พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความต่างในความเหมือน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 19 จาก 37 ตอนของ

พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ความต่างในความเหมือน

ศรัทธา: จุดร่วมของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
ที่เป็นจุดแยกจากศาสนาอื่นๆ

ทีนี้ก็มาลองวิเคราะห์ดูในบางเรื่องบางอย่างตามหลักการพื้นฐาน เพื่อเป็นข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และศาสนาต่างๆ เริ่มตั้งแต่เรื่องศรัทธาเป็นต้นไป เพราะเมื่อกี้นี้บอกว่าในพุทธศาสนานั้นได้ย้ายจากศรัทธามาสู่ปัญญาแล้ว

ศาสนาต่างๆ นั้นเอาอารมณ์เป็นตัวนำเข้าสู่จุดหมาย (หมายถึงอารมณ์ที่ใช้กันในความหมายของภาษาไทย ที่ตรงกับคำว่า emotion ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาทางธรรมของเดิม) เน้นเรื่องอารมณ์ ใช้อารมณ์เป็นเครื่องผลักดันให้ยอมรับและปฏิบัติตามหลักการของศาสนา จึงต้องคอยปลุกเร้าอารมณ์ ให้ตื่นเต้น ซู่ซ่า รัก เกลียด กลัว เฉพาะอย่างยิ่ง ก็ปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดศรัทธา ชักจูงศรัทธาด้วยอารมณ์ และก็ใช้อารมณ์เป็นเครื่องรักษาศรัทธา จึงจะต้องเอาใจใส่ถือเป็นสำคัญยิ่งที่จะเร้าให้เกิดอารมณ์ หรือ emotion นี้ แต่พุทธศาสนาไม่เอาอารมณ์ หรือ emotion เป็นหลัก เพราะมุ่งที่ตัวปัญญา

เมื่อเอาอารมณ์ คือ emotion เป็นตัวนำ ศาสนาต่างๆ ก็ย่อมเน้นศรัทธา เพราะศรัทธาเป็นจุดรวมของ emotion หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะขึ้นต่อศรัทธาหรือเอาศรัทธาเป็นแกน ศาสนาต่างๆ จึงต้องเน้นการปลุกเร้าอารมณ์คือ emotion นี้ รวมความว่า ศรัทธาเป็นหลักการสำคัญสุดยอดของศาสนาทั่วๆ ไป แต่พุทธศาสนาเน้นปัญญา ให้ความสำคัญแก่ศรัทธาเพียงขั้นต้น และใช้ศรัทธาด้วยความระมัดระวัง และถือว่าปัญญาเป็นตัวตัดสินในการที่จะเข้าถึงจุดหมายคือการแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม ศรัทธาก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในพุทธศาสนาบ้างเหมือนกัน หมายความว่า ในระบบการปฏิบัติและคำสอนของพุทธศาสนาก็ยังมีศรัทธาอยู่ แต่ศรัทธานั้นได้เปลี่ยนบทบาทไป เปลี่ยนความสำคัญไป เช่นเดียวกับที่ว่าในวิทยาศาสตร์ก็ยังต้องมีศรัทธาดังที่กล่าวเบื้องต้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยศรัทธาในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ศรัทธามีบทบาทสำคัญในวิทยาศาสตร์ และเป็นตัวนำผลักดันให้วิทยาศาสตร์ก้าวไปในการค้นคิด สืบสาวหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก

การที่จะเข้าใจในเรื่องศรัทธาได้ชัดเจน จะต้องแบ่งศรัทธาออกไปให้เห็นความแตกต่าง และถ้าแบ่งคร่าวๆ ศรัทธาหรือความเชื่อนี้จะมี ๒ ประเภท ศรัทธา ๒ ประเภทคืออะไร ตอนนี้แบ่งอย่างง่ายที่สุด

ศรัทธาประเภทที่ ๑ เป็นศรัทธาแบบปิดกั้นปัญญา ใช้วิธีปลุกเร้าหรือแม้แต่บังคับให้เชื่อ และพอเชื่อแล้วก็ต้องมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง ห้ามถาม ห้ามสงสัย คอยรอทำตามฉันอย่างเดียว ศรัทธาประเภทที่ ๑ นี้ไม่ทำให้มีการสืบค้นทางปัญญาต่อไป

ศรัทธาในศาสนาต่างๆ จะเน้นแบบนี้ คือต้องเชื่อและเมื่อเชื่อแล้วก็ต้องคอยรอทำตาม ฉันว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ห้ามถาม ห้ามสงสัย หลักการในศาสนาแบบนี้เขาจึงเรียกว่าเป็น dogma คือสิ่งที่ต้องถือปฏิบัติตาม ยึดมั่นโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล ต่างจากพุทธศาสนาที่เขาเรียกว่า เป็นศาสนาที่ไม่มี dogma

