- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
ตามเป็น เอาอย่างเป็น
นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
เวลานี้ถึงตอนขึ้นปีใหม่ นอกจากมีการโฆษณาต่างๆ ก็มีการส่ง ส.ค.ส. เดี๋ยวนี้ก็นิยมส่งการ์ดกัน
การ์ด ส.ค.ส. เท่าที่สังเกตเห็นใน ๔-๕ ปีนี้ จะมีคำภาษาอังกฤษมากขึ้นๆ จนเดี๋ยวนี้แทบจะมีทุกแผ่น สมัยก่อน ไม่ค่อยมี ภาษาอังกฤษที่ใช้มากก็คือ Best Wishes for a Merry Christmas and a Happy New Year แม้แต่หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ก็พลอยไปกับเขาด้วย
ขึ้นปีใหม่ปีนี้ อาตมาก็ได้รับ เมื่อวานนี้ มาถึงสำนักสงฆ์ก็ได้รับการ์ดที่เขาเก็บไว้ให้ ๓ การ์ด แล้วก็มีภาษาอังกฤษควบภาษาไทยทั้งนั้น ดูเหมือนจะทั้ง ๓ การ์ดมีคำว่า A Merry Christmas and a Happy New Year นี่คืออะไร มันแสดงถึงความรู้สึกอะไร
ผู้ส่งบางทีอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ธุรกิจก็มุ่งจะสนองหรือกระตุ้นความรู้สึกตามค่านิยม คือความรู้สึกโก้ที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษใช่หรือเปล่า
ผู้ทำการ์ดเอง บางทีก็ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าฝรั่งเขามีข้อความใช้กันกี่แบบ เพียงแต่จะให้มีภาษาอังกฤษ แล้วก็ใช้ข้อความอย่างฝรั่ง ก็เลยใช้ตามกันไป ไม่ได้คิดให้ถึงเหตุถึงผล
คนไทยมีกี่คนที่จะรับ Merry Christmas ไม่ใช่เราใจแคบ แต่เราปฏิบัติอย่างมีเหตุผลหรือไม่ ในประเทศไทยนั้นมีคนที่เป็นคริสต์ เป็นฝรั่งนับตัวได้ เวลาเราเขียนส่งถึงคนที่เป็นคริสต์เป็นฝรั่ง เราก็เขียนใส่เพิ่มเติมไปได้ว่า Best Wishes for a Merry Christmas ฝรั่งจะดีใจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำว่าเราตั้งใจเขียนข้อความนั้นให้เขา แต่นี่คนไทยทั่วไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวข้องกับ Merry Christmas สักหน่อย ก็ใส่เข้าไป
ไหนๆ จะใช้ภาษาอังกฤษของเขา ก็น่าจะคิดหาทางเอามาสื่อความคิดหรือของดีอะไรของเราสักอย่าง เช่นสร้างคำอวยพรภาษาอังกฤษที่เป็นแบบของเราขึ้นมา
ดังนั้น จึงน่าจะสำรวจตัวเองว่า อันนี้เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากจิตสำนึกหรือสภาพจิตอะไร อย่าทำอะไรเพียงเพราะเห็นว่าโก้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตนกำลังกระทำอยู่นั้นและอย่างน้อยต้องกระตุ้นเตือนจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้
ก่อนจะผ่านไป ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง อย่างที่พูดไว้แล้วข้างต้นว่า ในเรื่องการเอาอย่างหรือเลียนแบบนั้น ไม่ใช่เราจะไม่ยอมรับหรือต่อต้าน แต่จะต้องรู้จักเอาอย่าง และรู้จักเลือกรับ ด้วยการใช้ปัญญา และก็วางท่าทีของจิตใจให้ถูกต้อง
ฝรั่งมีดีที่สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือการรู้จักรับ หรือเอาอย่างเป็น อารยธรรมตะวันตกที่เราเห็นว่าเจริญมากนั้น ก็เป็นการรับเอาเข้ามาจากภายนอก โดยรู้จักรับเอาของคนอื่นเข้ามาพัฒนาของเดิมของตัวบ้าง รับเอาของคนอื่นเข้ามาแล้วก็พัฒนาของที่รับเข้ามานั้นให้ดียิ่งขึ้นบ้าง จึงกลายเป็นกระแสอารยธรรมที่ใครๆ มองเห็นว่ายิ่งใหญ่เจริญงอกงาม แม้จะมาประสบปัญหาติดตันในปัจจุบัน ก็ยังมีดีอยู่อีกมาก
แต่ฝรั่งไปเสียตรงที่พัฒนาด้วยความคิดที่จะมีพลังอำนาจไปสำแดงเดชครอบงำคนอื่น ถ้าจะเอาอย่างเขา ก็น่าจะเอาอย่างวิธีเอาอย่างของเขา โดยเอามาใช้ในทางสร้างสรรค์
ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ภาษาอังกฤษ ที่ปัจจุบันเป็นภาษาอันอุดมสมบูรณ์ ก็เกิดจากการรับเอาเข้ามาจากภาษาอื่นๆ มากมาย
ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ตัวเลขอาระบิก ที่ฝรั่งใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และชาติอื่นๆ ก็นิยมใช้กันทั่วไปหมด ฝรั่งก็รับเอามาจากอาหรับ แล้วก็เข้าใจว่าเป็นของอาหรับ จึงเรียกว่า เลขอาระบิก แต่ที่จริงเป็นตัวเลขของอินเดีย อาหรับรับไปจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง ต่อมาจึงปรากฏมีการใช้ในเมืองฝรั่งเมื่อราว ค.ศ. ๙๗๖
เลขอาระบิก ทำให้การคิดคำนวณต่างๆ สะดวกรวดเร็ว เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คณิตศาสตร์เจริญก้าวหน้า ถ้าฝรั่งมัวนับตัวเลขโรมันอยู่ ก็คงแย่
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การพิมพ์หนังสือ การทำแบบพิมพ์ก็เกิดในจีน แล้วฝรั่งก็รับเอาเข้ามาใช้ จนการพิมพ์ในตะวันตกเจริญมากมาย หรืออย่างดินปืน ดินระเบิด ฝรั่งก็ได้มาจากจีน
ข้อสำคัญ ฝรั่งรับของคนอื่นเข้ามาแล้ว ก็เอาของนั้นมาพัฒนาต่อ ทำให้ดียิ่งขึ้นๆ ทั้งเอาของนั้นมาพัฒนาตัวเอง และพัฒนาของนั้น แล้วกลับดียิ่งกว่าของเจ้าของเดิม
น่าจะพิจารณาว่า อินเดียเจ้าของตัวเลขอาระบิก และจีนต้นคิดแบบพิมพ์ ดินปืน และลูกคิด ใช้ของของตัวกันมาอย่างไร ก้าวหน้าไปถึงไหน และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น นี่สิเป็นสิ่งที่ควรคิดพิจารณา
การเอาอย่าง การรับของเขา และการเลียนแบบนั้น เมื่อจะทำ ก็ต้องทำให้เป็น ทำอย่างมีหลักอย่างที่ว่าแล้ว
ถ้าจะรวบรัด อาจจะสรุปเป็นวิธีปฏิบัติได้ว่า
๑) ถ้าจะเอาอย่างเขา ก็ต้องจับเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเขามา เอาสิ่งที่เขาเองก็ภูมิใจของเขา แต่ต้องดูด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี และเหมาะกับเรา
๒) เมื่อเอาอย่างเขา หรือเลียนแบบเขาก็ตาม จะต้องมีอะไรดีพิเศษที่เราเพิ่มเข้าไปในสิ่งที่เอาอย่างหรือเลียนแบบนั้น ที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าของเดิมของเขา อย่างน้อยก็ในแง่ใดแง่หนึ่ง
๓) เมื่อเลือกรับเอาเข้ามาแล้ว ก็เอาสิ่งนั้นมาพัฒนามาเสริมตัวเราให้เจริญงอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วก็พัฒนาสิ่งที่รับเข้ามานั้นให้เจริญก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นด้วย
การที่รับเอาสิ่งใหม่เข้ามาพัฒนาเสริมตัวเองนั้น อาจจะเอามาเสริมมาพัฒนาทั้งเนื้อหาหรือหลักการของเราให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และพัฒนารูปแบบและวิธีการ
ถ้าหลักการของเราสมบูรณ์อยู่แล้ว หรือดีกว่าของเขา ก็อาจจะเลือกรับเอาระบบวิธี โดยเฉพาะรูปแบบและวิธีการเข้ามา เอามาพัฒนาให้เป็นเครื่องรับใช้หลักการที่ดีและสมบูรณ์ของเรานั้น อย่างน้อยก็เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือสำหรับเอาหลักการที่ดีของเรานั้นไปให้ไปเสนอแก่เขา ให้เป็นประโยชน์แก่เขาอย่างเหมาะสม และเข้ากันได้กับตัวเขาที่จะเอาไปใช้ต่อไป
ถ้ารู้จักเอาอย่าง รู้จักเลือกรับ และปฏิบัติด้วยจิตสำนึกที่ถูกต้อง และใช้ปัญญา ก็จะเจริญงอกงามดียิ่งขึ้น
การรู้จักเอาอย่างนั้นเป็นประโยชน์ยิ่ง แม้แต่คนที่ถูกเอาอย่าง ก็ไม่กล้าดูถูก และเราก็จะมีความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างอารยธรรมส่วนรวมของโลกให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย
ถ้าเอาอย่างเขา เลียนแบบเขา เพียงด้วยความรู้สึกว่าโก้ และเอามาโก้อวดกันเอง ภายใต้ความรู้สึกด้อยหรือยอมรับและแสดงความด้อยโดยไม่รู้ตัว ก็มีแต่จะกดตัวเองลง จะเจริญพัฒนาได้ยาก
คนเรานั้น ถ้ายิ่งรู้สึกตัวไร้เกียรติด้อยค่าลงไป มองเห็นตัวด้อย ตีค่าตัวต่ำ ก็ยิ่งทำการที่ต่ำลงไปๆ ลดคุณค่าของตัวเองลงเรื่อยๆ คำพระเรียกว่า “โอมานะ” – ถือตัวต่ำ หันมาดูถูกตัวเอง ตรงข้ามกับ “อติมานะ” – ถือตัวล้ำ หันไปดูถูกคนอื่น ไม่ดีทั้งคู่
No Comments
Comments are closed.