่ทั้งวิทยาศาสตร์ และพุทธศาสนา ได้ไม่น้อย

ผู้คนทั่วไปในโลกปัจจุบันยอมรับนับถือว่า วิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องโลกและชีวิต ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะวิทยาศาสตร์ประยุกต์เป็นรากฐานของเทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งได้ผลิตอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายและสนองตอบเต็มที่ต่อความต้องการทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมของมนุษย์ วิทยาศาสตร์จึงประทับใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในโลก อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของวิทยาศาสตร์ ต่อปัญหาเรื่องต่างๆ จะถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงแท้ กล่าวคือ สัจจธรรมหรือไม่อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่นักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเองก็ได้ขบคิดพิจารณากันอยู่ตลอดมา ปาฐกถาของท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีอันเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ เป็นกรณีหนึ่งของการอภิปรายในปัญหาซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการไทยปัจจุบันควรให้ความสนใจอย่างยิ่งถ้าคิดจะก้าวหน้าให้ทันโลกปัจจุบัน

ผมอยากจะเสนอความคิดเห็นต่อท่านผู้อ่านว่าความรู้ทางวิทยา­ศาสตร์ แตกต่างจากความรู้ในพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจเรื่องที่ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึง (เช่นในหน้า ๑๒๕-๑๒๗) ชัดเจนยิ่งขึ้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นผลงานร่วมและมรดกตกทอดทางปัญญาของผู้คนจำนวนมหาศาล ที่สืบทอดประเพณีการแสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธรรมชาติโดยสังเกตการณ์และการทดลอง มีวิธีการพิเศษเฉพาะ ในการรวบรวมข้อมูลมาจำแนกประเภทและทำการวิเคราะห์เพื่อหาหลักเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ซึ่งเชื่อว่ามีโยงใยแห่งเหตุปัจจัย และถือว่าเป็นกฎธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จะ คาดคะเน ถึงลักษณะของความสัมพันธ์เหล่านี้ และเสนอเป็นสมมติฐานหรือทฤษฎี การตรวจสอบว่าข้อคาดคะเนเหล่านี้ จะถูกต้องหรือสอดคล้องกับวิถีทางที่ถูกต้องของธรรมชาติหรือไม่เพียงใดนั้น ก็โดยนำเอาสมมติ­ฐานหรือทฤษฎี ไปเป็นหลักพยากรณ์ว่าในสถานการณ์แวดล้อมเช่นใดจะเกิดปรากฏการณ์อย่างไรขึ้น แล้วทำการทดลองหรือทำสังเกตการณ์ตามคำพยากรณ์นั้น เพื่อทดสอบว่าเป็นไปตามพยากรณ์ไว้หรือไม่ ถ้าปรากฏว่าพยากรณ์ได้ถูกต้องก็ถือว่าสมมติฐานหรือทฤษฎีนั้น คงจะใกล้เคียงกับสัจจธรรม หรือความจริง และเป็นที่ยอมรับเข้าเป็นความรู้ที่ใช้งานได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการทดลองหรือสังเกตการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการพยากรณ์เกิดขึ้น แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้เกิดขึ้น ก็จะต้องมีการปรับปรุงสมมติฐานหรือทฤษฎีใหม่ ให้สามารถครอบคลุมอธิบายและพยากรณ์ปรากฏการณ์เพิ่มขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องเสนอ ข้อคาดคะเนแบบใหม่ เป็นการเสนอสมมติฐานหรือทฤษฎีใหม่เพื่อใช้แทนของเก่าต่อไป

สมมติฐานหรือทฤษฎีที่ยืนยงทนการตรวจสอบด้วยข้อมูลใหม่ๆ เป็นเวลายาวนาน จนเชื่อกันว่าค่อนข้างจะถูกต้อง อาจได้รับการยกระดับเป็น กฎ (ธรรมชาติ) เช่น กฎความโน้มถ่วงของนิวตัน แต่แม้แต่ถึงขนาดนี้แล้วก็ยังอาจถูกแทนที่ได้ เช่นกฎดังกล่าวนี้เองในปัจจุบันถูกแทนที่โดยสัมพัทธทฤษฎีทั่วไปของไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่า

ดังนั้น ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นแท้จริงเป็นการสะสม ข้อคาดคะเน เรื่องหลักการในธรรมชาติ โดยระเบียบวิธีการเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์จะคิดค้นมาใช้ได้ เมื่อเราเปิดตำราวิทยา­ศาสตร์ หรือตำราวิชาการที่อาศัยหลักการวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่เต็มห้องสมุดทั่วไปในโลก เราจึงพบว่ามันเต็มไปด้วยสมมติฐานของคนนั้น ทฤษฎีของคนนี้ ฯลฯ ไม่มีในที่ใดเลยที่เสนอว่า “ความจริงหรือสัจจธรรมเป็นเช่นนี้!”