ศรัทธาประเภทที่ ๒ คือศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา ศรัทธาสื่อนำสู่ปัญญาเป็นอย่างไร คือความเชื่อนั้นเป็นตัวชักนำให้สนใจเริ่มต้นศึกษาสืบค้น สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มีมากมาย เรายังไม่มีจุดเริ่มต้นว่าจะสนใจเรื่องใด แต่เมื่อเกิดศรัทธาต่อบุคคลหรือเรื่องราวหลักการใด ศรัทธานั้นก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีจุดเริ่มต้น ศรัทธาทำให้เรามีความสนใจและเข้าไปหา โดยเฉพาะศรัทธาในคนก็เพื่อจะชักนำให้เข้าไปซักถามเขา การที่ศรัทธาในพระก็เพื่อจะเข้าไปหาและซักถามท่าน เพื่อให้เกิดความรู้ และเข้าใจความจริงยิ่งขึ้นไป ถ้าเป็นศรัทธาแบบว่าเพื่อจะไปให้ท่านทำอะไรให้สักอย่างและจบเท่านั้น ก็ไม่ใช่ศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา

ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้จะเห็นตัวอย่างในกรณีของพระสารี­บุตร ก่อนที่จะหันมาสู่พระพุทธศาสนาได้เห็นพระอัสสชิเดินผ่านมา เกิดความเลื่อมใสว่าลักษณะท่าทางของท่านแสดงว่าคงมีอะไรดี คงมีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูง เกิดความอยากจะรู้อยากจะถาม จึงเข้าไปหา อันนั้นเป็นตัวอย่างของศรัทธาแบบนี้

จะเห็นว่า ศรัทธาหรือปสาทะเป็นตัวที่ทำให้ต้องการเข้าไปหาเพื่อจะได้ถามหาความรู้ต่อไป คือเป็นแรงชักนำทำให้สนใจเข้าไปหา และเริ่มต้นสืบสาวหาความรู้ในเรื่องนั้น พร้อมทั้งมีจุดที่จะคิดค้นอย่างจริงจัง เพราะว่าเมื่อเราศรัทธาในเรื่องใดเราก็จะคิดค้นในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง เรื่องนั้นจะเป็นประเด็นหลักของเราในการคิดค้นต่อไป เช่น นักวิทยา­ศาสตร์เชื่อเรื่องอะไรว่าน่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แกก็จะคิดค้นยกใหญ่มุ่งแล่นไปในเรื่องนั้นเต็มที่ ทำให้ไม่ส่ายไม่พร่าในกระบวนการหาความจริง

เป็นอันว่าเราจะต้องแยกศรัทธาให้ถูก ศรัทธาในพุทธศาสนาที่เรายอมให้มีบทบาทก็คือ ศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญา ก็เลยกลายเป็นว่าในพุทธศาสนาศรัทธาเปลี่ยนบทบาทมาเป็นตัวรอง โดยมีหน้าที่เป็นตัวนำสู่ปัญญา และปัญญากลายเป็นตัวเด่นขึ้นมา จะเห็นว่าทั้งในพุทธศาสนาและในวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาในประเภทที่สอง คือศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญา และเมื่อสรุปแล้ว ศรัทธาแบบสื่อนำสู่ปัญญานี้ มีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อปัญญา ๓ ประการ คือ

  1. ทำให้สนใจเข้าไปหาและเริ่มต้นศึกษาสืบค้นในเรื่องนั้น
  2. ทำให้มีพลัง เกิดความเพียรพยายาม ตลอดจนทุ่มเท อุทิศตัวในการที่จะหาและเข้าถึงความจริงในเรื่องนั้น
  3. ทำให้มีทิศทางหรือตัวประเด็นเจาะตรงเฉพาะที่จะมุ่งแล่นเดินหน้าไป อย่างแน่วแน่ชัดเจน

นอกจากบทบาทและหน้าที่ของมันแล้ว ศรัทธาที่ถูกต้องยังมีลักษณะที่เราจะต้องเข้าใจต่อไปอีก ในพุทธศาสนานั้นถ้าเราพิจารณาดูระบบหรือกระบวนการปฏิบัติก็จะเห็นลักษณะของศรัทธานี้ชัดเจน ลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาดูได้จากหลักการสำคัญๆ ดังนี้

จุดหมายของพุทธศาสนาคืออะไร จุดหมายของพุทธศาสนา คือวิมุตติ ความหลุดพ้น หรืออย่างที่เรียกปัจจุบันว่าอิสรภาพ พุทธศาสนาต้องการให้มนุษย์ไปสู่อิสรภาพ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

ความหลุดพ้นนี้สำเร็จได้ด้วยอะไร ความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้สำเร็จได้ด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจความจริง รู้เท่าทันกฎธรรมชาติ ซึ่งสาวกก็รู้ได้เหมือนอย่างองค์พระศาสดา และไม่ต้องขึ้นต่อองค์พระศาสดา

พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่าหลักความจริงเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างนั้นๆ” พระสารีบุตรทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ก็เห็นว่าเป็นอย่างนั้น” ตรัสถามต่อไปว่า “ที่เธอว่าอย่างนั้น เพราะเชื่อในเราใช่หรือไม่” พระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ ที่ว่าเป็นอย่างนั้น มิใช่เพราะข้าพระองค์ว่าตามที่เชื่อต่อพระองค์ แต่เพราะว่าข้าพระองค์ก็ได้รู้ได้เห็นประจักษ์เองว่าเป็นอย่างนั้น”1

