จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้

22 มกราคม 2536
เป็นตอนที่ 14 จาก 41 ตอนของ

จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม
ที่เขาจะก้าวต่อไปได้

ถ้ามนุษย์หวังผลจากการกระทำ เขาก็จะทำการด้วยตนเอง และการฝึกฝนตนเองก็จะเกิดขึ้นด้วย แล้วอันนี้ก็จะสอดคล้องกับหลักกรรม และหลักการศึกษาพัฒนาตน ซึ่งเข้าสู่แนวทางของพระพุทธศาสนา

แต่ในสภาพสังคมที่เป็นอยู่นี้ การที่จะให้ได้ผลตามเป้าหมาย คือให้คนฝึกตน และหวังผลจากการกระทำให้สำเร็จด้วยความเพียรพยายามของตนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการสั่งสอน

การสั่งสอนที่จะสำเร็จผลถึงจุดหมายอย่างนี้ ต้องขึ้นกับองค์ประกอบอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

  1. ความสามารถของผู้สอน
  2. ความหลากหลายในระดับการพัฒนาของผู้ฟัง

พูดง่ายๆ ก็คือ ขึ้นกับผู้สอนฝ่ายหนึ่ง และขึ้นต่อผู้ฟังฝ่ายหนึ่ง

ผู้สอนก็มีความสามารถต่างกัน ผู้ฟังก็มีระดับการพัฒนาต่างกัน มีความหลากหลายมาก

ถ้าผู้สอนมีความสามารถสูงอย่างพระพุทธเจ้า ก็ไม่เป็นไร พระองค์สอนครั้งเดียว นิดเดียว ก็อาจจะทำให้หลายคนก้าวพรวดเดียว ข้ามจากความเป็นคนที่อยู่นอกศาสนาเข้ามาเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในธรรมโดยทันที

แต่ผู้สอนในปัจจุบัน ยากที่จะมีความสามารถใกล้เคียงขึ้นไป

เราก็ต้องบอกว่า ถ้าท่านผู้สอนมีความสามารถ ก็เอาเลย สอนยกระดับเขาจากความเป็นอยู่ด้วยการหวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้เข้าสู่การอยู่ด้วยหลักกรรม อยู่ด้วยการหวังผลจากการกระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบบริสุทธิ์แท้ๆ ทันทีเลย

แต่ผู้สอนที่มีความสามารถนั้น จะต้องประกอบด้วยเมตตากรุณา สอนด้วยหวังประโยชน์แก่เขา คือเพื่อให้ชีวิตของเขาพัฒนาดีขึ้น ไม่ใช่สอนเพียงเพื่อจะข่มขู่ หรือเพื่อจะดูถูกทำลายน้ำใจกัน หรือเพื่อจะอวดตัวแสดงกล้าเท่านั้น ไม่ใช่อย่างนั้น

อีกอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่สอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลัก เลิกสิ่งที่เคยเชื่อถืออยู่ แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลัก เที่ยวลอยเคว้งคว้าง จะให้เข้ามาสู่หลักพระพุทธศาสนา ก็ไม่เข้า ก็เลยเสียทั้งหมด ยิ่งไกลออกไป

นี่ทางด้านผู้สอนก็เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีทั้งความสามารถ และเมตตากรุณา

อีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือผู้ฟัง ซึ่งมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน บางคนอยู่ไกลสุดกู่ ไม่มีการพัฒนาเลย ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไม่รู้คำสอนอะไรแม้แต่นิดหน่อย เช่น เป็นพุทธศาสนิกชนแค่โดยชื่อ แต่มีความเชื่อชนิดหวังผลจากสิ่งที่เลื่อนลอย อย่างที่เรียกว่าลาภลอยมาก ถ้าเป็นแบบนี้เราจะเอาอย่างไร

ในฐานะผู้สอนที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟังหรือนักเรียนที่มีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน โดยเฉพาะในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนหรือผู้ปกครองทั่วไปด้วย นี่เป็นจุดสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเอาจริงเอาจัง

ในกรณีอย่างนี้ จุดยืนของเราก็คือ ต้องตระหนักในเป้าหมายอย่างที่พูดเมื่อกี้ เป้าหมายของเราก็คือ การเดินเข้าสู่หลักกรรม ที่ให้หวังผลจากการกระทำ แล้วก็ให้พัฒนาตนเอง โดยให้คนทุกคนมีจิตสำนึกในการพัฒนาตนเองที่จะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

ถ้าได้แค่นี้ เราก็พอใจ ในส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ต้องกลัว

ในกรณีนี้ ถ้าเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเครื่องรางของขลัง ก้าวแรกก็คือ เราต้องโน้มนำเขาเข้ามาจากการเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกแบบหวังอำนาจดลบันดาล ให้เข้ามาสู่ความเชื่อในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำเข้าสู่การฝึกฝนพัฒนาตน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไปสอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว >>

No Comments

Comments are closed.