ลักษณะของวิทยาศาสตร์ที่ควรจะตั้งข้อสังเกตไว้อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นความรู้ที่อาศัยข้อมูลที่เข้าสู่ความรับรู้ของมนุษย์ทางอินทรีย์ ๕ หรือทวาร ๕ และโดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ทางจักขุนทรีย์ หรือ จักขุทวาร ทั้งนี้ โดยได้ผ่านกระบวนการปรุงแต่งของจิตแล้ว (ตามที่ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึงในหน้า ๑๒๓-๑๒๕) และนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปไม่ได้เฉลียวใจทำการวิเคราะห์ให้ชัดเจนก่อนนำมาเป็นข้อมูลเริ่มต้น ในการคาดคะเนตั้งสมมติฐานทฤษฎี ข้อมูลของวิทยาศาสตร์จึงเป็นบัญญัติสมมติที่จิตสร้างขึ้น จากการกระตุ้นของธรรมชาติแท้จริงภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการนำข้อมูลเช่นนั้นไปวิเคราะห์คาดคะเน อย่างไรก็คงไม่นำไปสู่ความรู้จริงแท้หรือสัจจธรรมได้ นอกจากจะเป็นเพียงความรู้เรื่องโลกอันเป็นเพียงเงาของความจริงเช่นที่ท่านเจ้าคุณฯ ได้อ้างถึงคำพูดของเอดดิงตัน (หน้า ๑๓๐) นั่นเอง

สามัญสำนึกของผู้คนทั่วไป ซึ่งผมจะขอเรียกในที่นี้ว่า ‘ชาวบ้าน’ นั้น ถือเอาว่ามีตัวตนบุคคล หรืออัตตา เป็นผู้สังเกตการณ์ ธรรมชาติแวด​ล้อม และถือเอาว่าสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ เป็นต้นว่าพื้นดิน ภูเขา ต้นไม้ ผู้คน ฯลฯ เป็นอย่างที่รับรู้ทางอินทรีย์ ๕ กล่าวคือ ทางตา เป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วข้างบน นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มต้นจากสามัญสำนึกแบบชาวบ้าน ดังนั้นเมื่อเขาพยายามขยายความคิดจากสิ่งที่รับรู้ได้ทางอินทรีย์ ๕ ไปสู่สิ่งที่ละเอียดสุขุมกว่า เช่นคิดถึงอะตอม อันเขาคาดคะเนว่าเป็นองค์ประกอบเล็กย่อยที่ยังคงคุณสมบัติทางเคมีของธาตุที่รู้เห็นได้ไว้ ภาพในใจของเขาก็ยังอาศัยรูปลักษณ์ของสิ่งของในโลกที่เขามองเห็นได้นั่นเอง ดังนั้น อะตอมของเขาจึงเป็นเหมือนลูกบิลเลียดกลม แต่เล็กจิ๋วจนเห็นไม่ได้ อนุภาคมูลฐานต่างๆ เช่น อิเลกตรอน โปรตอน นิวตรอน ก็เป็นเม็ดกลมเล็กๆ ไปด้วย จนกระทั่งปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของต้นศตวรรษนี้ทำให้ต้องปฏิวัติความคิดกันใหม่ ว่าเจ้าสิ่งเหล่านี้อาจมีรูปลักษณ์เป็นเม็ดก็ได้ เป็นคลื่นก็ได้ แล้วแต่กรณีที่ผู้สังเกตการณ์จะเผชิญมันในสถานการณ์ใด ประเด็นนี้ท่านเจ้าคุณฯ กล่าวถึงไว้ในหน้า ๔๕

สรุปว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องคาดคะเนว่าในปรากฏ­การณ์หลากหลาย อันเราเรียกรวมว่า ธรรมชาติ นั้น น่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างที่พอจะยึดถือเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติการในชีวิตและสังคมได้ด้วยความมั่นใจตามสมควร สมมติฐาน ทฤษฎี และกฎทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นองค์ประกอบของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ย่อมมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับประสบการณ์ใหม่ได้เสมอ จึงไม่ใช่สัจจธรรมสุดท้าย แต่ก็มีประโยชน์ยิ่งเมื่อนำไปประยุกต์เป็นเทคโน­โลยีอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตโดยชอบธรรม ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์ก็คือได้ละเลยที่จะขยายขอบเขตเข้าไปสู่ด้านนามธรรม คือเรื่องของจิตใจซึ่งเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับโลกแห่งสสารวัตถุหรือรูปธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ในเรื่องของชีวิตจิตใจ จึงนับว่าผิวเผิน ไม่เพียงพอที่จะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ชี้นำทางชีวิตและสังคมได้

พุทธธรรม เป็นระบบความรู้ความเข้าใจแจ้งในสรรพสิ่ง อันเนื่องมาจากความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า – ท่านผู้บรรลุความรู้เองโดยชอบ