นี่คือหลักการในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ใครมาผูกติดอยู่กับพระองค์ หรือขึ้นต่อพระองค์เลย แม้แต่ศรัทธาในตัวบุคคล พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโทษไว้ เพราะต้องการให้ทุกคนเป็นอิสระ

เป็นอันว่า วิมุตติ ที่เป็นจุดหมายของพุทธศาสนา คือ ความเป็นอิสระ จะสำเร็จได้ด้วยปัญญาคือการรู้ความจริง แต่ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับบางคนผู้มีความคิดเป็น ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ ก็ไม่ต้องอาศัยศรัทธา แต่คนส่วนใหญ่ต้องอาศัยศรัทธา เพื่อเป็นสื่อนำ ให้มีจุดเริ่ม

เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นปัจจัยที่ส่งทอดไปตามกันว่า วิมุตติ เป็นจุดหมายบังคับให้ต้องมีปัญญา ปัญญา ที่เป็นตัวทำให้ถึงจุดหมาย อาศัย ศรัทธา เป็นจุดเริ่มหรือเป็นสื่อนำให้ ก็เลยเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

ศรัทธา ->  ปัญญา -> วิมุตติ

ในกระบวนการของการเข้าถึงความจริง ศรัทธาเป็นตัวเริ่มต้นนำเข้าสู่ปัญญา แล้วปัญญาก็เป็นตัวนำไปสู่วิมุตติ ระบบปัจจัยสัมพันธ์อันนี้เป็นตัวกำหนดลักษณะของศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างที่ว่าแล้ว เพราะศรัทธาสัมพันธ์กับปัญญาและวิมุตติ ศรัทธานั้นจึงมี

    ลักษณะที่ ๑ คือ เป็นสื่อนำสู่ปัญญา
    ลักษณะที่ ๒ คือ พ่วงมากับความเป็นอิสระ

เพราะฉะนั้น ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงไม่เป็นศรัทธาแบบบังคับให้เชื่อ ที่เชื่อแล้วห้ามถาม ห้ามสงสัย หรือเอาชีวิตของตนไปขึ้นต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะต้องถือมั่นว่าเป็นอย่างนั้น โดยที่ถูกกำหนดมาตายตัวเสร็จสิ้นแล้ว นี้เป็นการชี้แจงให้เข้าใจลักษณะทั่วไป

จะเห็นว่า ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็มีศรัทธาชนิดสื่อนำสู่ปัญญาที่นับได้ว่าเหมือนกัน คือใช้ศรัทธาเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การแสวงหาความรู้ที่จะเข้าถึงความจริง ทีนี้ ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า ศรัทธาอย่างไรที่จะเป็นสื่อนำไปสู่ปัญญา หรือว่าศรัทธาที่เป็นสื่อนำสู่ปัญญานั้นเป็นอย่างไร ก็จึงจะต้องมีการให้คำจำกัดความ ศรัทธาที่ว่านี้อีกทีหนึ่งว่า ศรัทธาที่เป็นตัวนำสู่ปัญญานี้คืออะไร

ถ้าพูดโดยโยงไปหาหลักที่แสดงมาแล้วก็จะบอกว่า ศรัทธาที่ว่านำไปสู่ปัญญานี้ก็คือความเชื่อมั่นในธรรมชาติหรือจักรวาลนี้ว่ามีกฎเกณฑ์แห่งธรรมดาที่สม่ำเสมอแน่นอน หมายถึงความเชื่อในกฎธรรมชาตินั่นเอง พร้อมทั้งความเชื่อว่ากฎธรรมชาตินั้นมนุษย์จะสามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญา

ความเชื่อหรือศรัทธานี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราแสวงหาความจริง แต่เพราะว่าตัวตัดสินหมายถึงการที่เราจะต้องรู้เข้าใจกฎธรรมชาติ ศรัทธาจึงไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงจุดหมาย จึงหยุดอยู่แค่ศรัทธาไม่ได้ ศรัทธานั้นจึงต้องโยงส่งทอดต่อไปสู่ปัญญา พอมาถึงตอนนี้ก็เหมือนกับว่าศรัทธาของพุทธศาสนากับศรัทธาของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน คือต่างก็มีศรัทธาที่เชื่อในกฎธรรมชาติ และต่างก็มุ่งที่จะรู้ความจริงในกฎธรรมชาติด้วยวิธีการแห่งปัญญา แต่ความเหมือนหรือคล้ายกันนั้น อาจหยุดแค่นั้น ต่อจากจุดนี้ไปศรัทธาของพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ดูท่าว่าจะแยกจากกัน จะแยกกันอย่างไร

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริงศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ >>

เชิงอรรถ

  1. ปุพพโกฏฐกสูตร, สํ.ม. ๑๙/๙๘๔-๕/๒๙๒

No Comments

Comments are closed.