- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
ต่อแต่นั้นก็มองถึงหน้าที่รับผิดชอบ ที่ใกล้ตัวเข้ามาอีก คือในหมู่พุทธศาสนิกชนเอง โดยเฉพาะในฝ่ายคฤหัสถ์ เมื่อมีภาพความเป็นไปในแง่ความเสื่อมโทรมของพระสงฆ์เกิดขึ้นอย่างนี้ พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ควรมีท่าทีของจิตใจอย่างไร
ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท มีหน้าที่รับผิดชอบต่อพระศาสนา พุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ว่าพระหรือคฤหัสถ์ ทุกคนมีส่วนรวมเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนาร่วมกัน จะต้องสร้างจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของของพระศาสนาให้เกิดขึ้น จะต้องมีความรู้สึกในการมีส่วนร่วมว่า นี้เป็นพุทธศาสนาของเรา เรามีส่วนร่วมรับผิดชอบในพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่มองอย่างคนนอก
ขณะนี้เราเป็นพุทธศาสนิกชน เราสังกัดอยู่ในพุทธบริษัท ๔ เราเป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบเป็นเจ้าของพระศาสนาด้วย เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราต้องมองในฐานะผู้เป็นเจ้าของ และผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่มองอย่างคนนอก
เมื่อมองอย่างเป็นเจ้าของแล้ว เราจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของของเรา หรือเป็นทรัพย์สมบัติของเรา
ถ้าเรามองว่าพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา ในเวลาที่มีคนหรือพระก็ตาม ทำความเสียหายต่อพระพุทธศาสนา เราจะเกิดความรู้สึกว่า สมบัติที่มีค่าของเรากำลังจะถูกทำลาย เมื่อสมบัติที่มีค่าของเราจะถูกทำลาย หน้าที่ของเราคืออะไร ก็คือการที่จะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันแก้ไขป้องกัน
ถ้าพระที่ไม่ดีเหล่านั้นมาทำเสียหาย ก็คือมาทำความเสียหายต่อศาสนา เมื่อพระเหล่านั้นทำความเสียหายต่อพระศาสนา ก็คือเป็นคนที่เข้ามาทำลายสมบัติของเรา ถ้ามองในแง่หนึ่งก็คือ เป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเข้ามาทำลายสมบัติอันมีค่านี้ ก็เป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย
เมื่อเขาเป็นโจรหรือเป็นผู้ร้าย เราในฐานะเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขไล่โจรออกไป ไม่ใช่ยกสมบัติให้แก่โจร
ท่าทีของพุทธศาสนิกชนในเวลานี้ ส่วนมากเป็นท่าทีแบบว่าโจรมาปล้นบ้าน ก็ยกบ้านให้แก่โจร โจรมาลักขโมยหรือทำลายสมบัติ ก็ยกสมบัติให้แก่โจร เป็นอย่างนั้นไป โจรก็ยิ่งชอบใจ
แทนที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ก็ไม่ทำ กลับไปรู้สึกว่า โอ! นี่ พระประพฤติไม่ดี พระศาสนาไม่ดี เลยพาลจะเลิกนับถือ อะไรทำนองนั้น อันนี้แสดงถึงการขาดจิตสำนึกในความเป็นพุทธบริษัท ไม่มีจิตสำนึกในความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ไม่มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบ และขาดความรู้เข้าใจที่เป็นปัญญาด้วย
ฉะนั้น ถ้าตนเป็นพุทธบริษัท เป็นพุทธศาสนิกชน จะต้องสำนึกในความมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนี้ และถ้ามีเหตุการณ์ร้ายขึ้นในพระศาสนา จะต้องรีบลุกขึ้นมาช่วยกันป้องกันแก้ไขกำจัดภัยอันตราย และรักษาสมบัติที่มีค่าของตนและของประเทศชาติประชาชนไว้ จึงจะเป็นท่าทีและเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ต้องมองให้ถูกต้องว่า พระภิกษุทั้งหลาย หรือที่เราชอบเรียกกันว่าพระสงฆ์นั้น ท่านก็คนอย่างเราๆ ทั้งหลายนี่แหละ ทั้งเราและท่านก็เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสมบัติที่มีค่านั้นร่วมกัน ต่างก็มีสิทธิใช้ประโยชน์จากพระศาสนาทั้งนั้น
แต่ท่านที่บวชเป็นพระนั้น ท่านบอกว่าท่านจะเข้าไปอยู่วงใน จะเข้าไปเอาประโยชน์จากพระศาสนาให้ได้มากๆ หรือเต็มที่ คือเข้าไปรับการศึกษาอบรมที่เรียกว่าไตรสิกขา ชนิดเต็มเวลา พวกเราก็อนุโมทนา
เรายกย่องความตั้งใจดีและความเข้มแข็งเสียสละของท่าน และเราก็ถวายความเคารพท่านอย่างจริงใจ เพราะชาวพุทธเคารพท่านผู้ศึกษาพัฒนาตน และเคารพในฐานะที่ท่านทำหน้าที่ดำรงรักษาสืบทอดธรรมในนามของสงฆ์ คือเป็นสมาชิกของภิกษุสงฆ์ที่เป็นตัวแทนของสาวกสงฆ์ หรือเป็นสัญลักษณ์ชี้บ่งไปถึงอริยสงฆ์
แต่ถ้าท่านเข้าไปแล้ว คือบวชแล้ว ไม่ปฏิบัติตามที่บอกไว้ หรือปฏิบัติไม่ไหว ท่านก็กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ซึ่งจะต้องถอนตัวกลับออกมาอยู่อย่างพวกเราตามเดิม หรือถ้าท่านตั้งใจทำความเสียหาย ท่านก็กลายเป็นผู้ร้าย หรือเป็นโจรที่ประทุษร้ายพระพุทธศาสนา ทำลายสมบัติอันมีค่าของพวกเรา
ถึงตอนนี้ พวกเราก็มีสิทธิเรียกร้องเอาตัวท่านออกมา เพื่อรักษาสมบัติร่วมกันนั้นไว้ให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องต่อไป
No Comments
Comments are closed.