การประกาศความตรัสรู้ของพระตถาคตเป็นการประกาศศักยภาพของมนุษย์ ที่จะหยั่งรู้สัจจธรรมหรือสภาพเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นโดยตรง (หน้า ๑๒๗) ไม่ใช่ทางระบบการคาดคะเนเช่นกับวิทยาศาสตร์

พระพุทธองค์ทรงประกาศว่า “ตถาคตรู้” ไม่ใช่ “ตถาคตคาดคะเน” ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร หลักธรรมที่ทรงประกาศนั้นท้าทายให้บุคคลนำไปพิจารณา พิสูจน์ ทดสอบด้วยประสบการณ์ชีวิตของตนเอง การแสวงหาสัจจธรรมทางพุทธศาสนาก็คือการพัฒนาศักยภาพภายในเพื่อให้เกิดปัญญาในระดับที่รู้ทันการปรุงแต่งโลกมายาแห่งสมมติบัญญัติ และประจักษ์สภาพตามเป็นจริงซึ่งสรรพสิ่งปรากฏเป็นขณะแห่งอุบัติการณ์ พ้นกรอบกาลอวกาศ เมื่อจิตกับสิ่งที่จิตรู้ยังไม่แปลกแยกจากกัน ในลักษณะนี้ ความรู้ทางพุทธศาสนาจึงมีความสมบูรณ์และมีวิธีการบรรลุถึงแตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

เมื่อนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์มนุษย์โดยละเอียดแล้ว จะหาองค์ประกอบที่มีลักษณะอันจะเรียกว่าเป็นตัวตนหรืออัตตาไม่ได้เลย กล่าวได้ว่าตามทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นสสารนิยมสุดโต่งนั้น หลักอนัตตาปรากฏชัดเจนด้วย แต่ก็เป็นที่น่าพิศวงว่าเหตุใดนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการตะวันตกซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด และวิธีการวิทยาศาสตร์ จึงได้มองข้ามประเด็นสำคัญนี้ไป ไม่ปรากฏข้อเสนออะไรในทำนองนี้ในวง​วิทยาศาสตร์ หรือ ปรัชญาตะวันตก ที่ยืนยันหลักอนัตตา อันเป็นรากฐานสำคัญและพิเศษของพุทธศาสนาเลย

อาจเป็นได้ว่าในความคิดส่วนลึกที่แฝงเร้นนั้น นักวิทยาศาสตร์ ตะวันตกจำนวนมากไม่ได้เป็นนักวัตถุนิยมหรือสสารนิยมสุดโต่ง อย่างที่คล้ายจะประกาศตนเช่นนั้น แต่ยังแอบเชื่อถือและยอมรับความมีอยู่ของนามธรรมในรูปแบบภูต หรือ ชีวะ ที่เรียกว่า โซล (soul) นี่เป็นความเชื่อแบบสัสตทิฏฐิ อันตกทอดมาจากศาสนาบรรพกาลหรือศาสนาที่เชื่อบรมเทพผู้รังสฤษดิ์โลกธาตุ มีคำกล่าวพังเพยล้อเลียนกันในหมู่นักวิชาการตะวันตกว่า “ในสัปดาห์หนึ่งเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ ๖ วัน พอวันอาทิตย์ก็ไปโบสถ์ สวดสรรเสริญพระเจ้า!”

