- นำเรื่อง
- – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน
- น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ
- ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด
- ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ
- ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน
- ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน
- ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ
- ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ
- บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
- บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน
- เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร
- ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย
- ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
- – ๒ – ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์
- ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
- เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก
- การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน
- ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น
- จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ
- การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
- สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้
- ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์
- ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี
- ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ
- ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป
- การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
- เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน
- สรุป
บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
ปัญญาที่แท้จริง หมายถึงการรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าปัญญานี้ไม่มา จะเกิดเมตตาที่สากลไร้พรมแดนไม่ได้ และสภาพจิตไร้พรมแดนก็ไม่เกิด แต่ถ้าเกิดปัญญารู้เข้าใจความจริงตระหนักชัด ก็จะมีสภาพจิตไร้พรมแดน โดยมีเมตตา คือความรักเพื่อนมนุษย์ ที่มองเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลก เมื่อมองเห็นกันเป็นมิตร ก็จะมีความรู้สึกที่จะร่วมมือช่วยกันสร้างสรรค์ ฉะนั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น นี่คือการพัฒนามนุษย์ที่มาถึงจุดสูงสุด เมื่อมนุษย์เข้าถึงตัวปัญญาแท้จริงที่ทำให้สภาพจิตแห่งเมตตาเกิดตามมา พอปัญญากับเมตตามาด้วยกัน ก็แสดงออกเป็นพฤติกรรมในการจัดสรรวางระบบสังคมเป็นต้นให้กลมกลืนประสานกันเข้า ในลักษณะที่จะเกิดมีสิ่งที่เราเรียกว่าสันติภาพอย่างสากล
ในยุคที่ผ่านมานี้ ปัญญาของมนุษย์โดยทั่วไปไม่สามารถก้าวมาถึงขั้นที่ไร้พรมแดน คือรู้ความจริงสากล ที่จะทำจิตใจให้ไร้พรมแดน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นมาโดยตลอด เต็มไปด้วยยุคสมัยแห่งการแย่งชิงผลประโยชน์และการแสวงหาอำนาจ
ในสมัยโบราณ อินเดียก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดของระบบผลประโยชน์ และอำนาจ เขามีปัญญาชนที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งเป็นทั้งนักบวชและนักวิชาการ แต่แทนที่จะใช้ปัญญาของตนเพื่อระงับสงคราม พราหมณ์กลับสนองความอยากของนักปกครอง และนักหาผลประโยชน์ ด้วยการติดต่อกับเทพ เพื่อให้เทพมาสนองความต้องการของคนเหล่านั้น ทั้งในทางทรัพย์และอำนาจ ด้วยวิธีเซ่นสรวงบูชายัญ แรงจูงใจเบื้องหลังระบบและสถาบันของสังคมก็เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ที่มุ่งหาผลประโยชน์และอำนาจ ก็อยู่แค่ตัณหาและมานะ นี่เอง ไม่ไปไหนเลย
การพัฒนากิจกรรมของสังคมในสมัยนั้นก็คือ การจัดสรรพัฒนาพิธีบูชายัญ ถ้าเอาเรื่องนี้มาเทียบ ก็จะเห็นวิวัฒนาการของสังคมว่า ถึงแม้รูปแบบแห่งกิจกรรมของสังคมจะเปลี่ยนไปต่างๆ แม้กระทั่งเป็นกิจกรรมทางธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวนี้ทั้งหมด ฉะนั้นมันจึงไม่เป็นปัญญาแท้จริง ที่รู้ความจริงของธรรมชาติ แต่เป็นปัญญาที่เพียงจะรู้วิธีการเพื่อมาสนองความต้องการหรือรับใช้ระบบแห่งตัณหาและมานะ
เมื่อมัวแต่ติดต่อมุ่งจะให้เทพเจ้าหรือสถาบันธุรกิจมาช่วยตน มนุษย์ก็ยิ่งไม่เอาใจใส่กันและกัน เพราะความสัมพันธ์นั้นมองไปข้างนอกและเหนือชุมชน จึงไม่ได้เหลียวแลเพื่อนมนุษย์ และก็ไม่หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเขาไปหวังพึ่งเทพเจ้าหรือแหล่งอิทธิพลภายนอก ไม่ได้หวังพึ่งมนุษย์ด้วยกัน การที่จะมาคิดหาทางร่วมมือกันแก้ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของความเขวไถลออกไปจากความเป็นมนุษย์ที่เป็นส่วนร่วมของสังคม
เมื่อมนุษย์แต่ละคนต่างมุ่งหาผลประโยชน์ของตนและแสวงอำนาจก็แบ่งแยกกัน เมื่อแบ่งแย่งกันก็เกิดความแปลกแยกและขัดแย้งกัน ดังจะเห็นได้ในระบบการแข่งขันที่ความขัดแย้งเป็นกลไกผลักดันความเจริญ แต่มันก็คือภาวะขาดสันติภาพที่เป็นอยู่ตลอดเวลา จนเป็นลักษณะปกติธรรมดาของสังคม
No Comments
Comments are closed.