ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 11 จาก 41 ตอนของ

ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน
ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ

พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพานได้ตรัสไว้แล้วว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ จะต้องมีคุณสมบัติเพียงพอ พระองค์จึงจะปรินิพพาน เราคงได้อ่านพุทธประวัติกัน

ในพุทธประวัตินั้น ท่านเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่ง ก่อนพุทธปรินิพพาน ๓ เดือนว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือทรงปลงพระทัยว่าต่อจากนั้นอีก ๓ เดือน พระองค์จะปรินิพพาน

เรามักจะมองกันแต่เหตุการณ์ที่ว่าจะมีการปรินิพพาน โดยมีมารมาทูลอาราธนา แล้วพระพุทธเจ้ารับอาราธนา แต่เหตุผลในการรับอาราธนาของมารที่เป็นสิ่งสำคัญเรากลับไม่ค่อยได้มองดู

พระพุทธเจ้ารับอาราธนาของมารให้ปรินิพพานนั้น พระองค์รับด้วยเหตุผลอะไร มารมาทวงว่าอย่างไร

มารมาทวงว่า พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ซึ่งรวมแล้วได้ ๓ ประการ พระองค์จะปรินิพพาน หมายความว่า แต่ก่อนนั้นมารก็เคยมาอาราธนาพระพุทธเจ้า

มารในที่นี้ จะเป็นขันธมาร หรือจะเป็นเทวบุตรมาร ก็แล้วแต่ ก็ไม่ใช่ข้อที่จะมาถกเถียงกันในที่นี้ แต่รวมความก็คือว่า มารได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ปรินิพพานก่อนหน้านั้นแล้ว แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับปรินิพพาน จนกระทั่งมาถึง ๓ เดือนก่อนปรินิพพานนั้น มารมาอาราธนาใหม่ พระพุทธเจ้าจึงทรงรับอาราธนา เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับเงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงตั้งไว้

เงื่อนไขก็คือ พระองค์ได้ตรัสว่า ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ — ขอให้สังเกตว่า พระองค์ไม่ได้ตรัสเฉพาะภิกษุ พระองค์ตรัสรวมหมด ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ว่าทั้ง ๔ บริษัท — มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน คือจะต้องวางพระทัยได้ว่าพระศาสนามีความเจริญมั่นคงพอ โดยที่ว่าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถที่จะรับผิดชอบต่อพระศาสนาได้แล้ว พระองค์จึงจะปรินิพพาน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว พระองค์จะไม่ปรินิพพาน

คุณสมบัติที่เป็นเงื่อนไข ๓ ประการนี้ คืออะไร กล่าวโดยย่อ (ดูพุทธพจน์ที่ ที.ม.๑๐/๙๕/๑๒๒)

ประการที่ ๑ พุทธบริษัททั้ง ๔ จะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ที่รู้หลักธรรมคำสอนของพระองค์ มีความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยสาระคือ ตนเองรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง

ประการที่ ๒ พุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น นอกจากรู้เข้าใจและปฏิบัติถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ก็นำเอาธรรมหลักคำสอนนั้นไปบอกกล่าวสั่งสอนแนะนำชี้แจงแก่ผู้อื่นด้วย

ที่จะไปบอกกล่าวชี้แจงแนะนำสั่งสอนผู้อื่นนั้น ก็โดยที่ว่า

หนึ่ง มีความสามารถที่จะสอนหรือแนะนำแจกแจงอธิบาย

สอง มีจิตเมตตากรุณา หวังประโยชน์แก่เขา

เมื่อมีทั้งสองประการนี้ จึงเอาธรรมไปสั่งสอนหรืออธิบายแก่ผู้อื่นอย่างได้ผล

ประการที่ ๓ พุทธบริษัททั้ง ๔ นั้น นอกจากบอกกล่าวแนะนำคำสอนของพระองค์ได้แล้ว ก็สามารถชี้แจงกำราบปรัปวาทได้ด้วย

ข้อนี้หมายความว่า ถ้ามีคำกล่าวร้ายต่อพระศาสนา มีการเผยแพร่คำสอนที่ผิด เอาคำสอนที่ผิดนอกพระศาสนามาใส่ในพระศาสนา หรือใส่ในพระโอษฐ์ ก็สามารถชี้แจงกล่าวแก้ได้ ทำให้เข้าใจถูกต้อง เรียกว่ากำราบปรัปวาทได้

พุทธบริษัททั้ง ๔ จะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม จะต้องมีคุณสมบัติครบ ๓ ประการนี้ พระพุทธเจ้าจึงจะปรินิพพาน

เพราะฉะนั้น เมื่อมารมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพานครั้งก่อนๆ พระองค์ได้ทรงเห็นว่า พุทธบริษัท ๔ ยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามนี้ พระศาสนายังไม่มีหลักประกันความมั่นคง พระองค์จึงไม่ทรงรับอาราธนา และได้ตรัสคุณสมบัติ ๓ ข้อนี้ไว้เป็นเงื่อนไข

จนกระทั่งเมื่อก่อนหน้าปรินิพพาน ๓ เดือนนั้น มารได้มาทวงให้พระองค์ปรินิพพาน แล้วก็อ้างว่า เงื่อนไขเกี่ยวกับพุทธบริษัททั้ง ๔ ทั้ง ๓ ข้อนี้ครบถ้วนแล้ว

พระพุทธองค์ทรงพิจารณาแล้ว ก็ทรงเห็นว่า เวลานั้นพุทธบริษัททั้ง ๔ มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้ครบแล้ว จึงได้ทรงรับอาราธนาของมาร แล้วก็ตรัสวาจาที่เราเรียกว่า “ปลงพระชนมายุสังขาร” ว่าต่อจากนั้น ๓ เดือนจะปรินิพพาน

เหตุผลที่เป็นเงื่อนไขเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเหตุการณ์เสียอีก แต่เรามักจะมองเพียงแค่ตัวเหตุการณ์ ไม่ได้ดูว่าเนื้อหาสาระของการที่จะปลงพระชนมายุสังขารนั้น คืออะไร

สาระสำคัญอยู่ที่นี่ คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ ที่ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทว่าจะสามารถรับผิดชอบพระพุทธศาสนาได้หรือไม่ ซึ่งใช้ได้จนกระทั่งปัจจุบัน และจะต้องใช้เป็นเครื่องตรวจสอบคุณสมบัติของพุทธศาสนิกชนที่รวมกันเป็นพุทธบริษัท ๔ เรื่อยไป

ขอพูดขยายออกไปทางด้านพุทธศาสนิกชนที่รายล้อมในวงกว้างขึ้น

เรื่องพุทธบริษัทในฝ่ายพระสงฆ์ที่พูดมาแล้วนี้ เอาเพียงเล็กน้อย พอให้เห็นภาพสถานการณ์

ถ้าจะจาระไน ก็ต้องบรรยายกันอีกมากมาย จะต้องแยกแยะหลายอย่าง เช่นว่า สภาพการศึกษาเป็นอย่างไร สภาพการปกครองเป็นอย่างไร สภาพการเผยแผ่เป็นอย่างไร สภาพการพัฒนาและกิจการทั่วไปเป็นอย่างไร ในที่นี้เราจะไม่พูดถึง

พูดแค่ที่ผ่านมา ก็พอเห็นภาพแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง– ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก >>

No Comments

Comments are closed.