ถ้าหากการได้รับปริญญาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับตรีถึงเอก ถือเป็นมาตรฐานของการเป็น “นักวิทยาศาสตร์” เต็มขั้น นักวิทยาศาสตร์ไทยก็ไม่น้อยหน้านักวิทยาศาสตร์เทศ ประเภทที่กล่าวมาข้างบน และประเภทเพี้ยนอื่นๆ เรามีอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ที่เชื่อการทรงเจ้าเข้าผีถึงขั้นเข้าร่วมคณะเจ้าสำนัก หรือไม่เช่นนั้นก็ที่เชิดชูคำสอนสัทธรรมปฏิรูป ชนิดนำทัวร์สวรรค์นิพพานเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกที่ดับขันธ์ไปนานแล้ว ยังมีอีกที่สับสนปนเปพุทธธรรมกับลัทธิเดียรถีย์ ประกาศว่าเมื่อจิตถึงขั้นอรหัตแล้ว ฆ่ามนุษย์ได้ไม่เป็นไรเพราะจิตว่าง ฯลฯ ปรากฏการณ์วิปริตเช่นนี้ วิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะนักวิชาการไทยส่วนใหญ่ในช่วงราวร้อยปีที่ผ่านมา ได้หลงใหลและถูกหล่อหลอมด้วยวัตถุนิยมของวิทยาศาสตร์บวกเทคโนโลยีตะวันตก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เดียงสาในความรู้อันลุ่มลึกกว้างขวางทางพุทธธรรม มีไม่น้อยที่คิดว่าตนรอบรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เมื่อได้อ่านหนังสือปาฐกถาธรรมสองสามเล่ม และคิดว่าเมื่อเข้าใจขันธ์ห้า ไตรลักษณ์ และอริยสัจสี่ ตามนั้นแล้วก็จบหลักสูตรและสามารถพูดธรรมะในวงสุราเมรัย หรือ บนเวทีอภิปรายทางวิชาการได้อย่างมั่นใจ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ผมมีอายุ ๑๖ ปี เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีนั้นได้มีโอกาสอ่านหนังสือเขียนโดย เซอร์ อาเธอร์ สแตนลีย์ เอดดิงตัน สองเล่ม คือ ๑) อวกาศ เวลา และความโน้มถ่วง (Space, Time and Gravitation) และ ๒) ธรรมชาติของโลกกายภาพ (The Nature of the Physical World) เล่มแรกเป็นการเส⁠นอทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของไอน์สไตน์ ในฐานะที่เป็นการปฏิวัติทางความคิดในวิทยาศาสตร์กายภาพ ประกอบกับความคิดเห็นทางปรัชญาของผู้เขียนเอง เล่มหลังเสนอทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพ และทฤษฎีควอนตัม รวมทั้งปรัชญาทางวิทยาศาสตร์ โดยในบทสุดท้ายอภิปรายเรื่องวิทยาศาสตร์กับรหัสยนิยม (Mysticism) ผมได้อ่านทบทวนหนังสือสองเล่มนี้ ตลอดช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๕ ตั้งแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจจนเริ่มจับความสำคัญได้ ผลจากการอ่านนั้นก็คือผมเบนเข็มจากความมุ่งหมายเดิมที่จะทำปริญญาทางเคมี เป็นฟิสิกส์ เพราะเกิดความประทับใจเป็นอย่างมากในความงดงามล้ำลึกของโลกกายภาพที่เอดดิงตันชี้แนะอย่างลุ่มลึกกว้างขวางในรูปแบบที่ไม่ใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูงของผู้ชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้วยเหตุนี้ ในตอนบ่ายวันศุกร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๔ ในห้องประชุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อผมได้ยินท่านเจ้าคุณฯ ในฐานะองค์ปาฐกกล่าวอ้างอิงถึงความคิดของเอดดิงตัน (หน้า ๔๖, ๑๒๔, ๑๓๐) ผมก็เกิดความตื่นใจและยินดีในทันที เพราะตลอดระยะเวลายาวนานจาก พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นเวลาครึ่งศตวรรษนั้น ผมไม่เคยได้ยินนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการไทยคนใดกล่าวขวัญถึงความคิดอันลุ่มลึกกว้างไกลหรือแม้แต่ชื่อของท่านผู้นี้เลย! เอดดิงตัน มีความสำคัญอย่างไรในวงการฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และปรัชญาของวิทยาศาสตร์นั้น เชิญอ่านดูได้ในตอนคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่ม

ถึงตอนนี้ผมรู้สึกว่า ข้อเขียนนี้อาจจะยืดยาวเกินความประสงค์ของฝ่ายท่านผู้เชื้อเชิญให้เขียน แม้ท่านจะออกปากอนุญาตล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะสั้นยาวอย่างไรก็ได้ ดังนั้นผมจึงจะขอสรุปลงว่า ประเด็นที่ผมได้กล่าวถึงข้างบน เป็นเพียงการจุดชนวนความคิดของท่านผู้อ่านให้แล่น เพื่อเผชิญเนื้อหาข้อคิดความเห็นอันลุ่มลึกกว้างไกลของท่านเจ้าคุณพระเทพเวที สำหรับผู้ที่ข้องใจในชื่อเรื่องหน้าปกก็ขอชี้แนะว่าท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้เสนอชื่อใหม่ (หน้า ๑๕๐) ว่า “วิทยาศาสตร์ที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน ควรจะเป็นอย่างไร” ซึ่งมีแง่มุมสำคัญเป็นการสรุปข้อเสนอแนะในบทที่ ๕ ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การพิจารณาโดยนักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไป นอกจากนี้ท่านยังมีของฝากพิเศษสำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยโดยเฉพาะ ดังที่ปรากฏในบทที่ ๖ อีกด้วย ผมหวังว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดสร้าง​สรรค์ที่ท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีได้หว่านลงในโอกาสงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔ นี้ จะมีโอกาสเติบโตผลิดอกออกผลเป็นประโยชน์แท้จริงต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและสังคมไทย และขยายผลกว้างไกลออกไปสู่สังคมมนุษย์ทั่วไปด้วย

(ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล)

๒๓ เมษายน ๒๕๓๕

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไปปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน >>

No Comments

Comments are closed.